xs
xsm
sm
md
lg

“IOD” ถกเครียด!!! ผ่าทางตันเศรษฐกิจไทยปีลิงดุ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน)
“ฉลองภพ” อดีตขุนคลังแนะรัฐบาลเร่งสร้างเสถียรภาพดึงความเชื่อมั่นนักลงทุนกลับเข้าในประเทศ ชี้ที่ผ่านมา ประเทศเสียโอกาสจนรั้งท้ายอาเซียน ด้าน “ศุภวุฒิ” ชี้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้โตไม่เกิน 3% แนะจับตาแรงกระชากจากค่าเงินหยวน และเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนนักวิเคราะห์ต่างประเทศแนะรัฐบาลตั้งการ์ดเฝ้าระวังการก่อการร้าย ชี้ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการลงทุนทั้งประเทศ



นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน “ภาพรวมเศรษฐกิจและธุรกิจ ประเด็นร้อนแรงที่กรรมการควรทราบ” ซึ่งจัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย หรือ IOD โดยนายศุภวุฒิ กล่าวว่า หากพิจารณาภาพรวมเศรษฐกิจไทยตั้งแต่เปิดทำการซื้อขายหลักทรัพย์ตั้งแต่ต้นปี 2559 ที่ผ่านมา ดัชนี SET Index ปรับตัวลดลงไปแล้วกว่า 7-8% และมีแนวโน้มที่จะปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยนักวิเคราะห์ประเมินว่า ตั้งแต่ต้น 2559 ปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ (18 ม.ค.) ตลาดหุ้นทั่วโลกมีการปรับตัวลดลง ทำให้มูลค่าเงินในการลงทุนดังกล่าวสูญเสียไปแล้วประมาณ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในส่วนของการประเมินทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจทั่วโลกในปี 2559 คาดว่าจะเติบโตขึ้นที่ประมาณ 3.4% เทียบกับปี 2558 ที่มีการเติบโตเพียง 3.1% โดยประเด็นหลักด้านความกังวลของเศรษฐกิจนปีนี้ยังคงมาจากความผันผวนของค่าเงินหยวน และการประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างน้อย 4 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งสะท้อนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาจากการประกาศเพิ่มจำนวนจ้างงานภาคเกษตรในช่วงที่ผ่านมากว่า 240,000 แสนคน ซึ่งหากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ยุโรป และญี่ปุ่น เดินหน้านโยบายอัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ (QE) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในภาคธุรกิจ อย่างไรก็ตาม หากสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นจะส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนค่าเงิน ทำให้มีการแข็งค่าของเงินขึ้นอย่างชัดเจน

“นักวิเคราะห์ประเมินว่า หากเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นไม่เกิน 10% จะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในประเทศมากนัก โดยคาดว่าในปีนี้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าที่ประมาณ 5% ขณะที่ในส่วนของภูมิภาคเอเชียยังต้องจับตาปัญหาการผันผวนของค่าเงินหยวน เนื่องจากมีการแกว่งตัวรุนแรงอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงกลางปี 2558 หน่วยงานของรัฐบาลจีนได้มีการพยายามที่จะควบคุมให้ค่าเงินหยวนมีเสถียรภาพ เพื่อให้มีน้ำหนักในการเข้าพิจารณาจาก IMF เป็นสกุลเงินหลัก โดยนักวิเคราะห์คาดว่า หากอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนมีความผันผวนจะอยู่ที่ประมาณ 6.6-6.7 ต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมา เงินหยวนขาดสภาพคล่องเป็นอย่างมาก โดยมีเม็ดเงินที่หายไปจากตลาดประมาณ 1 แสนล้านหยวน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศจีนอย่างมาก และส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าที่พึ่งพาการนำเข้า และส่งออกจากจีนด้วย”
 
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนจะต้องพึงตระหนักให้ความสำคัญต่อการลงทุนคือ การพิจารณารายได้-รายจ่ายจากอุตสาหกรรมการส่งออก ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ และรายได้จากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ท่องเที่ยว เปรียบเทียบกับรายได้สุทธิ รายจ่ายสุทธิของประเทศ ซึ่งจะสะท้อนความสมดุล หรือเสียดุลการค้า และรายได้ โดยภาคการส่งออกของไทยไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นทั้งด้านราคา และปริมาณคำสั่งซื้อ เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศจีนเข้ามากดดันตลาดตลอดช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในส่วนของน้ำมัน คาดว่าหากพิจารณาจากอุปสงค์อุปทานที่มีในท้องตลาดขณะนี้จะปรับตัวลดลงในช่วงกลางปี เนื่องจากว่ามีการใช้พลังงานประเภทน้ำมันลดลงอย่างต่อเนื่อง

ด้าน นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเสริมว่า การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีปัญหาต่อเนื่องตลอด 30 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 5% จนกระทั่งปี 1985-1990 มีการเติบโตมากถึง 10% แต่หลังจากเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะซบเซามาอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งเป้าให้ประเทศไทยในปี 2563 เป็นประเทศที่พ้นจากสถานะกำลังพัฒนา เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของสำนักวิเคราะห์ทั้งใน และต่างประเทศสรุปความว่า ในปัจจุบันประเทศไทยรั้งท้ายในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียโอกาสในด้านต่างๆ ส่งผลให้นักลงทุนล้มเลิกที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย และย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่นแทน

“สิ่งที่รัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญ และเร่งสนับสนุนคือ การส่งออกสินค้าภาคการเกษตร และอาหาร เนื่องจากมีส่วนสำคัญในการสนับสนุน GDP ของประเทศเป็นอย่างมาก มากกว่าสินค้าส่งออกประเภทอื่นๆ เทียบกับในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม พร้อมทั้งการเร่งดำเนินการนโยบายโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ มองว่า แนวโน้ม GDP ในประเทศปีนี้คาดว่าจะเติบโตที่ประมาณ 2.9-3%”

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว รัฐบาลควรเร่งรัดในส่วนของการจัดการปฏิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ให้มีการแข่งขันที่ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้น มากกว่านโยบายที่เป็นเพียงนามธรรมแต่ขาดความชัดเจน ขณะที่ในส่วนของแผนโรดแมปของรัฐบาลหากมีการร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยภายในกลางปีนี้ และการลงประชามติผ่านร่างตามกรอบเวลา และมีการเตรียมจัดการเลือกตั้ง และถ่ายโอนอำนาจในปีหน้าคาดว่าจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้กลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ

ขณะที่ Mr.Neil Fergus Chief Exclusive, Intelligent Risks (IR) Pty Ltd กล่าวทิ้งทายว่า ภาพรวมความมั่นคง และความท้าทายต่างๆ ของเศรษฐกิจ และธุรกิจต่างๆ ของประเทศไทยในปี 2559 นี้ คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยการก่อการร้าย ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่ระบาดไปทั่วโลก ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญของการเผยแพร่ข้อมูลขององค์กรผู้ก่อการร้าย IS ได้แก่ การใช้โซเชียลมีเดียเป็นหลัก โดยจะเน้นการโจมตีไปยังสถาบันธุรกิจหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งจะมีความรุนแรงมากกว่ากลุ่มอัลกออิดะห์ที่เคยมีมา

อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่จะต้องทำความเข้าใจองค์กรก่อการร้ายนี้จะมีเงินสนับสนุนในการก่อการร้ายมาจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง โดยจะเน้นไปในลักษณะของการเรียกค่าไถ่ การโจมตีเพื่อยึดเมืองเป้าหมายที่ตั้ง และปล้นสะดมธนาคารในเมืองที่ยึดได้นั้น นอกจากนั้น ยังมีแหล่งน้ำมันซึ่งตั้งอยู่ในเมืองต่างๆ เช่น เลบานอน และซีเรีย เป็นต้น ซึ่งกลุ่มผู้ก่อการร้ายเหล่านี้จะทำการโปรโมตกิจกรรมต่างๆ เพื่อเชิญชวนผู้มีอุดมการณ์เดียวกันทั่วโลกเข้าร่วมขบวนการแนวร่วมสู้รบผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ ยูทิวบ์ ฯลฯ และข้อมูลดิจิตอลในรูปแบบต่างๆ เพื่อระดมทุนหาเงินสนับสนุนผ่านทางช่องทางนี้

นอกจากนี้ กลุ่ม IS ยังได้พยายามในการทำลายระบบโครงสร้างพื้นฐานของซีเรีย และประเทศอิรัก ด้วยการยึดเมืองสำคัญๆ และเอาประชาชนเป็นเกราะกำบังป้องกันการโจมตีกลับจากกลุ่มประเทศที่ต่อต้าน และทำลายกลุ่มดังกล่าว พร้อมทั้งพยายามที่จะกระจายการการโจมตีไปยังประเทศต่างๆ เพื่อจุดชนวนสงครามโดยอ้างอิงหลักคำสอนทางด้านศาสนา ทำให้เกิดความขัดแย้ง และสู้รบในประเทศต่างๆ ขึ้น โดยปัจจุบัน กลุ่ม IS มีสมาชิกประมาณ 20,000 คน กระจายอยู่ในทวีปต่างๆ ทั่วโลก
 
ขณะที่การโจมตีในประเทศอินโดนีเซีย และบูร์กินาฟาโซ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นการแสดงศักยภาพด้านการก่อการร้ายของสมาชิกกลุ่มย่อย เพื่อประกาศตัวให้ทั่วโลกยอมรับถึงความร้ายกาจ และความสามารถในการสร้างความหวาดกลัว และผลกระทบต่อธุรกิจในประเทศที่เกิดเหตุวินาศกรรม และประเทศใกล้เคียงได้

อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเชิงธุรกิจที่เกิดขึ้นอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศจากภัยก่อการร้าย แยกตามกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งรัฐจะต้องบริหารความเสี่ยง และส่งเสริมข่าวกรอง อีกทั้งจะต้องมีการเอาจริงเอาจังในการต่อสู้กับนักเคลื่อนไหวที่สร้างความสั่นคลอนความเชื่อมั่นที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยเช่นที่เคยเกิดขึ้นในประเทศซีเรีย และอิรัก

“สิ่งที่รัฐบาลจะต้องตระหนัก คือ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ครอบคลุมการประกันภัยก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ อีกทั้งการประสานงานข้อมูลข่าวกรองด้านการก่อการร้ายระหว่างประเทศกับประเทศต่างๆ และอัปเดตข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งมีการวางแผนเตรียมพร้อมรับมือ และป้องกันวิกฤตการณ์การก่อการร้ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต”
กำลังโหลดความคิดเห็น