xs
xsm
sm
md
lg

เตือน ศก.ไทย Q2 มีความเสี่ยงสูง ทั้งการเมืองและภัยแล้ง ขณะที่ความผันผวนจากสงครามค่าเงินจะรุนแรงขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“อดีตขุนคลัง” มองภาพรวม ศก.ไทนปี 59 ขยายตัวได้แค่ 2.7-3.7% ขณะที่ไอโอดีเตือนไทยต้องรักษา ดบ.ในระดับต่ำเพื่อพยุง ศก. อาจเจอผลกระทบความผันผวน ด้านโบรกฯ แนะจับตา Q2 ใกล้ชิดเนื่องจากเป็นช่วงที่ภาวะเสี่ยงที่สุดของ ศก.ไทย ซึ่งอาจมีเหตุทางการเมือง และปัญหาภัยแล้งซึ่งตรงกับช่วงที่ ศก.ไทยขยายตัวต่ำสุด ขณะที่ความเสี่ยงภายนอกที่เกิดจากเฟดปรับขึ้น ดบ. จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น และต้องจับตานโยบายแก้ปัญหา ศก.ภายในของจีน ผ่านการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าค่าเงินหยวนมีโอกาสจะอ่อนค่าลง 6.6-7.0% และยังมีความเป็นห่วงว่าหาก ศก.จีน ชะลอตัวจะส่งผลต่อการบริโภคน้ำมันลดลง และทำให้จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด

นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงานสัมมนา “Economic and Business Outlook in 2016 : Hot-button Issues for Directors” โดยมองภาพรวมเศรษฐกิจไทย (GDP) ปี 2559 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7-3.7% ซึ่งยังเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำ และมีผลทำให้นักลงทุนต่างชาติหันไปลงทุนในประเทศอื่น เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ เห็นได้จากการลงทุนโดยตรง หรือ FDI ที่ติดลบ 0.5% ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดังนั้น รัฐบาลต้องเร่งสร้างอัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจด้วยการลงทุน เพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนให้กลับมามีความเชื่อมั่น และเริ่มกลับมาลงทุนอีกครั้ง

ทั้งนี้ ยอมรับว่าเป็นห่วงการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะติดลบต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ซึ่งหลายฝ่ายต้องช่วยกันในการผลักดันการส่งออกสินค้าที่มีศักยภาพ โดยเน้นเกษตรแปรรูป และอาหาร ซึ่งมีสัดส่วนส่งออก 20% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด และเห็นว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงมากำหนดนโยบายการเงิน และอัตราดอกเบี้ย

ด้าน นายบัณฑิต นิจถาวร กรรมการผู้อำนวยการสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เจอกับความไม่แน่นอนหลายด้าน โดยเฉพาะจากปัจจัยต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจจีน และตลาดหุ้นจีนที่ส่งผลต่อการไหลเข้าออกของเงินทุน และส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน และจะกระทบต่อการส่งออกได้ รวมถึงแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจากหลายประเทศที่กำลังปรับเพิ่มสูงขึ้น ในขณะที่ไทยยังคงรักษาอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพื่อพยุงเศรษฐกิจ ซึ่งอาจทำให้ไทยต้องเจอกับความผันผวนของตลาดเงิน และตลาดทุน

นอกจากนี้ เรื่องความปลอดภัยจากปัญหาการก่อการร้ายถือว่าเป็นความเสี่ยงใหญ่ที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความเชื่อมั่น เพราะตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา มีการก่อการร้ายข้ามประเทศในหลายแห่ง ทั้งไทย ตุรกี อินโดนีเซีย รวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจเกิดได้เฉียบพลัน และไม่สามารถคาดเดาได้ และอีกปัจจัยคือ ความสามารถของเศรษฐกิจไทยเองที่จะรองรับต่อความผันผวนที่เกิดขึ้น ซึ่งภาคธุรกิจต้องมีการบริหารจัดการ และติดตามสถานการณ์ต่างประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐที่จะมีเม็ดเงินมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้

“ต้องยอมรับว่าปีนี้ไทยต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งภาครัฐอาจหามาตรการช่วยเพิ่ม หรือกระตุ้นการใช้จ่ายในจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้ในช่วงที่ต้องเจอกับความไม่แน่นอนจากต่างประเทศ อย่างไรก็ดี จากราคาน้ำมันที่ลดลง อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในการเพิ่มอำนาจการซื้อให้แก่ประชาชน ในช่วงที่ปัญหาภัยแล้งอาจกระทบต่อรายได้เกษตรกร ซึ่งเชื่อว่ารัฐบาลเข้าใจปัญหา และมีมาตรการในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไว้แล้ว”

ขณะที่ นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร มองว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.2% ภายใต้การเมืองที่ต้องออกมาเชิงบวก โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 ที่ต้องมีการติดตามสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นช่วงที่ภาวะเสี่ยงที่สุดของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นช่วงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านหรือไม่

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาภัยแล้ง และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการอ่อนค่าลงของค่าเงินหยวน และการท่องเที่ยวที่อยู่ในช่วงโลว์ซีซัน จะเป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่ำสุด ดังนั้น หากการเมืองมีปัญหาจะฉุดความเชื่อมั่นของภาคเอกชนที่กำลังรอการตัดสินใจว่าจะเพิ่มการลงทุนหรือไม่ ดังนั้น สิ่งสำคัญจะต้องทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ เพื่อให้เกิดการเลือกตั้งได้ภายในปี 60 และต้องเร่งการลงทุนให้ได้ตามแผนที่วางไว้ เพื่อขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายได้ตามเป้าหมาย

ขณะที่ปัจจัยจากนอกประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดการณ์ว่าจะลดต่ำลงถึง 25 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ปริมาณน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้น หลังอิหร่านจะเริ่มส่งออกน้ำมันได้เป็นครั้งแรกหลังถูกคว่ำบาตร ซึ่งจะมีผลทำให้สหรัฐฯ ลดการผลิต Shell oil ลง ส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นในครึ่งหลังโดยคาดว่าราคาเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 45 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล

อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนจากตลาดการเงิน จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะมีผลทำให้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น 5% เมื่อเทียบกับค่าเงินทุกสกุล และยังต้องติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และนโยบายแก้ปัญหาเศรษฐกิจภายในผ่านการทำให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่า ค่าเงินหยวนมีโอกาสจะอ่อนค่าลง 6.6-7.0% และยังมีความเป็นห่วงว่าหากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจะส่งผลต่อการบริโภคน้ำมันลดลงด้วย และทำให้จีนเข้าสู่ภาวะเงินฝืด
กำลังโหลดความคิดเห็น