xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.แนะเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธปท.แนะเตรียมความพร้อมรับมือความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลง และเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ชัดเจน แต่ควรติดตามและเตรียมความพร้อมรับมือต่อความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่ได้เปลี่ยนแปลงไป และอาจมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ การขยายตัวของผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมากขึ้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2558 โดยระบุว่า ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในปี 2558 มีมากขึ้นกว่าปีก่อนจากความล่าช้าของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้รายได้ และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคเอกชน รวมถึงคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ด้อยลง

อย่างไรก็ดี ระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีความเข้มแข็ง สามารถรองรับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นได้ และภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีฐานะการเงินอยู่ในเกณฑ์ดี นอกจากนี้ ภาครัฐได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ เช่น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย มาตรการด้านสินเชื่อแก่ธุรกิจ SMEs และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งคาดว่าผลของมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคเอกชนได้ระดับหนึ่ง รวมถึงมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน และการลงทุนของภาครัฐในโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป

ภาวะอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง และยาวนาน ทำให้เห็นพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน และยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้น (Search for Yield) ในตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ และสินทรัพย์ต่างๆ มากขึ้น โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2558 นักลงทุนรายย่อยลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีความร้อนแรงของการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงบ้าง

นอกจากนี้ มีการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนรวม (Foreign Investment Fund : FIF) มากขึ้น โดยบางส่วนไปลงทุนในประเทศที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงขึ้น สำหรับภาคธุรกิจได้หันมาระดมทุนผ่านตราสารหนี้มากขึ้น และบางกลุ่มโดยเฉพาะธุรกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ออกตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Non-Rated Bonds) เพิ่มขึ้น อีกทั้งยังพบสัญญาณเก็งกำไรจากการซื้อขายใบจองในตลาดอาคารชุดในเขตกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นบ้าง

อย่างไรก็ดี ในภาพรวมความเสี่ยงจากพฤติกรรมการแสวงหาผลตอบแทน และการยอมรับความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อเสถียรภาพระบบการเงินยังมีจำกัด เนื่องจากพฤติกรรมการซื้อขายของนักลงทุนส่วนใหญ่ใช้เงินสด และการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (Margin Loan) มีสัดส่วนน้อย

ขณะที่การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศผ่านกองทุนรวมส่วนใหญ่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และมีระยะเวลาไถ่ถอนแน่นอน (Term Fund) และส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของนักลงทุนรายใหญ่ที่ผ่านเกณฑ์ตามที่กำหนด (Accredited Investors) นอกจากนี้ ในระยะสั้นผลกระทบจากการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์ต่อเสถียรภาพระบบการเงินยังมีจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีฐานะการเงินที่เข้มแข็ง

ความเสี่ยงต่างประเทศต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวล่าช้าจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ ประกอบกับนโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีความแตกต่างกันมากขึ้น (Policy Divergence) โดยญี่ปุ่น และกลุ่มยูโรยังคงผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องตามการฟื้นตัวที่ยังอ่อนแอ

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ในเดือนธันวาคม 2558 ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แม้ว่าความผันผวนในตลาดการเงินโลกจะสูงขึ้น แต่ผลกระทบต่อระบบการเงินไทยอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากฐานะด้านต่างประเทศของไทยในปัจจุบันยังอยู่ในเกณฑ์เข้มแข็ง สามารถรองรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นได้

โดยดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลอย่างต่อเนื่อง และเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชน และภาครัฐของไทยส่วนหนึ่งอยู่ในรูปสกุลเงินบาท เช่น พันธบัตรของภาครัฐ และหุ้นกู้ภาคเอกชนที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่หนี้ต่างประเทศในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศส่วนใหญ่เป็นหนี้ของธุรกิจขนาดใหญ่ซึ่งมีการบริหารจัดการความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างดี

ความเสี่ยงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย ในปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ชัดเจน แต่ควรติดตาม และเตรียมความพร้อมรับมือต่อความเสี่ยงเชิงโครงสร้างที่ได้เปลี่ยนแปลงไป และอาจมีเพิ่มขึ้นในอนาคต ได้แก่ การขยายตัวของผู้ให้บริการทางการเงินที่มิใช่ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยมากขึ้นจากความเชื่อมโยงกับระบบการเงินอื่นๆ และความเสี่ยงจากพัฒนาการของเทคโนโลยีทางการเงินต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ ตลอดจนระบบสถาบันการเงิน และระบบการชำระเงินในภาพรวม ซึ่งผู้กำกับดูแลที่เกี่ยวข้องต้องเตรียมความพร้อมให้เท่าทันต่อพัฒนาการที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น