xs
xsm
sm
md
lg

เผยสินเชื่อแบงก์ พ.ย.ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 23 เดือน สวนทางเงินฝากที่ชะลอตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ เผยเดือน พ.ย.58 สินเชื่อแบงก์ปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 23 เดือน ขณะที่เงินฝากชะลอสวนทาง ส่งผลให้สภาพคล่องตึงตัวขึ้น สำหรับทิศทางสภาพคล่องแบงก์ในปี 59 เชื่อว่าจะตึงตัวขึ้นสอดคล้องต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย จากการเข้ามาระดมทุนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการปรับพอร์ตเงินลงทุนของนักลงทุน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุข้อมูลสินเชื่อ เงินฝาก และสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2558 (ปรับผลของการรวมธนาคารธนาคารโตเกียวมิตซูบิชิ เข้ากับธนาคารกรุงศรีอยุธยา) จากเอกสารรายการย่อแสดงสินทรัพย์และหนี้สิน (ธ.พ.1.1) ว่า เงินให้สินเชื่อสุทธิขยับขึ้นแทบทุกธนาคาร นำโดยสินเชื่อเอสเอ็มอีจากมาตรการซอฟต์โลนของภาครัฐ โดยสินเชื่อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 1.42 แสนล้านบาท หรือ 1.39%MoM และเพิ่มขึ้น 3.90%YoY และ 2.48%YTD ขณะที่เงินให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจขนาดใหญ่ในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งประเภทเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) และสินเชื่อมีกำหนดเวลา (Term Loan) เช่นเดียวกับสินเชื่อลูกค้ารายย่อยซึ่งฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่พลิกกลับมาเป็นบวก MoM และทำให้การหดตัวลงในลักษณะ YoY ปรับลดลง รวมถึงสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวดีขึ้นกว่าเดือนก่อน จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของทางการ

ขณะที่เงินฝากชะลอตัวลงเล็กน้อยหลังจากที่ดีดตัวขึ้นกว่าแสนล้านบาทในเดือนก่อน โดยลดลง 1.20 หมื่นล้านบาท หรือ -0.11%MoM แต่เพิ่มขึ้น 2.63%YoY และ 0.94%YTD โดยเงินฝากที่ลดลงยังคงสะท้อนการบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้านสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ เดือน พ.ย.2558 ขยับตึงขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนเงินให้สินเชื่อรวมต่อเงินฝากรวมกับตราสารหนี้ที่ออกและเงินกู้ยืม (LTD+Borrowing Ratio) ขยับขึ้นมาที่ระดับ 86.89% จากระดับ 85.69% ณ สิ้นเดือนก่อนหน้า สอดคล้องต่อเครื่องชี้สภาพคล่องอีกตัวหนึ่ง ได้แก่ สัดส่วนสินทรัพย์สภาพคล่องต่อสินทรัพย์รวม ซึ่งปรับลดลงมาที่ระดับ 20.48% จากระดับ 21.23% ในเดือนก่อน อย่างไรก็ดี ระดับสภาพคล่องดังกล่าวแม้จะมีทิศทางที่ตึงขึ้นตามความต้องการเบิกใช้สินเชื่อที่เร่งขึ้นในช่วงปลายปี แต่ยังคงเป็นระดับที่ผ่อนคลายกว่าสิ้นปีที่ผ่านมา

สำหรับทิศทางสภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยปี 59 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า ทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์มีทิศทางตึงตัวขึ้นสอดคล้องต่อสภาพคล่องในระบบการเงินไทย จากการเข้ามาระดมทุนของภาครัฐ และเอกชน รวมถึงการปรับพอร์ตเงินลงทุนของนักลงทุน โดยปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และระบบการเงินไทยในปี 59 ประกอบด้วย การปรับสถานะการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ ภายใต้สมมติฐานการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในปี 2559 เป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยทรงตัวต่อเนื่อง เพื่อประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้ภาพการเคลื่อนย้ายพอร์ตลงทุนของนักลงทุนน่าจะมีความชัดเจนขึ้นดังสะท้อนผ่านยอดคงค้างเงินลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยที่มีโอกาสปรับลดลงต่อจากปี 2558

ความต้องการระดมเงินทุนจากการภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน (วัดจากการระดมทุนผ่านตราสารหนี้สุทธิจากการชำระคืน และการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ) ที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการขาดดุลงบประมาณ และแนวทางการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ ซึ่งคาดว่าจะเข้าสู่กระบวนการเบิกจ่ายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2559 เป็นต้นไป อันจะมีผลผลักดันให้ภาคธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่รับงานของภาครัฐ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ต้องการเงินทุนเพื่อลงทุนในสินทรัพย์ทุน และเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัปพลายเชน

แม้สภาพคล่องตึงตัวขึ้น แต่เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่บริหารจัดการได้ โดยไม่กระทบต่อดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ แม้ว่าสภาพคล่องของระบบการเงินไทยจะมีทิศทางตึงตัวขึ้นจนอาจดึงอัตราผลตอบแทนระยะกลางถึงยาวของพันธบัตรรัฐบาลไทยให้ปรับเพิ่มขึ้น ได้สอดคล้องต่อทิศทางการปรับตัวของผลตอบแทนพันธบัตรในปี 2558 แต่เชื่อว่าแต่ละธนาคารพาณิชย์คงสามารถบริหารสภาพคล่องของตนเองในแต่ละช่วงเวลาได้โดยไม่กระทบต่ออัตราดอกเบี้ยตามประกาศของแต่ละธนาคารพาณิชย์ เนื่องจากธนาคารยังมีหลายเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่อง ไม่ว่าจะเป็นตลาด Interbank ตลาดซื้อคืนพันธบัตร รวมถึงพันธบัตร ธปท.ที่อยู่ในมือธนาคารพาณิชย์มูลค่ากว่า 1.25 ล้านล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ย.58) และการออกแคมเปญเงินฝากพิเศษในจังหวะที่ต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม หรือเพื่อชดเชยเงินฝากประจำที่ครบกำหนด ดังนั้น จึงทำให้เชื่อว่า การปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามประกาศของธนาคารพาณิชย์น่าจะเป็นทางเลือกท้ายๆ ในการเพิ่มสภาพคล่องในมือของธนาคารพาณิชย์

ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามเพราะอาจมีผลต่อความต้องการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และการออกแคมเปญเพื่อระดมเงินฝากของแต่ละธนาคารในปี 2559 ได้แก่

1) การบังคับใช้หลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio : LCR) ตามมาตรฐาน Basel III โดยในช่วงต้นปี 2559 ธปท.จะเริ่มบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวต่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย แต่เป็นการทยอยบังคับใช้ตั้งแต่ระดับ 60% ของประมาณการกระแสเงินสดที่อาจไหลออกสุทธิใน 30 วัน จนครบระดับ 100% ในปี 2563 ซึ่งธนาคารพาณิชย์มีการปรับตัวรองรับเกณฑ์ดังกล่าวไปบ้างแล้ว แต่เกณฑ์ที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ทำให้ธนาคารพาณิชย์คงทยอยเพิ่มสัดส่วน LCR ให้สูงขึ้นสอดคล้องต่อเกณฑ์ ธปท.ตามลำดับ

2) ความก้าวหน้าของสินเชื่อที่คงขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และความก้าวหน้าของการลงทุนภาครัฐ เพราะหากจะมีนัยต่อขนาด และจังหวะการระดมทุนเมื่อเทียบกับแผนที่วางไว้เดิมอันจะมีผลต่อทิศทางความต้องการสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในปี 2559 ได้

และ 3) การลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาท ในเดือน ส.ค.2559 โดยจะส่งผลให้บัญชีเงินฝากกว่า 1.29 ล้านบัญชี คิดเป็นเงินฝากกว่า 4.24 ล้านล้านบาท ถูกลดความคุ้มครองลงจาก 25 ล้านบาท เหลือ 1 ล้านบาท (ข้อมูล ณ สิ้นเดือน ต.ค.58) และอาจเห็นลูกค้าส่วนหนึ่งเลือกบริหารเงินฝากสู่ทางเลือกการออมอื่นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น