xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแผนขายพันธบัตรออมทรัพย์เน้นดึงดูดรายย่อย “คลัง” พอใจหนี้สาธารณะอยู่ในเป้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“คลัง” เตรียมปรับแผนขายพันธบัตรออมทรัพย์ เดินหน้าเจรจาแบงก์พาณิชย์ตัวแทนจำหน่ายเปิดขายวันหยุด “เสาร์-อาทิตย์” เพราะนักลงทุนรายย่อยจะได้มีโอกาสซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวันหยุด พร้อมปรับกลยุทธ์การจำหน่ายเพิ่ม เพื่อรักษาฐานรายย่อยให้มากที่สุด แต่หากขายไม่หมดอาจให้นักลงทุนสถาบัน โดยจะไม่มีการปรับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทน ส่วนเป้าหมายหนี้สาธารณะสิ้นปีงบ 58 อยู่ที่ 42.99% ถือว่าเป็นระดับที่น่าพอใจ

นายธีรัชย์ อัตนวานิช รองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า ความคืบหน้าการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์รัฐบาล วงเงิน 50,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี โดยจ่ายดอกเบี้ยทุก 6 เดือน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณที่มีการขาดดุล 390,000 ล้านบาท เริ่มเปิดจำหน่ายระหว่างวันที่ 19 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559 โดยซื้อขั้นต่ำ 1,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อบัญชีต่อคน จำหน่ายผ่าน 4 ธนาคาร ประกอบด้วย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย

ทั้งนี้ ยอดจำหน่ายปัจจุบันวงเงิน 30,850 ล้านบาท จำนวน 27,000 ราย เฉลี่ยรายละ 1 ล้านบาท จำหน่ายเนื่องจากกระทรวงการคลังต้องการให้รายย่อยเข้าถึงการซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากที่สุด จึงกำหนดเพดานสูงสุดไม่เกิน 2 ล้านบาทต่อราย ทั้งนี้ เตรียมเจรจาธนาคารพาณิชย์ผู้แทนจำหน่ายให้เปิดขายวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะนักลงทุนรายย่อยจะได้มีโอกาสซื้อพันธบัตรรัฐบาลในวันหยุด และพร้อมปรับกลยุทธ์การจำหน่ายเพิ่ม เพื่อรักษาฐานรายย่อยให้มากที่สุด แต่หากขายไม่หมดอาจให้นักลงทุนสถาบัน โดยจะไม่มีการปรับเงื่อนไขอัตราดอกเบี้ยผลตอบแทน

สำหรับภาระหนี้สาธารณะคงค้างสิ้นเดือนกันยายน 2558 มีจำนวน 5.783 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 42.99 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นสุทธิ 46,679.11 ล้านบาท โดยต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดการณ์เอาไว้ร้อยละ 43.5 จึงเป็นยอดหนี้ที่ไม่น่าเป็นห่วง

ทั้งนี้ คาดว่า สิ้นเดือนธันวาคม 2558 ภาระหนี้คงใกล้เคียงกับปัจจุบัน เนื่องจากได้เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการบริหารจัดการน้ำ และสร้างถนน กำหนดเป้าหมายปลายปีนี้ประมาณ 35,000 ล้านบาท ปัจจุบันเบิกจ่ายไปแล้ว 25,000 ล้านบาท เพื่อหวังขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตร้อยละ 3 ในส่วนของรัฐวิสาหกิจที่เบิกเงินกู้ไม่เป็นตามเป้าหมาย ประกอบด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) โครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท และรถไฟฟ้าใต้ดินบางเส้นทาง ส่วนแนวโน้มหนี้สาธารณะงบประมาณปี 2559 อยู่ที่ร้อยละ 46 ทั้งนี้ ยังอยู่ภายใต้สมมติฐานโครงการลงทุนของรัฐลงทุนได้ตามเป้าหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น