กระทรวงการคลัง-แบงก์ชาติ-สำนักงบฯ ผนึกกำลังเพื่อร่วมกันประเมินความเสี่ยงด้านการคลัง หวั่นหนี้สาธารณะชนเพดานร้อยละ 60 ปี 2564 หลังเศรษฐกิจชะลอ และเก็บรายได้พลาดเป้า เล็งขยายฐานภาษี ลดรายจ่าย พร้อมเร่งอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจปลายปีนี้
นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมประชุมเพื่อประเมินความเสี่ยงด้านการคลังในอนาคต 4-5 ปีข้างหน้า หลังจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และแนวโน้มการจัดเก็บรายได้ลดลง หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไป และต้องมีการขาดดุลงบประมาณ หรือกู้เงินเพื่อการลงทุนต่อเนื่องอาจทำให้ภาระหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงชนเพดานกรอบวินัยการคลังร้อยละ 60 ในปี 2564
ทั้งนี้ เป็นการประเมินจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวประมาณปีละร้อยละ 5 หากจีดีพีขยายตัวต่ำกว่านี้ก็จะทำให้ภาระหนี้ชนเพดานเร็วขึ้น จึงต้องหาแนวทางลดความเสี่ยงทางการคลัง ทั้งการหาแหล่งรายได้ หรือภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน หากไม่สามารถเก็บภาษีเพิ่มได้ก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพบริหารการจัดเก็บภาษีใหม่ อุดช่องโหว่ และมีมาตราการลดค่าใช้จ่ายต่างๆ
“ที่ประชุมเป็นห่วงความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต แต่ขณะนี้ยังไม่ถือว่ามีปัญหาแม้การจัดเก็บรายได้จะพลาดเป้ากว่า 100,000 ล้านบาท เพราะยังมีเงินคลังกว่า 100,000 ล้านบาท จึงไม่ได้อยู่ในภาวะถังแตกอย่างที่กังวล ยังมีเงินรองรับการเบิกจ่าย แต่ที่เบิกจ่ายช้ามาจากการทำงานของส่วนราชการ อย่างไรก็ตาม แม้ภาระหนี้สาธารณะจะชนเพดานปี 2564 กระทรวงการคลังยังยึดกรอบวินัยการคลังร้อยละ 60 ของจีดีพีต่อไปตามเดิม แม้ประเทศอื่นจะสูงกว่านี้มาก ส่วนเป้าหมายการสมดุลงบประมาณปี 2560 ยอมรับว่าเป็นไปได้ยาก”
สำหรับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะเร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่ยังเหลือ และเงินกู้ ส่วนของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทั้งน้ำ และถนน ปลายปีนี้คาดมีเม็ดเงินอีก 79,000 ล้านบาท โดยเฉพาะน้ำจะเบิกจ่ายได้อีก 27,000 ล้านบาท เนื่องจากหากไม่มีการเบิกจ่ายจะโอนมาไว้งบกลางตามกฎหมายที่กำลังจะผลักดันออกมาเร็วๆ นี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องกันงบเหลื่อมปีเหมือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการการเงินการคลังเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ทั้งการช่วยเกษตรกร และผู้มีรายได้น้อย การจ้างงานในท้องถิ่น การช่วยเหลือเอสเอ็มอี รวมแล้วไตรมาส 4 ปีนี้จะมีเม็ดเงินกว่า 120,000 ล้านบาท