xs
xsm
sm
md
lg

คลังยันไม่ขึ้นVATเมินม.44แก้ศก.ห้ามลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - รมว.คลังอ้างหารือนายกฯ แล้วแต่การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจต้องมีธรรมมาภิบาล ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ยกเว้นเรื่องแก้ปัญหาล็อตเตอรี่แพง ยันยังไม่ปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในปี 59 หวั่นกระทบผู้มีรายได้น้อย พร้อมอุ้มแบงก์ บอกต่อจากนี้ห้ามลดดอกเบี้ยอีก

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Press Conference Thailand Economy Monitor (รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย) จัดขึ้นโดยธนาคารโลก เมื่อวานนี้ (3 ม.ย.) ระบุว่า นโยบายหลักของรัฐบาลนี้เป็นเรื่องการแก้ปัญหาคอรัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ในสังคมไทยมานาน บางครั้งต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 แต่ด้านเศรษฐกิจที่นำโดยกระทรวงการคลังนั้น ได้พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีแล้วว่า การทำงานของหน่วยงานเศรษฐกิจต้องมีธรรมมาภิบาล จึงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ในการทำงาน ยกเว้นเรื่องแก้ปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาล

"หน้าที่หลักของกระทรวงคลัง คือ การปฎิรูปภาษีที่ฐานภาษีในปัจจุบัน 2.3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ในอนาคตตั้งเป้าจะเร่งขยายฐานภาษีให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีสัดส่วนร้อยละ 20 ต่อจีดีพี"

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ได้ภายในอีก 2 เดือน ในส่วนนี้น่าจะเป็นการช่วยสร้างรายได้จากภาษีได้มากกว่าการปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนี้จะไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน โดยกระทรวงการคลังจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จาก 7% ในปัจจุบัน เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับผู้มีรายได้น้อย

"ดูเศรษฐกิจแล้ว ผมและผู้ใหญ่คุยกันแล้วว่าถ้าขึ้นจะเป็นการซ้ำเติมประชาชน คงจะทำเรื่องเสนอ ครม.ใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า" รมว.คลัง กล่าวและว่า กระทรวงการคลัง จะยังเดินหน้าสร้างความแข็งแกร่งให้กับกลุ่ม เอสเอ็มอี ของไทย ซึ่งมีอยู่ประมาณร้อยละ 90 ของประเทศ 6 ด้าน ประกอบดัวย การปรับลดภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ประกอบการ ให้ บริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เข้าค้ำประกันความเสี่ยงการกู้เงินร้อยละ 18 และในกรณีเกิดวิกฤตให้เพิ่มเป็นร้อยบะ 30 ให้กับผู้ประกอบการ เอสเอ็มอี, สนับสนุนเรื่องนวัตกรรมโดยมอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยเหลือ, ตั้งกองทุน เพื่อช่วยเหลือ กลุ่มเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหาสภาพคล่อง, ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจดูแลรากหญ้าอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในกลุ่มอาเซียน ลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ให้กับผู้ประกอบการ อำนวยความสะดวกให้กับเอกชนที่ต้องการลงทุนกับภาครัฐ

ส่วนในปีงบประมาณ 60 ประเทศไทยยังจำเป็นต้องทำงบประมาณแบบขาดดุลเพื่อช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวได้เพื่อดันเศรษฐกิจฟื้นเร็วขึ้น และไม่จำเป็นต้องลดดอกเบี้ยลงอีก เพราะการปรับลดดอกเบี้ยของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) 2 ครั้งติดต่อกันในช่วงที่ผ่านมาที่มีผลทำให้เงินบาท่อนค่าลงนั้นสามารถช่วยภาคส่งออกได้ในระดับนึงแล้ว อีกทั้งดอกเบี้ยของไทยต่ำสุดในอาเซียนแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น