xs
xsm
sm
md
lg

ประเมินผลกระทบ ECB ออกมาตรการชุดใหม่ คาดทุนเคลื่อนย้ายผันผวน-บาทอ่อนค่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดไทยอาจได้รับผลกระทบกรณี ECB ขยายเวลา QE อาจทำทุนเคลื่อนย้ายผันผวน และเงินบาทอ่อนค่าลงอีก เพราะเป็นจังหวะเดียวกับ Fed เตรียมปรับขึ้นอัตรา ดบ. พร้อมระบุมาตรการชุดใหม่ของ ECB ทำตลาดผิดหวัง เพราะไม่มีการเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ตามที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินผลกระทบต่อไทยกรณีธนาคารกลางยุโรป (ECB) ขยายช่วงเวลาการดำเนินมาตรการ QE ยาวนานขึ้น แต่ก็เป็นจังหวะเวลาทับซ้อนกับที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เตรียมจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งทำให้คาดว่ากระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอาจต้องเผชิญต่อภาพที่ผันผวนอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ขณะที่กระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดการเงินไทย (จากผลของมาตรการผ่อนคลายของ ECB) อาจจะยังมีภาพที่ไม่ชัดเจนมากนัก เพราะปัจจัยสำคัญของตลาดการเงินไทย และทั่วโลกยังเป็นเรื่องวัฏจักรการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐฯ กลับสู่ภาวะปกติ (Policy normalization) ซึ่งน่าจะกินเวลายาวข้ามปี

ดังนั้น ยังคงมีความเป็นไปได้ที่เงินบาทจะเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่า และเข้าทดสอบระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐอีกครั้ง ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยก็อาจทยอยปรับตัวขึ้น ท่ามกลางกระแสการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่น่าจะมีความผันผวนมากขึ้น

ทั้งนี้ ผลการประชุมของ ECB เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.58 สร้างความผิดหวังให้แก่ตลาดการเงินที่รอจับตาสัญญาณผ่อนคลายมาตรการทางการเงิน (QE) รอบใหม่อย่างใกล้ชิด เพราะ ECB มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และขยายเวลาประเภทสินทรัพย์ที่จะเข้าซื้อผ่านมาตรการ QE เท่านั้น แต่ไม่มีการเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ตามที่หลายฝ่ายได้ประเมินไว้ โดยเงินยูโร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศในกลุ่มยูโรโซนกลับมาปรับตัวขึ้น หลังจากที่ทยอยปรับตัวลงไปอย่างต่อเนื่องในช่วงก่อนหน้านี้

เป็นที่น่าสังเกตว่า ECB ดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่ผ่าน 2 เครื่องมือ เพื่อหนุนเงินเฟ้อ และประคองการขยายตัวของเศรษฐกิจยูโรโซน หลังการทำ QE ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผลเชิงบวกต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในบางส่วนเท่านั้น ขณะที่มีสัญญาณที่สะท้อนว่า ECB มีความจำเป็นต้องใช้ความพยายามมากขึ้นกว่าที่เงินเฟ้อของยูโรโซนจะกลับเข้าสู่เป้าหมายที่ร้อยละ 2.0 (ECB ปรับลดประมาณการเงินเฟ้อในปี 59-60 ลงมาที่ร้อยละ 1.0 และร้อยละ 1.6 จากคาดการณ์เดิมที่ร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ)

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงินไว้ที่ ECB ลงมาอยู่ที่ระดับติดลบร้อยละ 0.30 จากที่ติดลบร้อยละ 0.20 และมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 0.05 ตามเดิมการขยายเวลาประเภทสินทรัพย์ที่สามารถเข้าร่วมโครงการซื้อสินทรัพย์ แต่คงวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือนไว้ที่ 6.0 หมื่นล้านยูโร

ทั้งนี้ ECB จะเดินหน้ามาตรการ QE ไปจนถึงอย่างน้อยในเดือน มี.ค.60 จากกำหนดการเดิมที่สิ้นสุดในเดือน ก.ย.59 เท่ากับมีการเพิ่มวงเงินโครงการซื้อสินทรัพย์อีกราว 3.6 แสนล้านยูโร เป็น 1.5 ล้านล้านยูโร จากวงเงินรวมเดิมที่ 1.14 ล้านล้านยูโร โดย ECB ได้เพิ่มพันธบัตรเทศบาลท้องถิ่น หรือพันธบัตรของรัฐบาลแคว้นต่างๆ เข้ามาเป็นประเภทสินทรัพย์ที่ ECB สามารถซื้อภายใต้โครงการนี้ด้วย

นอกจากนี้ ECB ระบุว่า จะมีการนำเงินที่ได้จากการครบกำหนดไถ่ถอนพันธบัตร/ตราสารหนี้ที่ถือครองอยู่กลับมาลงทุนใหม่อีกครั้ง ซึ่งการดำเนินการในส่วนนี้จะทำให้ระดับงบดุลของ ECB ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง และสภาพคล่องในระบบจะไม่ถูกดึงกลับออกไปด้วยเช่นกัน

ค่าเงินยูโร และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศสมาชิกยูโรโซนปรับตัวขึ้น สวนทางต่อเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาสินทรัพย์เสี่ยงที่เผชิญแรงเทขาย ภายหลังผลการประชุมของ ECB ที่มีมติผ่อนคลายมาตรการทางการเงินด้วยเครื่องมือที่น้อย และไม่หลากหลายเท่ากับที่ตลาดคาดหวังไว้ในช่วงหลายสัปดาห์ก่อนหน้า น่าจะสะท้อนภาวะการปรับฐานของตลาดการเงินในหลายๆ ส่วน มากกว่าที่จะเป็นการปรับเปลี่ยนมุมมองไปโดยสิ้นเชิง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ECB อาจต้องการเก็บบางเครื่องมือ/มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน เช่น การเพิ่มวงเงินซื้อสินทรัพย์ต่อเดือน การลดดอกเบี้ยเงินฝากในระดับที่ติดลบลึกขึ้น และ/หรือการกำหนดให้มีอัตราดอกเบี้ยหลายระดับ เพื่อผลักดันให้ให้สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น ตลอดจนการเพิ่มหุ้นกู้เอกชนเข้ามาเป็นสินทรัพย์ที่ ECB สามารถซื้อในช่วงระหว่างการทำ QE เป็นต้น ไว้สำหรับเป็นทางเลือกในการดำเนินการผ่อนคลายอีกระลอกในช่วงหลายเดือนข้างหน้า

โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อยังมีความเปราะบาง และล่าช้า และ ECB เองก็อาจต้องการรอดูสัญญาณเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก่อน เพราะหากเฟดส่งสัญญาณการทยอยปรับอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ในช่วงหลายเดือนข้างหน้า ก็เป็นไปได้ว่าค่าเงินยูโรก็จะกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่า สะท้อนความแตกต่างระหว่างทิศทางนโยบายการเงินของเฟด และ ECB
กำลังโหลดความคิดเห็น