xs
xsm
sm
md
lg

รายงาน กนง.คงดอกเบี้ยรักษาเสถียรภาพ ศก. เผยบาทอ่อนค่าเอื้อต่อการฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เผยแพร่รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2558 วันที่ 16 กันยายน 2558 โดยระบุว่า คณะกรรมการฯ เห็นว่าการดำเนินนโยบายการเงินในระยะนี้ควรให้น้ำหนักต่อการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี โดยกรรมการส่วนใหญ่เห็นว่า ภาวะการเงิน รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในปัจจุบัน ทำให้สามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้

นอกจากนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมในระยะนี้อาจมีผลบวกในการช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ไม่มาก แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะต่อไป กรรมการเห็นพ้องกันว่า เศรษฐกิจไทยยังจะเผชิญต่อความเสี่ยงด้านต่ำ และควรได้รับแรงสนับสนุนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่องจากนโยบายการเงิน จึงจะติดตามพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเงินของไทยอย่างใกล้ชิด และพร้อมจะใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

“เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญต่อปัจจัยลบโดยเฉพาะจากต่างประเทศ ทำให้แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอ่อนแรงลง และความเสี่ยงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเบ้ไปด้านต่ำ ขณะเดียวกัน ความผันผวนของตลาดการเงินโลกเพิ่มสูงขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินจีน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ คณะกรรมการจึงให้ความสำคัญต่อการพิจารณาเหตุการณ์ที่เป็นไปได้ในกรณีต่างๆ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย (Scenario analysis) ในการตัดสินใจนโยบายการเงิน” รายงานฉบับดังกล่าวระบุ

ทั้งนี้ กนง. ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 และเดือน ก.ค.58 เป็นไปอย่างช้าๆ และมีแนวโน้มอ่อนแรงกว่าที่เคยประเมินไว้ ภายใต้สถานการณ์ที่ปัจจัยเสี่ยงด้านลบมีมากกว่าด้านบวก ประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี 58 และ 59 จึงปรับลดลงมาอยู่ที่ 2.7% และ 3.7% ตามลำดับ โดยกรรมการส่วนใหญ่แสดงความห่วงใยเกี่ยวกับการส่งออกสินค้าที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง และมีปัจจัยลบเพิ่มขึ้นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเอเชีย ซึ่งนอกจากมีผลทำให้ปริมาณการส่งออกลดลงแล้ว ยังทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจีนเป็นผู้นำเข้ารายสำคัญในตลาดโลกปรับลดลงอีกด้วย

ขณะที่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยบางประเภทจะยังเป็นปัจจัยถ่วงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกต่อไป แม้การอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องของผู้ส่งออกได้บางส่วน นอกจากนั้น รายได้เกษตรกรมีแนวโน้มหดตัวมากขึ้น โดยเฉพาะจากราคายางตามราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคาด

ขณะที่รายได้ครัวเรือนในภาพรวมที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่น และการใช้จ่ายของภาคเอกชน ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังการลงทุนของภาคเอกชน อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวในอัตราที่สูง รวมทั้งการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น และมาตรการเพิ่มเติมด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลน่าจะช่วยประคับประคองเศรษฐกิจได้ในระดับหนึ่ง

อนึ่ง กรรมการบางส่วนประเมินว่า เศรษฐกิจไทยอาจได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบในระยะข้างหน้ามากกว่าที่ประมาณการไว้ในกรณีฐาน โดยเฉพาะการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมากกว่าที่ประเมิน และการลงทุนภาคเอกชนที่ยังไม่มีปัจจัยบวกที่จะเป็นแรงส่งที่เพียงพอสำหรับการฟื้นตัวในระยะข้างหน้า โดยความเสี่ยงดังกล่าวได้สะท้อนอยู่ในความเสี่ยงด้านต่ำของการประมาณการเศรษฐกิจแล้ว

แรงกดดันเงินเฟ้อปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่คาดเป็นหลัก ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปีนี้ และคาดว่าจะกลับเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ โดยประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 และ 59 ปรับลดลงมาอยู่ที่ -0.9% และ 1.2% ตามลำดับ อย่างไรก็ดี กนง. ประเมินว่า ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัว หรือปรับสูงขึ้น ทำให้โดยรวมประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 58 ยังใกล้เคียงประมาณการเดิมที่ 1.0% ขณะที่ในปี 59 ปรับลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.8%

นอกจากนี้ การคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ แม้การคาดการณ์เงินเฟ้อระยะสั้นจะปรับลดลงบ้าง ทั้งนี้ กนง.เห็นควรให้ติดตามแนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่อาจปรับลดลงมากกว่าที่ประเมินไว้จากอุปทานส่วนเกินของน้ำมันในตลาดโลกที่อาจเพิ่มขึ้นมากกว่าคาด

ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพการเงินในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าต่อเนื่องส่งผลกระทบต่อฐานะ และความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก แต่ไม่ได้เป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวม ด้านความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับเพิ่มขึ้นจากอุปทานคงค้างที่มีแนวโน้มสูงขึ้น และมีสัญญาณของการเก็งกำไรระยะสั้นในตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ผลกระทบต่อเสถียรภาพการเงินในปัจจุบันยังมีจำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี และมีฐานะทางการเงินเข้มแข็ง และการเก็งกำไรในส่วนของผู้ซื้อส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยการกู้ยืม แต่เป็นการโยกเงินฝากมาลงทุนในสินทรัพย์ที่คาดว่าจะให้ผลตอบแทนสูงกว่า อย่างไรก็ดี กนง.เห็นควรให้ติดตามผลกระทบของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าต่อความสามารถในการชาระหนี้ของภาคเอกชน และระดับอุปทานคงค้างในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจนำไปสู่การสะสมความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงินในระยะต่อไป

ส่วนภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศนั้น เศรษฐกิจโลกโดยรวมชะลอลงเมื่อเทียบกับการประชุมครั้งก่อนจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเอเชียเป็นสาคัญ และมีปัจจัยลบมากขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินโลกตามความผันผวนในตลาดการเงินจีน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่ำลง โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเชื่อมโยงสูงผ่านเครือข่ายการผลิต และการค้ากับประเทศอื่น

อย่างไรก็ดี คาดว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังคงมีแรงสนับสนุนจากภาคบริการ และแรงกระตุ้นด้านการคลัง รวมทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวน ทั้งนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการอ่อนค่าของเงินหยวนจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียอื่นๆ ผ่านการส่งออกสินค้าไปยังตลาดจีนที่อ่อนแอลง แต่การอ่อนค่าของเงินสกุลภูมิภาคตามการอ่อนค่าของเงินหยวนจะช่วยลดทอนผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์จากจีน และการแข่งขันกันในตลาดที่สามได้บ้าง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศของเศรษฐกิจเอเชียมีแนวโน้มชะลอตามความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง

ด้านเศรษฐกิจกลุ่มประเทศ G3 มีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนบ้าง แต่คาดว่าจะไม่ถึงกับทำให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไปอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีแรงสนับสนุนจากภาวะตลาดแรงงาน และความเชื่อมั่นที่ปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี แนวโน้มเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับต่ำ และพัฒนาการเศรษฐกิจการเงินโลกที่ผันผวนขึ้น ทำให้ตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมเดือน ก.ย.58

ส่วนภาวะตลาดการเงิน ตลาดการเงินไทยมีความผันผวนมากขึ้นตามความผันผวนของตลาดการเงินโลก นักลงทุนต่างชาติลดการถือครองหลักทรัพย์และพันธบัตรของเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในภาวะที่ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของจีนมีมากขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ สรอ.จึงอ่อนค่าลง แต่โดยรวมสอดคล้องต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินในภูมิภาค

ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลง และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับเพิ่มขึ้นจากการขายสินทรัพย์เหล่านี้ของนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการฯ ประเมินว่าความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่เพิ่มสูงจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมในวงจำกัด เนื่องจากเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยอยู่ในเกณฑ์ดีเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนที่เพิ่มขึ้นได้ เช่น ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุลอย่างต่อเนื่อง สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อ GDP อยู่ในระดับต่ำ และเงินทุนสำรองทางการเพียงพอต่อการรองรับการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ แต่ควรติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินทั้งภายใน และภายนอกประเทศที่อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น