ธปท. เปิดเผยรายงานผลประชุม กนง. รอบวันที่ 4 พ.ย. ระบุนโยบายการเงินระยะต่อไปยังควรผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง การคงอัตรา ดบ.นโยบายเป็นการรักษาขีดความสามารถ policy space เอาไว้ใช้ในยามจำเป็น พร้อมเกาะติดค่าเงินบาท และทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ฉบับย่อ ครั้งที่ 7/2558 วันที่ 4 พ.ย.58 ซึ่งมี นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท.เป็นประธานการประชุม โดยระบุว่า ในระยะต่อไปนโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง และจะติดตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ภาวะการเงินในตลาดโลก และผลของมาตรการทางการคลังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด โดยพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ
ทั้งนี้ ในระยะต่อไปการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเอเชีย รวมถึงปัญหาภัยแล้งที่รุนแรง จะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 59 อยู่ต่ากว่าประมาณการกรณีฐาน (baseline scenario) จึงเป็นประเด็นความเสี่ยงที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กนง.ประเมินว่าแม้เศรษฐกิจโลกจะทยอยปรับตัวดีขึ้นจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ G3 แต่การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก และปัญหาความสามารถในการแข่งขันของสินค้าส่งออกของไทยบางประเภท เช่น สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม จะยังคงเป็นปัจจัยถ่วงการฟื้นตัวของภาคการส่งออกต่อไป จึงเห็นถึงความจำเป็นของการปรับตัวเชิงโครงสร้างในภาคการส่งออกของไทย ทั้งสินค้า และบริการเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน
พร้อมกันนั้น กนง.ยังประเมินว่า ตลาดการเงินโลกยังจะเผชิญความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความไม่แน่นอนเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ดังนั้น ความผันผวนอาจปรับสูงขึ้นในระยะต่อไป จึงต้องติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลก และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด
สำหรับการตัดสินนโยบายการเงินครั้งล่าสุด (4 พ.ย.58) ที่ประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ต่อปี เนื่องจากประเมินว่าภาวะการเงินโดยรวมยังอยู่ในระดับผ่อนคลาย รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญต่อปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ข้อจากัดเชิงโครงสร้าง และภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความผันผวน
ขณะที่กรรมการส่วนใหญ่เห็นว่าขณะนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมจะมีผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจค่อนข้างจากัด และอาจไปเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพตลาดการเงินในระยะสั้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้ การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการรักษาขีดความสามารถในการดาเนินนโยบาย (policy space) ไว้ใช้ในยามจำเป็น และยังคงต้องติดตามความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่า (search for yield) ภายใต้ภาวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี กรรมการบางส่วนกังวลว่าในบางช่วงเวลาอัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเร็ว หรือปรับไปในทิศทางที่ไม่เอื้อต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจ จึงเห็นควรให้ติดตาม และประเมินพัฒนาการของค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด