xs
xsm
sm
md
lg

ความเสี่ยงภาวะเงินฝืดยังจำกัดจากอุปสงค์ที่ยังไม่ขยายตัว กนง.เตรียมทบทวนจีดีพีอีกครั้ง 16 ธ.ค.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กนง. แจงสาเหตุคงดอกเบี้ยนโยบาย 1.5% ขอรอดูผลมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจก่อน ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกเริ่มเลวร้ายมากขึ้น พร้อมสั่งรับมือความผันผวนค่าเงิน และเงินทุนเคลื่อนย้ายจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินประเทศพัฒนาแล้วใกล้ชิด เตรียมทบทวนจีดีพีอีกครั้งในการประชุมวันที่ 16 ธ.ค.นี้ พร้อมประเมินอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสแรกปีหน้า ส่วนความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังจำกัดจากอุปสงค์ภายในประเทศไม่ขยายตัว และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สายนโยบายการเงิน ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยผลการประชุม กนง.วานนี้ (4 พ.ย.) ว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ค้งอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่อัตรา 1.5% ต่อปี โดยเห็นว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2558 ฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยขยายตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า

ความต้องการใช้จ่ายในประเทศปรับดีขึ้นเล็กน้อยตามการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทน และการลงทุนเพิ่มขึ้นของบางสาขาธุรกิจ ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม น้ำหนักในส่วนของปัจจัยลบจากต่างประเทศมีมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และเอเชีย ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคการส่งออก และความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคต

“หลังจากพิจารณาเศรษฐกิจ และการเงินในภาพรวมของไทย และเศรษฐกิจโลกล่าสุดแล้ว กนง.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับนี้เอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยในระยะต่อไป กนง.นโยบายการเงินยังควรอยู่ในระดับผ่อนปรนอย่างเพียงพอ และต่อเนื่อง ส่วนความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกหรือไม่นั้น กนง.ขอติดตามผลของมาตรการทางการคลังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่ง กนง.คาดว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้ส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน จะต้องติดตามภาวะการเงินในตลาดโลก และเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะในขณะนี้ที่การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ แต่เศรษฐกิจโลกก็มีผลกระทบในลักษณะปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

นอกเหนือจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ภาวะตลาดการเงินโลกที่มีความไม่แน่นอนสูงแล้ว กนง.ยังให้ความสำคัญต่อปัจจัยเสี่ยงเชิงโครงสร้างการผลิตของไทย ซึ่งมีผลต่อการค้า การลงทุน และการส่งออกของไทยในอนาคต โดยให้ประเมินภาพของเศรษฐกิจจากปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว โดย กนง.คงพร้อมใช้เครื่องมือเชิงนโยบายทางการเงิน และนโยบายที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศในระยะต่อไป

“ในที่ประชุม กนง.ครั้งนี้ มองว่า ภาวะการเงิน และอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ กนง.ได้สั่งให้ ธปท.เตรียมพร้อมรับมือความผันผวนของการดำเนินนโยบายการเงินที่เปลี่ยนแปลงไปของประเทศพัฒนาแล้ว ทั้งธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และธนาคารกลางอื่นๆ ที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต ซึ่งความเป็นห่วงนี้ กนง.ได้สั่งให้ ธปท.ดูแลมาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม กรณีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นตลาดได้ทำความเข้าใจ และรับรู้มาอย่างต่อเนื่อง”

ทั้งนี้ จะมีการทบทวนตัวเลขเศรษฐกิจอีกครั้งในการประชุม กนง.ครั้งต่อไป หรือในวันที่ 16 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ นายจาตุรงค์ ยังกล่าวถึงแรงกดดันเงินเฟ้อด้วยว่า ทรงตัว อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบต่อเนื่องตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลงต่อเนื่อง โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้จะติดลบ แต่ กนง.ประเมินว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะทยอยปรับสูงขึ้น และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปีหน้า ขณะที่ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด เนื่องจากยังเห็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ขยายตัวเป็นบวก
กำลังโหลดความคิดเห็น