ผู้ว่าการ ธปท. คาดเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่ยังไม่สมดุล โดยมีภาคท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้น ศก.ภาครัฐ เป็นแรงส่ง แนะจับตาภัยแล้งกระทบต่อรายได้ประชาชนในต่างจังหวัด
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยปี 2559 มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แต่อาจจะกระจายไม่สมดุล โดยต่างจังหวัดต้องระวังความเสี่ยงจากปัญหาภัยแล้ง ซึ่งมีผลทำให้ราคาสินค้าเกษตรอยู่ในระดับต่ำ กระทบรายได้ของเกษตรกร และประชาชนในต่างจังหวัด ขณะที่หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง อาจฉุดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในประเทศไม่ให้ฟื้นตัวเร็ว
อย่างไรก็ตาม มองว่า เศรษฐกิจไทยปีหน้ายังมีแรงส่งจากการลงทุนภาครัฐและการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งจะเห็นผลชัดเจนในปีหน้า ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวแม้ว่าไตรมาส 3 จะชะลอตัวลงไปบ้างแต่ยังมีศักยภาพสูงมาก ซึ่งจะเป็นแรงส่งอีกตัวหนึ่งต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม
“คาดว่าในปีหน้า เศรษฐกิจภายในประเทศจะมีแรงส่งที่สำคัญมาจากนโยบายของภาครัฐ เช่น มาตรการด้านการคลัง ที่ออกมาช่วยเยียวยากลุ่มต่างๆ อาทิ มาตรการกระตุ้นการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ซึ่งหากเดินหน้าไปได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยวก็ยังถือว่ามีศักยภาพดีในการที่จะช่วยเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เช่นกันในปีหน้า
ขณะเดียวกัน ก็ต้องจับตาการดำเนินนโยบายทางการเงินของประเทศหลักๆ ที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมาก เช่น ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่มีแนวโน้มในเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป และธนาคารกลางญี่ปุ่น มีแนวโน้มจะผ่อนคลายนโยบายทางการเงินมากขึ้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ถือว่าเป็นการสร้างความผันผวนในตลาดเงินที่ต้องระมัดระวัง
ผู้ว่าฯ ธปท.ยังมั่นใจว่า ประเทศไทยมีเสถียรภาพด้านต่างประเทศในระดับสูงพอที่จะรองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศในปี 2559 ตามที่คาดว่าจะมีความผันผวนมากกว่าปีนี้ได้ เนื่องจากไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศค่อนข้างสูง ขณะที่มีหนี้ต่างประเทศและหนี้ระยะสั้นยังอยู่ในระดับต่ำ
นอกจากนี้ สัดส่วนการถือครองพันธบัตรรัฐบาลของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย อิโดนีเซีย ดังนั้น หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เงินทุนก็จะไม่ไหลออก และคาดว่าไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดถึง 23,000-25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากการนำเข้าน้ำมันมีมูลค่าน้อยลงตามราคาน้ำมันที่ลดลง