xs
xsm
sm
md
lg

ประกันชีวิตปีลิงไฟโตร้อยละ 9 กวาดเบี้ยรวม 5.85 แสนล้าน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สมาคมประกันชีวิตคาดปีลิงไฟเบี้ยรับรวมโตร้อยละ 9 หรือมีเบี้ยรับรวมทั้งระบบประมาณ 5.85 แสนล้านบาท มั่นใจทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจมีปัจจัยหนุนเพียบ พร้อมระบุปีที่ผ่านมาโตไม่มากเหตุเศรษฐกิจไทยชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือน แต่ปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะปรับตัวดีขึ้นจากนโยบายของภาครัฐ

นายสาระ ล่ำซำ ในฐานะนายกสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ในปี 2559 คาดว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมของธุรกิจประกันชีวิตจะขยายตัวได้มากกว่าปี 2558 โดยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณร้อยละ 9 เบี้ยประกันภัยรับรวมประมาณ 585,700 ล้านบาท ทั้งนี้ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายของภาครัฐ และจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบเร่งด่วน อาจส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อประกันชีวิตมากขึ้น ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนจากภาครัฐและภาคธุรกิจเป็นส่วนสำคัญ

ขณะที่เศรษฐกิจไทยในปี 2559 สำนักงานเศรษฐกิจการคลังคาดว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.2-4.2) โดยได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการของภาครัฐ เช่น โครงการเพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานรากตามแนวประชารัฐ การลงทุนของภาครัฐที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนยกระดับโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่ง และราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้แรงกดดันด้านต้นทุนลดลง ซึ่งสนับสนุนอำนาจซื้อของประชาชนและภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี ความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง และปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรยังคงตกต่ำ ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

ส่วนภาพรวมของธุรกิจในปีที่ผ่านมา พบว่าเบี้ยประกันภัยรับรวมปี 2558 มีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมาก เมื่อเทียบกับปี 2557 ที่มีอัตราการเติบโตสูงถึง 13.9 เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันชะลอตัวจากปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน อัตราค่าครองชีพที่สูงขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง ทำให้เบี้ยประกันภัยรับปีแรกลดต่ำลง อีกประการหนึ่งคือ บริษัทประกันชีวิตหลายบริษัทได้ปรับลดนโยบายการขายผลิตภัณฑ์แบบชำระครั้งเดียวลง ทำให้เบี้ยประกันภัยจ่ายครั้งเดียวมีอัตราการเติบโตลดลง สำหรับปัจจัยภายในมาจากอัตราการคงอยู่ของกรมธรรม์ฯ ลดต่ำลง เนื่องจากมีกรมธรรม์ฯ ที่ครบกำหนดชำระแต่ยังคงมีความคุ้มครองอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้เบี้ยประกันภัยรับปีต่อไปลดลง

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมาช่องทางการขายผ่านตัวแทนประกันชีวิต (Agency) ยังคงเป็นช่องทางหลักและช่องทางสำคัญสำหรับการขายประกันชีวิต ณ สิ้นปี 2558 โดยมีสัดส่วนการขายผ่านช่องทางนี้มากเป็นอันดับหนึ่ง คิดเป็นร้อยละ 51.1 มีเบี้ยประกันภัยรับรวมจำนวน 274,763.1 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 5.7 อันดับสองเป็นช่องทางการขายผ่านธนาคารพาณิชย์ หรือ Bancassurance สัดส่วนการขายอยู่ที่ร้อยละ 42.5 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 228,581.8 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 8.4 อันดับสามเป็นช่องทางการขายผ่านการตลาดแบบตรง (Direct Marketing) มีสัดส่วนร้อยละ 2.9 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 15,663.3 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 2.8 และช่องทางอื่นๆ (Other) อีกร้อยละ 3.4 มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 18,500.9 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตร้อยละ 4.5 ตามลำดับ

นายสาระกล่าวอีกว่า ปัจจัยหนุนของธุรกิจประกันชีวิตในปี 2559 นั้นจะมาจากทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจซึ่งประกอบด้วย (1) ปัจจัยส่งเสริมจากภาครัฐ โดยจะมีการปรับปรุงหรือการออกกฎระเบียบต่างๆ ให้รองรับสถานการณ์ในปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้ได้กฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นเอื้ออำนวยต่อการดำเนินงานของธุรกิจประกันชีวิตไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมาย (Customer Segment) รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้เอาประกันภัยนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ส่วนบุคคลได้ ถือว่ายังคงเป็นแรงดึงดูดใจสำคัญในการทำให้ประชาชนหันมาให้ความสนใจในการทำประกันชีวิตมากขึ้น

ขณะที่ (2) ปัจจัยส่งเสริมจากภาคธุรกิจ จะแบ่งออกเป็น (2.1) การส่งเสริมและสนับสนุนให้ความรู้ด้านการประกันชีวิตแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบที่หลากหลาย โดยเฉพาะการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ที่เน้นการเข้าถึงประชาชนได้สะดวกและรวดเร็ว (2.2) การแข่งขันและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้หลากหลายตรงตามความต้องการของประชาชน

(2.3) การพัฒนาช่องทางการจำหน่ายให้หลากหลาย นอกเหนือจากการจำหน่ายผ่านตัวแทนฯ เช่น การขายผ่านธนาคาร การขาย Direct Marketing (Tele + Post office) การขายผ่านทางอินเทอร์เน็ต การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น พร้อมทั้งพัฒนารูปแบบการให้บริการให้ทันสมัย สะดวกสบาย และสร้างความประทับใจในการใช้บริการ เพื่อรองรับ Life Style ของลูกค้าแต่ละราย เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มพฤติกรรมลูกค้ามีความหลากหลายมากขึ้น เพราะปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจสาธารณสุข รวมทั้งปัจจัยหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไป

(2.4) การขยายฐานการลงทุนในประเทศกลุ่มอาเซียน เพื่อรองรับการเปิด AEC และนอกอาเซียน ทั้งอาเซียน+3 และอาเซียน+6 ในรูปแบบสำนักงานผู้แทนร่วมทุน (Joint Venture) การเปิดสาขา (Branch) หรือการยื่นขอ License ซึ่งจะต้องพิจารณาจากกฎหมายของประเทศนั้นๆ ประกอบการเข้าไปลงทุน(2.5) การพัฒนาระบบการทำธุรกรรมประกันชีวิตผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Life Insurance) ให้ครอบคลุมในทุกขั้นตอนของการประกันชีวิต ตั้งแต่กระบวนการเสนอขายกรมธรรม์ประกันชีวิต จนถึงกระบวนการบริการหลังการขาย เพื่อลดขั้นตอนและความยุ่งยากในกระบวนการขาย และตอบโจทย์สังคมในยุคดิจิตอล

(2.6) การพัฒนาคุณภาพช่องทางการขาย ไม่ว่าจะเป็นช่องทางตัวแทนประกันชีวิต ช่องทาง Broker ฯลฯ ให้มีความเป็นเลิศเทียบเท่าระดับสากล โดยการมุ่งเน้นความเป็นมืออาชีพอย่างเข้มข้น มีความรู้อย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับการให้บริการ การนำเสนอขาย รวมถึงความรู้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น Investment Linked Product ที่กำลังพัฒนามากขึ้นในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น