xs
xsm
sm
md
lg

ทวนภาพเศรษฐกิจรอบสัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา YTD ดัชนี Dow Jones ปรับตัวลดลง -8.67% ดัชนี DAX(เยอรมนี) ปรับลดลง -16.06% ดัชนี NIKKIE ปรับลดลง -17.44% บ่งชี้ได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวนพอสมควร โดยส่วนใหญ่มาจากปัจจัยต่างประเทศในแถบเศรษฐกิจประเทศหลัก อาทิ ความกังวลว่า Deutsche Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่จากประเทศเยอรมนีจะงดจ่ายดอกเบี้ยของหุ้นกู้แปลงสภาพชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า Contingent Convertible Bond (หรือ CoCo) และความกังวลลุกลามไปยังตลาดตราสารหนี้ทั้งยุโรป และทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธนาคารอื่นๆ สูงขึ้นตามไปด้วย

จากประเด็นดังกล่าว ผมมองว่า ปัญหาของภาคธนาคารพาณิชย์ในยุโรปมีมาอย่างต่อเนื่อง และความกังวลที่เกิดขึ้นล่าสุดตลาดก็มีการรับรู้มาบ้างแล้ว อีกทั้งผมมองว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ประเด็นใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มประเทศยูโรโซนก็มีปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจมาตลอด เพียงช่วงนี้เป็นประเด็นที่นักลงทุนให้ความสนใจ เพราะตัวเลขเบี้ยประกันการผิดนัดชำระหนี้ หรือ Credit Default Swap (CDS) ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจพลังงานที่ได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

ส่วนหนึ่งผมมองว่าเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีก็มีความแข็งแกร่ง ดังนั้น หากธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ภายในประเทศของตนจะประสบปัญหาสภาพคล่อง ผมมองว่าภาครัฐบาลจะมีศักยภาพในการช่วยเหลือเพื่อประคองสถานะทางการเงินได้ ประกอบกับผลการดำเนินงานที่ลดลงของ Deutsche Bank นั้นเป็นเพราะการปรับโครงสร้างทางการเงินครั้งใหญ่ของธนาคารเท่านั้น แต่หากพิจารณาในฐานะทางการเงิน ปัจจุบัน Deutsche Bank ยังมีเงินกองทุนเพียงพอ และตามการแถลงการณ์ยืนยันว่าธนาคารยังมีเงินกองทุนเพียงพอที่จะจ่ายให้ผู้ลงทุน (Available Distributable Item : ADI) จำนวน 1 พันล้านยูโร ในปี 2016 มากเพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยของ CoCo จำนวน 350 ล้านยูโรซึ่งจะมีกำหนดจ่ายในเดือนเมษายน

ขณะเดียวกัน ฟากของประเทศเศรษฐกิจหลักอย่างเช่นสหรัฐอเมริกาก็มีความเคลื่อนไหวเช่นกัน โดยทางธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงยืนยันแผนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ต่อไป แต่มีแนวโน้มส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นในการชะลอปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในปัจจุบันเทียบกับการประชุม Fed ในเดือนธันวาคมและหลังจากที่มีเหตุการณ์ความผันผวนในตลาดหุ้นยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบไปยังตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยตลาดคาดว่าในปีนี้ Fed จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เพียง 0.50% ในปี 2016

จากปัจจัยภายนอกประเทศที่เกิดขึ้นในขณะนี้ หากมองในแง่ของการลงทุน ผมมองว่าเป็นโอกาสที่ดีต่อการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญในรอบนี้คือ ถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเฟดเดือนมีนาคมนี้ โดยประเด็นที่ต้องติดตามถัดจากนี้ คือการไหลกลับของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากที่ผ่านมานักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชีย โดยนับจากต้นปีที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ผมมองว่าเป็นความกังวลสำหรับผู้ลงทุนมากกว่าเป็นปัญหาใหม่ที่จะสามารถขยายวงกว้างถึงขั้นวิกฤตเศรษฐกิจ หรือสร้างภาวะการถดถอยให้กับภาวะเศรษฐกิจโลกได้ ในขณะที่ท่าทีของเฟดก็มีความผ่อนคลายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น ซึ่งก็เป็นผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนในตลาด EM ในภาวะที่ยังมีเงินในระบบเศรษฐกิจจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักที่พร้อมจะไหลกลับมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะตลาดที่ยังมีศักยภาพและราคาไม่สูงมากนัก

ผมยังคงคำแนะนำการลงทุนเดิมด้วยการจัดสรรเงินลงทุนในประเทศ 50% แบ่งเป็นการลงทุนในหุ้นไทย 20% กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) 20% และอีก 10% เป็นตราสารหนี้ และคงน้ำหนักการลงทุนในตลาดต่างประเทศ 50% โดยการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 20-25% เช่น ประเทศในกลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และอาเซียน ลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และ REIT ทั่วโลกประมาณ 20% และลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประมาณ 5-10%

•ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน

• ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต


กำลังโหลดความคิดเห็น