โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
ภาพการลงทุนในตลาดยูโรโซนเริ่มชัดเจนขึ้นหลังจากธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณแสดงความพร้อมที่จะดำเนินมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอีกครั้ง โดยก่อนหน้านี้ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมาอีซีบีเคยดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และยืดอายุโครงการเข้าซื้อพันธบัตร ซึ่งทางอีซีบีได้ย้ำมาตลอดว่าพร้อมใช้เครื่องมืออื่นๆ เพื่อกระตุ้นเงินเฟ้อ โดยตลาดคาดการณ์กันว่าทางอีซีบีอาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง หรืออาจจะมีมาตรการกระตุ้นเงินเฟ้อในประเทศอื่นๆ เพิ่มเติมในการประชุมเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งทำให้ผมมั่นใจว่ายังสามารถสร้างโอกาสลงทุนได้ โดยเฉพาะในแถบยูโรโซน
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาผมมองว่าเศรษฐกิจยูโรโซนค่อยๆ ฟื้นตัวดีขึ้น เพราะทางการของยูโรโซนได้พยายามลดความคาดหวังการพึ่งพาการส่งออก จากความต้องการสินค้าที่ลดน้อยลงและหันมากระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก ซึ่งการฟื้นตัวของภาคการบริโภคจะเป็นปัจจัยที่ตลาดให้ความหวังในแง่ผลสะท้อนจากการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐผ่านนโยบายการเงินและการคลังอย่างต่อเนื่อง อาทิ การปรับลดอัตราภาษีในการดำเนินธุรกิจและผู้ที่มีรายได้ต่ำในบางประเทศในกลุ่มยูโรโซน
นอกจากนี้ ผมมองว่ายูโรโซนก็มีปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในประเทศกลุ่มสมาชิก ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมานานและเป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดปัญหาในกลุ่มประเทศยูโรโซน อาทิ ปัญหาเกี่ยวกับสวัสดิการของแรงงานเกษียณอายุของประเทศกรีซ ซึ่งผูกพันเป็นภาระของภาครัฐทำให้ขาดสภาพคล่องในการชำระหนี้ แต่ปัจจุบันนี้ทางการของกลุ่มยูโรโซนได้ดำเนินมาตรการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนควบคู่กับการกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านโครงสร้างของสภาพเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศฯ ให้ดีขึ้น อาทิ ประเทศฝรั่งเศสมีมาตรการปฏิรูปการเกษียณอายุ จากเดิมเกษียณอายุที่ 60 ปี ก็ขยายเวลาเป็น 62 ปี วัตถุประสงค์คือ เพื่อลดช่องว่างกลุ่มแรงงานภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งลดภาระงบประมาณของภาครัฐในการเลี้ยงดูผู้เกษียณอายุ (Social Security System)
ด้านประเทศอิตาลีเริ่มมีมาตรการปฏิรูปด้านการคลัง ตั้งเป้าหมายลดภาษีลง 45 พันล้านยูโรภายใน 3 ปีข้างหน้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย และทวงคืนภาษีที่ถูกฉ้อโกงจำนวน 14 พันล้านยูโรในปี 2014 ให้กลับคืนภาครัฐ รวมถึงปฏิรูปรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากปฏิรูปโครงสร้างกิจการไฟฟ้า รวมทั้งปฏิรูประบบการลงคะแนนของสภาเพื่อลดอำนาจด้านวุฒิสภาลง และจากการปฏิรูปดังกล่าวข้างต้น ผมมองว่าเป็นความพยายามสร้างความยั่งยืนให้กับระบบโครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่บกพร่องในอดีตให้ดีขึ้นในระยะยาว
สำหรับภาคการลงทุนนั้น การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินผ่านนโยบายอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำจะเป็นปัจจัยสนับสนุนหลัก ซึ่งส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นให้ยังคงความน่าสนใจจากการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินต่างประเทศ โดยปีนี้มองว่าตลาดหุ้นยุโรปเติบโตได้ดีจากรายได้บริษัทจดทะเบียน ซึ่งคาดการณ์การเติบโตของกำไรของบริษัทจดทะเบียนยูโรโซนในปีนี้ในระดับประมาณ 11% อีกทั้งหากพิจารณาในส่วนของมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นยุโรป พบว่าอัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรสุทธิ (P/E ratio) ซึ่งสะท้อนจาก 1Y Forward PE ยังอยู่ในระดับต่ำที่ระดับประมาณ 12 เท่า
ขณะที่อัตราเงินปันผลอยู่ในระดับสูงประมาณ 4-5% โดยหากเทียบกับตลาดหุ้นประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาที่กำไรบริษัทจดทะเบียนของสหรัฐอเมริกามีการเติบโตค่อนข้างมากในช่วงที่ผ่านมาจึงคาดว่าอัตราการเติบโตในปีนี้จะน้อยมาก ดังนั้นทำให้ตลาดหุ้นยุโรปมีความน่าสนใจมากกว่าโดยเปรียบเทียบกัน นอกจากนี้ หากพิจารณาในเชิงคุณภาพของบริษัทจดทะเบียน ผมมองว่าบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในยูโรโซนก็เป็นที่ยอมรับและมีการนำเข้าในตลาดโลกพอสมควร เช่น ธุรกิจยา อาหารเสริม ซึ่งจะส่งผลดีจากค่าเงินยูโรที่อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี ภาพการลงทุนปีนี้จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ตลาดหุ้นทั่วโลกมีความผันผวน ดังนั้น โอกาสในการหาจังหวะที่เข้าลงทุนที่เหมาะสมก็มีความยากขึ้นตามลำดับ โดยกลยุทธ์ที่ผมแนะนำในปีนี้ คือ การพิจารณาเลือกลงทุนในหุ้นที่ปัจจัยพื้นฐานที่ดี และมีโอกาสการเติบโตที่สูง เพราะหากเข้าลงทุนในจังหวะที่ผิดพลาด อย่างน้อยที่สุดเมื่อบรรยากาศการลงทุนกลับคืนมาหุ้นในประเภทนี้จะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยและมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว
ทั้งนี้ สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจการลงทุนในตลาดหุ้นต่างประเทศ และสามารถยอมรับความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ ผมยังมีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นยุโรป เพราะยังมีสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจและมาตรการผ่อนคลายทางการเงินที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคการลงทุนแถบยูโรโซนครับ
•ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
• ผลการดำเนินงานในอดีตของกองทุนรวมไม่ได้เป็นสิ่งยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต