xs
xsm
sm
md
lg

ชมผลตอบแทนกองทุนรวมที่ยัง “สตรอง” และน่าลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กองทุนรวมไทยปี 58 เจอปัจจัยกระทบหนัก เติบโตเพียง 6.67% กองทุนต่างประเทศเติบโตสูงถึง 51% และยังให้ผลตอบแทนสูง ในกลุ่มหุ้น Global Health care, ญี่ปุ่น, ยุโรป ส่วนหุ้นไทยติดลบ

นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในปี 2558 ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมกองทุนรวมมีมูลค่าทรัพย์สินอยู่ที่ 4.063 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นจากปีก่อนหน้า 6.67% โดยกองทุนรวมไทยมีเงินไหลเข้า 300,000 ล้านบาท แต่การลงทุนในตลาดหุ้นที่มีความผันผวนทำให้เงินที่ไหลเข้าส่วนใหญ่ไปอยู่ในกองทุนประเภทความเสี่ยงต่ำ อย่างกองทุนตลาดเงิน กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น และกองทุนตราสารหนี้ระยะกลางถึงยาว

ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมากองทุนที่มีการเติบโตสูงคือการลงทุนต่างประเทศมีสินทรัพย์อยู่ที่ 334,584 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้น 51% จากปีก่อนหน้า มีกองทุนออกใหม่ 77 กองทุน ทำให้ปัจจุบันกองทุนทั้งหมด 332 กองทุน และมี 15 ประเภทสินทรัพย์ให้เลือกลงทุน ทำให้อุตสาหกรรมกองทุนรวมในไทยมีความหลากหลายเทียบเท่ากับกองทุนรวมต่างประเทศ

“กองทุนต่างประเทศที่มีเงินไหลเข้ามากที่สุดคือ กองทุนหุ้นกลุ่ม Global Health care ที่มีเงินใหม่ไหลเข้าสูงสุดในกลุ่มนี้ 47,916 ล้านบาท รองลงมาเป็นญี่ปุ่น 21,542 ล้านบาท จีน 17,527 ล้านบาท และยุโรป 16,117 ล้านบาท ขณะที่กองทุนประเภทเทอมฟันด์ ทั้งแบบปกติและแบบ High Yield Bond เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง โดยมีเงินไหลออกจากกลุ่มดังกล่าวรวมกว่า 313,512 ล้านบาท เป็นเพราะผลตอบแทนไม่เป็นที่น่าจูงใจ อีกทั้งเรื่องของสภาพคล่องที่ด้อยกว่ากองทุนตราสารหนี้แบบปกติเป็นอีกหนึ่งปัจจัย"

สำหรับภาพรวมผลตอบแทนค่าเฉลี่ย พบว่ากองทุนกลุ่ม Healthcare ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงสุดที่ 12.42% ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนหุ้นญี่ปุ่น เฉลี่ย 11.99% และกลุ่มหุ้นยุโรป ที่ทำได้เฉลี่ย 10.51% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น ส่วนตลาดหุ้นไทย กลุ่มกองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กให้ผลตอบแทน -4.1% และหุ้นขนาดใหญ่ -9.08% แต่กลุ่ม Property Indirect ที่เน้นลงทุนหุ้นอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 8.56%

ส่วนกลุ่มที่เน้นลงทุนในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาและตลาดเกิดใหม่นั้นผลตอบแทนยังคงผันผวนและให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้งสิ้น โดยกลุ่ม Emerging Market Equity นั้นมีผลตอบแทนเฉลี่ยที่ -11.49% กลุ่ม China Equity หรือหุ้นจีนนั้นก็มีผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบ -4.34% และกลุ่ม Asia Pacific ex-Japan ก็เช่นกันที่เฉลี่ย -2.52%

ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้นั้นถึงแม้ว่าจะดูปลอดภัยแต่ผลตอบแทนเฉลี่ยก็ต่ำลงเช่นเดียวกัน โดยกลุ่ม Money Market ทำได้เฉลี่ยที่ 1.49% กลุ่มกองทุนตราสารหนี้ทั้ง Short Term Bond และ Mid/Long Term Bond ที่ 2.22% และ 2.49% ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 กลุ่มต่างทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้ลดน้อยลงกว่าในอดีตที่ผ่านมาทั้งสิ้น เช่นเดียวกับกลุ่มตราสารหนี้ที่ลงทุนในต่างประเทศที่แย่ถึงขั้นผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบเลยทีเดียว

“ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่องทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมาถึง -40.28% เรียกว่าลงทุน 100 บาทเหลือ 60 บาทกันเลยทีเดียว ส่วนกองทุนทองคำนั้นก็ยังคงผันผวนทำผลตอบแทนได้ที่ -7.42%”

นายกิตติคุณ กล่าวต่อว่า ส่วนกองทุนหุ้นไทย (ไม่นับรวม LTF และ RMF) ได้รับผลกระทบอย่างมากโดยตรงจากตลาดหุ้นไทยที่ผันผวนในช่วงครึ่งปีหลัง ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมลดลง -10.33% มาอยู่ที่ 158,476 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีที่มูลค่าทรัพย์สินในกลุ่มนี้โตติดลบ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าสุทธิตลอดทั้งปี 6,680 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มหุ้นขนาดเล็กยังได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่กองทุน Trigger fund ปี 2558 ที่ผ่านมาเป็นการเน้นการลงทุนไปยังตลาดหุ้นต่างประเทศ เช่น หุ้นญี่ปุ่น หุ้นจีน หุ้นเอเชีย และหุ้นยุโรป เป็นต้น โดยมีทั้งสิ้น 59 กองทุน ขณะที่เน้นลงทุนหุ้นไทย 29 กองทุน และลงทุนน้ำมัน 15 กองทุน แต่มีเพียง 29 กองทุนเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย

“แนวโน้มอุตสาหกรรมกองทุนไทยในปีนี้มองว่า หากตลาดหุ้นยังมีความผันผวนทำให้มูลค่าทรัพย์สินลดลง อีกทั้งไม่มีเงินลงทุนใหม่เข้าก็อาจทำให้การเติบโตของอุตสาหกรรมในปีนี้ไม่สูงถึงระดับตัวเลข 2 หลักได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น