มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช เผยผลตอบแทน 9 เดือนของปี 2558 กลุ่ม Property Indirect ผลตอบแทนเฉลี่ย 6.84% ตามด้วย กองทุนหุ้นยุโรปให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.62% ส่วนกลุ่ม Health Care อยู่ที่ 4.27%
นายกิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ นักวิเคราะห์กองทุน บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวถึงผลตอบแทนกองทุนในไตรมาสที่ 3 ว่า มีเพียง 4 กลุ่มที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวก ได้แก่ กองทุน Money Market ที่ 0.31% กลุ่มตราสารหนี้ (เทอมฟันด์) ที่ 0.39% กองทุนตราสารหนี้ 0.07% ในขณะที่กลุ่ม Property Indirect ที่เน้นลงทุนอสังหาริมทรัพย์และกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย 0.54% ขณะที่กลุ่มที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้น้อยที่สุดได้แก่ กลุ่มกองทุนหุ้นจีน -20.55% ตามด้วยกองทุนน้ำมันที่ -19.72% และกลุ่มหุ้นตลาดเกิดใหม่ที่ -13.65%
อย่างไรก็ตาม เมื่อดูผลตอบแทนของกองทุนทั้งปีนั้นจะพบว่ามีเพียง 8 กลุ่มกองทุนเท่านั้นที่ยังมีผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกอยู่ ซึ่งกลุ่มกองทุนที่สามารถทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงสุดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ได้แก่ กลุ่ม Property Indirect ที่ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.84% ตามมาด้วยกองทุนหุ้นยุโรป ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีในช่วงครึ่งปีแรกมาช่วยทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 4.62% ขณะที่กลุ่ม Health Care ได้รับผลกระทบมากเช่นกัน ส่งผลให้ผลตอบแทนเฉลี่ยเหลือเพียง 4.27% ส่วนกลุ่มกองทุนหุ้นญี่ปุ่น ที่ทำผลตอบแทนเฉลี่ยได้สูงสุดในช่วงครึ่งปีแรกนั้นปัจจุบันเหลือผลตอบแทนเฉลี่ยเพียง 2.04% ส่วนผลตอบแทนของหุ้นไทยในกลุ่มหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กในช่วง 9 เดือนอยู่ที่ -4.81% ส่วนกองทุนหุ้นขนาดใหญ่อยู่ที่ -7.81%
สำหรับผลตอบแทนของกองทุนในกลุ่มตราสารหนี้นั้น กลุ่มเทอมฟันด์ทำผลตอบแทนเฉลี่ยเป็นบวกที่ 1.73% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวสร้างผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.58% ขณะที่กลุ่ม Global Bond และกลุ่ม Emerging Market Bond นั้นผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบทั้ง 2 กลุ่มที่ -1.68% และ -6.64% ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันได้รับผลกระทบโดยตรงจากราคาน้ำมันโลกที่ตกลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยติดลบมาถึง -24.03% ส่วนกองทุนทองคำนั้นยังคงผันผวนทำให้ผลตอบแทนอยู่ที่ -3.79%
ขณะที่กองทุน LTF และ RMF ก็ได้รับผลกระทบจากความผัวผวนของตลาดหุ้นไทย ส่งผลให้กองทุน LTF มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิอยู่ที่ 253,420 ล้านบาท ลดลง -6.49% ขณะที่ RMF โตเพียงเล็กน้อยที่ 0.19% มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิอยู่ที่ 167,021 ล้านบาท โดยนักลงทุนบางส่วนได้ทยอยเข้าลงทุนกองทุน LTF-RMF ในช่วงที่ตลาดผันผวน ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่สูงมากเป็นประวัติการณ์ โดย LTF มีเงินลงทุนไหลเข้าในไตรมาส 3 กว่า 10,766 ล้านบาท ขณะที่ RMF มีเม็ดเงินไหลเข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกันที่ 4,420 ล้านบาท โดยคาดว่ายังมีเม็ดเงินอีกกว่า 30,000 ล้านบาทในส่วนของกองทุน LTF และอีกกว่า 15,000 ล้านบาทในส่วนของกองทุน RMF ที่ยังรอการเข้าลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้อีกด้วย
นายกิตติคุณ กล่าวต่อว่า ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมสุทธิประมาณ 500,000 ล้านบาท โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งส่งผลให้กองทุนตลาดเงิน หรือ Money Market มีเม็ดเงินไหลเข้าไปลงทุนกว่า 169,463 ล้านบาท กองทุนตราสารหนี้แบบเทอมฟันด์ 125,967 ล้านบาท กองทุนตราสารหนี้ระยะกลางและระยะยาวมีเม็ดเงินเข้าไปลงทุน 104,480 ล้านบาท ขณะที่กองทุน High Yield Bond ที่ลงทุนในต่างประเทศที่ยังมีเงินไหลเข้ามาลงทุน 100,576 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการสลับเปลี่ยนจากการลงทุนจากกองทุนเทอมฟันด์
สำหรับกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (ไม่รวมกองทุน Term Fund) มีเงินลงทุนไหลออกนอกประเทศกว่า 107,473 ล้านบาท โดยกลุ่มกองทุนที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ลงทุนคือ กองทุน Healthcare ซึ่ง ณ ปัจจุบันมีเปิดดำเนินการทั้งสิ้น 17 กองทุนทั้งแบบกองทุนเปิดธรรมดาและเป็นกองทุน RMF มีเงินลงทุนไหลเข้ากลุ่มนี้กว่า 38,575 ล้านบาท ทำให้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิรวมกว่า 53,897 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มกองทุนหุ้นญี่ปุ่น มีเงินไหลเข้าลงทุนกว่า 23,710 ล้านบาท และกองทุนหุ้นจีนมีเงินไหลเข้าลงทุนกว่า 17,316 ล้านบาท
Trigger fund ปีนี้ยังเหนื่อย
นายกิตติคุณ กล่าวต่อว่า บลจ.ยังคงทยอยออก Trigger fund อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 3 นี้ โดยใช้โอกาสในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับลดลงนี้ออกกองทุนใหม่ทั้งสิ้น 27 กองทุน แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุน โดยทำยอด IPO ได้เพียง 5,777 ล้านบาท เฉลี่ยต่อกองทุนเพียง 200 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเมื่อต้นปีกว่า 60% ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งคงเป็นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมีเงินลงทุนติดอยู่กับกอง Trigger fund กองเก่าที่ออกมาตั้งแต่ช่วงครึ่งแรกของปี สิ้นไตรมาส 3 นี้มีกอง Trigger fund เปิดเสนอขายแล้วทั้งสิ้น 96 กองทุน ดึงเงินลงทุนได้ 35,777 ล้านบาท แบ่งเป็น Trigger Fund ลงทุนหุ้นต่างประเทศ 57 กองทุน ลงทุนหุ้นไทย 26 กองทุน ลงทุนในน้ำมัน 13 กองทุน ทั้งนี้ มีเพียง 25 กองทุนเท่านั้นที่สามารถทำผลตอบแทนได้ตามเป้าหมาย