xs
xsm
sm
md
lg

“RMF-LTF-ประกันชีวิตแบบบำนาญ” ประโยชน์ที่ได้มากกว่าการลดหย่อนภาษี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ บัวหลวง Money Tips
โดย พนิต ปัญญาบดีกุล CFP®
กองทุนบัวหลวง

Retirement Mutual Fund (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เกิดขึ้นมาในปี 2544 แต่ในช่วงแรกยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากมีข้อจำกัดอยู่พอสมควร และความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนก็ยังอยู่ในวงจำกัดเช่นกัน หลังจากนั้นประมาณ 3 ปี Long-Term Equity Fund (LTF) หรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาว ก็ถือกำเนิดตามมา เมื่อพูดถึง RMF และ LTF ผู้ลงทุนทราบดีว่าเป็นกองทุนที่ช่วยในการลดหย่อนหรือประหยัดภาษี

ดังนั้นจึงขอทบทวนรายละเอียดของทั้ง 2 กองทุน และประโยชน์ที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนใน RMF และ LTF ที่สำคัญมากกว่าสิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว

กองทุน RMF เป็นกองทุนที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนและสร้างวินัยให้คนเก็บออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณ หรือในวัยที่พ้นจากการทำงานและไม่มีรายได้ประจำแล้ว ดังนั้นจึงเป็นกองทุนที่มีผลต่อเนื่องในระยะยาว ไม่มีการจ่ายปันผลใดๆ คืน ต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี (เว้นได้ 1 ปี แต่ห้ามเกิน 2 ปี) และห้ามขายคืนก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ มีนโยบายการลงทุนหลากหลายประเภท เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเลือกและจัดสรรการลงทุนให้เหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่รับได้ และสามารถโอนย้ายระหว่างกองทุนทั้งในบริษัทหลักทรัพย์จัดการเดียวกันหรือต่างกันได้ เพื่อปรับพอร์ตการลงทุนของตนเองเมื่อเวลาผ่านไป

กองทุน LTF เป็นกองทุนที่ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้นจดทะเบียนในตลาดรอง เช่น SET mai ทำให้ตลาดทุนมีการพัฒนาและมีเสถียรภาพเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามจุดประสงค์ดังกล่าวอาจจะไกลตัวเราที่เป็นประชาชนทั่วไป ดังนั้นอยากให้มองจุดประสงค์ที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ กองทุนนี้ช่วยให้คนไทยรู้จักการลงทุนระยะยาวในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มขึ้น มีโอกาสได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการลงทุนในระยะยาว ทำให้เกิดการเรียนรู้และไม่กลัวการลงทุนมากเหมือนในอดีต

ด้วยจุดประสงค์ดังกล่าวทำให้ LTF มีนโยบายเน้นลงทุนในหุ้นจดทะเบียน จะมีการจ่ายปันผลหรือไม่ก็ได้ และผู้ลงทุนต้องลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทินในแต่ละก้อนที่ลงทุน (นับปีที่ลงทุนและปีที่ขายคืนด้วย) จากเดิม LTF มีอายุประมาณ 10 ปี นับตั้งแต่ปีแรกที่ตั้งขึ้น และกำลังจะสิ้นสุดลงในปี 2559 แต่ล่าสุด ครม.ได้มีมติต่ออายุสิทธิประโยชน์ทางภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไปอีก 3 ปี จนสิ้นสุดปี 2562 รวมทั้งเปลี่ยนแปลงระยะเวลาในการถือหน่วยลงทุนจากไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน เป็นไม่น้อยกว่า 7 ปีปฏิทิน ตามรายละเอียดเงื่อนไของสรรพากร

มูลค่าทรัพย์สินสุทธิกองทุนรวม RMF และกองทุนรวม LTF ปี 2545-2558 มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ประกันชีวิตบำนาญแบบลดหย่อนภาษีได้ เป็นอีกผลิตภัณฑ์หนึ่งที่ในปี 2554 สรรพากรได้ส่งเสริมการออมระยะยาวให้กับคนไทยเพื่อความมั่นคงในการดำรงชีพหลังเกษียณอายุจากการทำงาน และช่วยให้มีเงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญนี้จึงมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ไม่มีการจ่ายปันผลประโยชน์เงินคืนอื่นใดก่อนที่จะรับเงินบำนาญ (ยกเว้นกรณีเสียชีวิต) โดยที่จะสามารถรับเงินบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปีขึ้นไปจนถึงอายุไม่ต่ำกว่า 85 ปี และต้องกำหนดการจ่ายผลประโยชน์เงินบำนาญเป็นรายงวดอย่างสม่ำเสมอ เช่น รายปี รายเดือน เป็นต้น

มากกว่าประโยชน์ทางภาษี ถึงแม้ว่าเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีจะเป็นสิ่งจูงใจให้หลายๆ ท่านซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินดังกล่าว แต่จากจุดประสงค์หลักและประโยชน์ของทั้ง RMF LTF และประกันชีวิตแบบบำนาญ ถือว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่า อยากจะให้พิจารณาข้อมูลจากฝ่ายวิจัยสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในเรื่องสาเหตุของความกังวลใจในการใช้ชีวิตหลังเกษียณของคนไทย จะเห็นได้ว่าร้อยละ 51 จะมีเงินออมไม่เพียงพอหลังเกษียณ และไม่สามารถพึ่งพาลูกหลานได้ถึงร้อยละ 32

สัดส่วนของจำนวนคน จำแนกตามสาเหตุของความกังวลใจในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ

นอกจากนั้น เมื่อพิจารณาถึงการออมเงินของผู้สูงอายุในปี 2550 จากผลการสำรวจพบว่า ผู้สูงอายุร้อยละ 31.3 ไม่มีเงินออมเพื่อสร้างความมั่นคงให้แก่ชีวิตหลังเกษียณ และผู้สูงอายุส่วนใหญ่ (ร้อยละ 53) มีมูลค่าการออมไม่เกิน 2 แสนบาท เท่ากับว่าถ้ามีชีวิตอยู่ต่อไปอีก 20 ปี ก็จะมีเงินใช้ไม่เกินเดือนละ 830 บาท หรือวันละ 28 บาทเท่านั้น ขณะที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพียงร้อยละ 15 ที่มีมูลค่าการออมตั้งแต่ 700,000 บาทขึ้นไป

อย่างไรก็ตาม การเก็บออมเงินระยะยาวใน RMF LTF และประกันชีวิตแบบบำนาญ ก็เป็นเพียงพื้นฐานส่วนหนึ่งเท่านั้น การที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเงิน และเป้าหมายชีวิตที่ตั้งไว้ ควรให้ความสำคัญต่อการวางแผนการเงินแบบรอบด้านด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น