xs
xsm
sm
md
lg

แชร์สนั่นพนักงานแบงก์ชีวิตดรามา เบื้องหลังหดหู่ กดดันยอด ?!?!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กลายเป็นประเด็นร้อนแรงในโซเชียลเน็ตเวิร์กทันที เมื่อมีพนักงานแบงก์โพสต์กระทู้บอกเบื้องหลังงานหดหู่ เตือนคนอยากทำงานแบงก์อย่าเข้ามา! ไม่งั้นจะถูกให้ขายพ่วงประกัน กดดันยอดขาย บอกขายไม่เก่ง อยู่ไม่ได้!

ด้านนักการตลาดชี้เป็นการตลาดของแบงก์สมัยนี้ เน้นขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ดังนั้นพนักงานต้องขายเก่ง บอกปัญหาเกิดขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานหนักและงานขาย แนะควรลาออกไปหางานที่ชอบ ไม่งั้นจะทำให้เสียชื่อแบงก์และลูกค้าไม่แฮปปี้!

ชีวิตดราม่าของพนักงานแบงก์?

ทั้งนี้วันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีล็อกอิน สมาชิกหมายเลข 1666799 โพสต์กระทู้ลงในเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ในหัวข้อว่า “ชีวิต พนักงานแบงก์ เบื้องหลังที่หดหู่ เตือน! คนที่คิดจะเข้า อย่า!” โดยเนื้อหาได้ระบุถึงการทำงานของเจ้าของกระทู้ ซึ่งเป็นพนักงานแบงก์ว่าไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด ความมั่นคงในชีวิตไม่มี เพราะถูกกดดันอย่างหนักจากยอดขาย โดยเฉพาะประกันชีวิต เช่น บางข้อความที่ระบุว่า

“...ทำงานมาได้สักพัก ผจก.เริ่มมีการถามว่า ขายเก่งแน่เลยมาอยู่ตำแหน่งนี้ เราเริ่มเอะใจค่ะว่าเอ้าเหรอ?..ตำแหน่งนี้ต้องขายเก่งหรอ ไม่ใช่ต้องมีความรู้ทางด้านการเงินมากๆหรอ ? เราก็ยังไม่ได้สนใจอะไรค่ะ ทำหน้าที่ของเราไปคือ ให้เราฝาก ถอน โอน เปิดบัญชี ทำอยู่แบบนี้ค่ะ เราเริ่มไม่ชัดเจนในตำแหน่งงาน แต่ก็ไม่ได้พูดอะไร

“อยู่นานเข้าเริ่มรู้สึกกดดัน จากการต้องมีพูดประชุมในตอนเช้า ผจก.ก็จะพูดให้เราทุกคนขายประกันช่วยกัน ช่วยสาขาให้บรรลุเป้า ซึ่งเดือนๆนึงไม่ต่ำกว่า 3 แสน พูดแบบนี้ทุกเช้า คนไหนไม่ขายโดนว่าทุกคนค่ะ เช้ามาเจอเรื่องกดดันทุกเช้า รู้สึกแย่นะคะ ดิฉันเริ่มรู้สึกไม่อยากมาทำงาน

“ทุกวันการทำงานต้องมีการเปิดบัญชีพร้อมทำ ATM ซึ่งแน่นอนอีกแบบต้องมีประกันพ่วงด้วย ดิฉันได้รับคำสั่งห้ามขายแบบธรรมดา ให้บอกว่าหมด ได้ยินครั้งแรกทำใจไม่ได้ค่ะ รู้สึกเห็นแก่ตัวมากกกก แต่ก็จำยอมต้องทำเพราะก็กลัวคนสั่งเค้าเห็น โดยต้องบอกกับลูกค้าว่าหมด ยังไม่มาบ้าง ลูกค้าบางคนน่าสงสารมาก ดิฉันก็แอบทำธรรมดาให้ไป

“การขายประกันก็ต้องพูดว่าแบ่งเงินมาออมไหม ซึ่งลูกค้าพอรู้ว่าเป็นประกันก็ไม่ทำ ขายไม่ได้ พอขายไม่ได้เริ่มโดนชี้เป้าค่ะ เราโดนว่าทุกเช้า ว่าไม่สนใจขาย ไม่อะเลิท เราเริ่มเหนื่อย กดดัน เริ่มท้อ ว่าตกลงเราเป็นตำแหน่งอะไรกันแน่ แรกๆเราอยากออกมาก แต่ครอบครัวก็ให้อดทนทำเอาประสบการณ์ไปก่อน ...”

“....พอผู้บริหารเร่งเป้ามาทีนี้ยุ่งล่ะค่ะ ออกตะลอนตามบ้านลูกค้า อ้อนวอน ยิ่งกว่าตัวอะไร ขอให้ลูกค้าช่วย ยิ่งพูดยิ่งขยะแขยงตัวเองค่ะ เห้ออออ

“สุดท้ายทุกวันนี้ดิฉันก็ก้มหน้าทำต่อไป รอเวลาสักระยะคงต้องออกละค่ะ เพราะดูท่าแล้ว ความเห็นแก่ตัวนี้คงอยู่กับตัวผู้บริหารที่ขาดจิตสำนึกต่อไป เพราะไม่มีหน่วยงานไหน เข้ามาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังหรอกค่ะ ได้แต่สงสารเพื่อนร่วมงานและตัวเอง ... สุดท้ายใครที่จะเข้าแบงค์ต้องขายเก่งอย่างเดียวนะคะ ไม่งั้นคุณก็ย่ำอยู่ที่เดิมไม่ได้เลื่อนกะเขาหรอกค่ะ....”

หลังจากที่กระทู้นี้กลายเป็นที่สนใจขึ้นมา ได้มีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นมากมาย เช่น

-  "ไปทำ ATM ที่แบงก์... พนง. บอกว่า ATM ธรรมดาหมด มีแต่พ่วงประกัน มันเป็นอย่างนี้นี่เอง"  aggiena

- "ให้เขาขายประกัน ขายผลิตภัณฑ์ ผมว่าเขาคงยังพอทน แต่เท่าที่เล่าเหมือนให้เขาโกหก สะตอ ใส่ลูกค้าตาดำทุกๆคน ทุกๆวัน ออกแนวกึ่งต้มตุ๋น มีก็บอกไม่มี เสียก็บอกไม่เสีย ไม่ได้ก็บอกได้ ต้องโกหกพกลมปลิ้นปล้อนทุกวันเพื่อยอดขาย คนมโนธรรมดีๆ คงรับไม่ไหวล่ะผมว่า ถ้าเลือกได้หางานอื่นที่มีทางเลือก และ พัฒนา Skill ความรู้ความสามารถได้ดีกว่าครับ งานแบงก์เดี่ยวนี้มันสิ้นคิดจริงๆ" สมาชิกหมายเลข 1589947

-  "พนักงานแบงก์อันทรงเกียรติต้องกลายมาเป็นคนขายประกันที่ต้องหลอกคนอื่นไปวัน ๆ เหมือนเอาศักดิ์ศรีตัวเองมาขายกิน จริง ๆ แล้วอยากให้สหภาพแรงงานเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้ ต้องร่วมมือกันประกาศแก่นายจ้างว่าทำงานธนาคารแต่ไม่ขายประกัน เพราะไม่อยากเอาศักดิ์ศรีตัวเอมาขายกิน แบบนี้ถึงจะตรงประเด็นกว่า อยากให้สหภาพแรงงานทุกแบงก์รวมตัวกันบอกว่า "พวกเราไม่ขายประกัน" และจะไม่มีพนักงานคนไหนขายประกันอีก"  TLL01

จากเสียงโอดครวญของพนักงานแบงค์ในกระทู้ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานแบงก์ปัจจุบันนี้ไม่ใช่เพียงแค่ต้องบริการการเงินลูกค้าเพียงอย่างเดียว หากแต่มี “เป้า” ในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น ขายประกันพ่วงอยู่ด้วย ซึ่งไม่ขาย ก็ไม่ได้ สิ่งนี้เองกลายเป็นภาระกดดันแก่พนักงานและแบงก์สาขา จนกลายเป็นว่าพนักงานแบงก์อาจต้องพยายามขายให้ได้ทุกวิธีทาง เพื่อให้ได้ยอดหรือเป้าที่ระบุไว้

มองเผินๆ อาจจะดูเป็นแค่เรื่องของพนักงาน แต่หากมองลึกๆ เข้าไป งานนี้ลูกค้าอาจเป็นฝ่ายถูกเอาเปรียบ หรือเสียประโยชน์ได้ หากเจอพนักงานที่ใช้เล่ห์กลในการขายประกัน โดยอาศัยความรู้ไม่เท่าทันของลูกค้า!

ธนาคารเน้นยอดขายประกัน?

หากพิจารณาจากผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าธนาคารดังล้วนมีรายได้จากธุรกิจ “ประกัน” เป็นกอบเป็นกำ ไม่ว่าจะเป็นประกันภัยหรือประกันชีวิต โดยมีเปอร์เซ็นต์เติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ

เช่น ธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดเผยผลประกอบการธนาคารว่าปี พ.ศ. 2556 มีกำไรสุทธิจำนวน 41,325 ล้านบาท โดยระบุว่ามีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นจำนวน 7,429 ล้านบาท หรือ 18.24% เป็นผลมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิ และรายได้เบี้ยประกันภัยรับสุทธิที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วน ธนาคารกรุงเทพ เผยผลประกอบการว่า หากเทียบไตรมาส 2 ปี 2557 กับไตรมาส 1 ปี 2557ธนาคารและบริษัทย่อยมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 612 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.1โดยรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น 77 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.5 เนื่องจากค่าธรรมเนียมรับจากธุรกรรมกองทุนรวมและธุรกรรมประกันชีวิตเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเกี่ยวกับเงินให้สินเชื่อลดลง

ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2557 ที่ 13,129 ล้านบาท แม้ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจโดยรวมมีการชะลอตัว แต่ธนาคารสามารถแสดงการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องในรายได้หลัก อันได้แก่ รายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิ ค่าธรรมเนียมบริการ และรายได้จากการรับประกันภัย ทั้งนี้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยแม้โดยรวมลดลง 6.5% จากช่วงเดียวกันของปี 2556 แต่รายได้สุทธิจากค่าธรรมเนียมและรายได้จากการรับประกันภัยยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 9.1% โดยมาจากค่าธรรมเนียมจากการให้บริการการเงินเพื่อธุรกิจและธุรกิจการรับประกันภัยเป็นหลัก

เมื่อรายได้ธุรกิจประกันเติบโตเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่ธนาคารต่างๆ จะหันมากดดันให้พนักงานแบงก์ขายประกันให้แก่ลูกค้าด้วย ซึ่งจะว่าไปแล้ว ไม่เพียงแต่จะมีธุรกิจประกันจะมาเป็น “บริการเสริม” ของธนาคาร แต่ธนาคารยังเน้นขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ด้วย เพื่อสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน กองทุนรวม หุ้นกู้ต่างๆ

ทั้งนี้ผู้คร่ำหวอดในแวดวงการเงินการธนาคารของไทยได้เคยเปิดเผยกับทีมข่าวเอเอสทีวีผู้จัดการในสกู๊ปข่าวชื่อ “Selfie นี้สาวแบงก์ไม่ได้โพสต์” ว่า

“...หลังวิกฤตการณ์ทางการเงินใหญ่ของไทยในปี 2540 ผู้บริหารสถาบันการเงินส่วนใหญ่มักไม่สนใจว่า พนักงานของตัวเอง จะขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้วยวิธีใด ลูกค้าจะมีความรู้ความเข้าใจหรือไม่ในความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ถูกพนักงานของตัวเองเสนอขาย โดยฝ่ายบริหารจะสนใจแต่เฉพาะยอดขายของผลิตภัณฑ์ทางการเงินเท่านั้น ทั้งนี้ ลูกค้าเป้าหมายก็คือลูกค้าบุคคล และผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เสนอขายมีตั้งแต่แบบไม่ซับซ้อนเช่น บัตรเครดิต สินเชื่อเงินผ่อนระยะสั้น สินเชื่อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน ประกัน และผลิตภัณฑ์กองทุนรวมต่างๆ ทั้งนี้ช่วง 2-3 ปีหลัง ฝ่ายบริหารของธนาคารไทยใหญ่ๆ จะสนใจเป้าประกันเป็นพิเศษ (Bankassurance) เนื่องจากสามารถสร้างรายได้จำนวนมากแก่ธนาคาร ทั้งเป็นรายได้ที่สม่ำเสมอและยั่งยืน เพราะลูกค้าผู้ซื้อกรมธรรม์จะต้องจ่ายเบี้ยประกันทุกปีตามจำนวนที่กำหนดในกรมธรรม์

“ สำหรับกรมธรรม์ประกันภัย/ประกันชีวิต จะถูกพนักงานธนาคารหลอกขายทำนองเป็นผลิตภัณฑ์ทางการออมเงิน ทำให้ผู้ซื้อหรือลูกค้าหลงเชื่อว่าเป็นการออมเงินรูปแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่ผลตอบแทนของการออมเงินผ่านการประกันจะให้ผลตอบแทนที่ต่ำมาก (IRR ต่ำ) แต่ผู้ลงทุนหรือผู้ซื้อจะได้การคุ้มครองป้องกันความเสี่ยงเป็นหลัก แต่ในความเป็นจริง ภาพพจน์ของตัวแทนการขายประกันและวิธีการขายประกัน ติดลบในสายตาคนไทยส่วนใหญ่ ธนาคารไทยหลายแห่งจึงเปลี่ยนรูปแบบการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันให้เป็นผลิตภัณฑ์การออมและเสนอผลตอบแทนของการซื้อกรมธรรม์ให้มีลักษณะเหมือนผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งลูกค้าจำนวนมากที่มาธนาคารจะคิดว่าเป็นการฝากเงินรูปแบบหนึ่ง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงคือ ผลิตภัณฑ์ประกันนั่นเอง”

จากข้อมูลข้างต้น คงเห็นภาพแล้วว่า “พนักงานแบงก์” ต้องทำงานเป็น “พนักงานขายประกัน” ด้วย ดังนั้นการทำงานแบงก์สมัยนี้ไม่ใช่แค่ต้องคิดเลขเก่งอย่างเดียว แต่ต้อง “ขายเก่ง” ด้วย

นักการตลาดชี้เป็นการตลาดของแบงก์

ด้าน “อาจารย์ธันยวัชร์ ไชยตระกูลชัย” นักการตลาดชื่อดังได้แสดงความคิดเห็นกับทีมข่าว ASTV ผู้จัดการ Live ว่า ตอนนี้ธนาคารต่างๆ ต่างปรับกลยุทธ์ให้มีบริการทางการเงินแบบครบวงจร ดังนั้นไม่แปลกที่พนักงานแบงก์จะต้องทำหน้าที่ขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ พ่วงไปด้วย

“รายได้แบงก์มาจากสองทางคือ มาจากดอกเบี้ย และค่าธรรมเนียม แล้วดอกเบี้ยจะได้เมื่อเศรษฐกิจดี ถึงจะปล่อยกู้ได้ แล้วถ้าปล่อยกู้ไม่ได้ เขาก็ต้องมาเล่นที่ค่าธรรมเนียม เพราะฉะนั้นเขาเลยมีบัตรเอทีเอ็มต่างๆ มีบัตรเอทีเอ็มที่ทำประกันได้ หรือขายพ่วงประกัน เพื่อจะเพิ่มรายได้ให้กับแบงก์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เพื่อความอยู่รอด แต่แบงก์เหล่านี้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จึงต้องพยายามกำไรให้มากขึ้น เพื่อราคาหุ้นจะได้เพิ่มขึ้นด้วย

“ผมคิดว่าการขายประกันในตลาดธนาคารพาณิชย์น่าจะเติบโต เพราะเขาขายแข่งกับประกันไง ทำให้คนที่ไม่ได้เข้าสู่ธุรกิจประกัน ก็ต้องทำประกัน เช่น คนซื้อบ้านก็ต้องทำประกัน หรือซื้อรถ ก็แนะนำให้ทำประกันรถ แล้วตอนนี้มีกรมธรรมให้เลือกหลายแบบ คนทำประกัน อาจทำประกันเพราะต้องการลดภาษี ทำประกันเพราะอุบัติเหตุ ทำประกัน เพราะออมทรัพย์ มีหลายแบบไง ”

ส่วนประเด็นที่มีพนักงานแบงก์โพสต์กระทู้พูดถึงความยากลำบากในการทำงานนั้น อาจารย์ธันยวัชร์กล่าวว่า

“เรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว เป็นเรื่องเด็กที่ไม่อยากทำงานขาย แต่มันเป็นประเด็น เพราะมีคนโพสต์ขึ้นมาเท่านั้นเอง ถ้าคุณเป็นเจ้าของแบงก์ คุณคิดว่าจะคุ้มไหม ถ้ามีพนักงานที่ทำหน้าที่รับฝากถอนอย่างเดียว คำตอบคือ มันไม่คุ้มไง ถามว่าต่อไปนักข่าวต้องถ่ายรูปเป็นไหม นักข่าวต้องถ่ายรูปเป็นสิ ไม่ใช่ให้มีนักข่าวคนหนึ่ง ช่างภาพไปอีกคนหนึ่ง คุณไปคนเดียวก็ถ่ายรูปด้วยสิ ดังนั้นยุคนี้คนๆ หนึ่งต้องทำงานได้หลายแบบถึงจะคุ้มครับ ซึ่งงานธนาคารก็เป็นสไตล์นี้

“ตอนนี้แม้กระทั่งผู้จัดการก็ไม่สามารถจะนั่งอยู่ในห้องได้ เขาต้องลงไปหาลูกค้าด้วย คือ เปลี่ยนมาเป็นอย่างนี้สัก 10 ปีได้ที่ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง แล้วธนาคารในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาสามารถทำทุกอย่างได้ จากเดิมที่ไม่มีทำประกัน ตอนนี้ก็มีขายประกันด้วย คือ พอคอนเซ็ปต์ Universal Banking เกิดขึ้นมา ตอนนี้ธนาคารเลยมีผลิตภัณฑ์จำนวนมาก เหมือนเป็นห้างมีของเยอะ ก็ต้องขาย ดังนั้นหน้าที่ของพนักงานจะไม่ใช่แค่ยืนสวย หรือนั่งนับเงินนับทองอย่างเดียวแล้ว แต่เขาก็ต้องทำหน้าที่ขายไปด้วย ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ไม่อยากขาย ดังนั้นทำให้พนักงานที่ถูกให้ขายเยอะ ส่วนใหญ่จะอยู่ไม่ทน  แค่ประมาณ 4- 5 เดือนเท่านั้นเอง “

ปัญหาที่หลายคนกังวลว่าพนักงานแบงก์บางรายอาจใช้เล่ห์กลกับลูกค้า เพื่อให้ขายได้ตามเป้านั้น อาจารย์ธันยวัชร์กล่าวว่าเกิดขึ้นเพราะพนักงานขายไม่เป็น เกิดอคติต่องาน และไม่หาความรู้ ทำให้กลายเป็นปัญหา

“สาเหตุเพราะเขาขายไม่เป็นไง คือ พวกนี้ไม่ได้เข้ามาเพื่อเป็นนักขาย พอต้องมาเป็นนักขาย เขาก็ไม่ชอบ เขาเรียกว่าเป็นความลำบาก เพราะมันต้องทำเป้า พอเขาไม่ชอบ ไม่คิดว่าจะต้องเจออย่างนี้ ก็เกิดอคติ เขาเลยจะไม่ศึกษาหาความรู้ในเรื่องการขาย ความจริงคุณไม่ต้องหลอกลูกค้าก็ได้ แต่คุณต้องชักชวนสิ เช่นบอกว่า “ถ้าเกิดว่าคุณจ่าย 550 เนี่ย การคุ้มครองเวลาเกิดอุบัติเหตุจะคุ้มค่ากว่าเงิน 550 บาท” คือ มันอยู่ที่วิธีการพูด อย่างที่บอกว่าเด็กรุ่นใหม่ไม่ชอบทำงานหนัก พอมาเจองานขาย ก็ไม่ชอบ ซึ่งถ้าคุณไม่ชอบ ก็ออกไปสิ ไม่ใช่ไปนั่งอยู่ในธนาคารแล้วทำหน้าตาบูดเบี้ยว ลูกค้าเจออย่างนี้ก็ไม่ชอบหรอกครับ

“ส่วนคนที่เจอพนักงานขายประกันหรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ให้ ผมว่าพนักงานก็แค่แนะนำ แต่เขาไม่ได้ยัดเยียดนี่ครับ ถ้าเกิดว่าเราไม่ต้องการ เราก็บอกไม่ต้องการ คือ เวลาบริษัทมีของให้ขาย ซึ่งพนักงานก็ต้องขาย ทีนี้ลูกค้าจะซื้อไม่ซื้อก็อยู่ที่เรา แต่ทีนี้การขายนั้นต้องไม่ทำให้การบริการลดคุณภาพลง สรุปว่าถ้าไม่อยากซื้อก็ไม่ต้องซื้อ

“ส่วนพนักงานแบงก์ ผมคิดว่าในชีวิตคนเรามีจ็อบได้หลายจ็อบ คือ คุณอาจจะมีหลายงาน แต่คุณมีได้แค่อาชีพเดียว ดังนั้นคุณควรตั้งคำถามว่าคุณอยากทำอาชีพอะไร ถ้าคุณคิดว่าอาชีพที่ทำไม่จอบโจทย์หรือไม่เป็นไปตามฝัน ก็ให้คุณเปลี่ยนไปทำตามฝันที่ชอบ อย่าทนทำในอาชีพหรืองานที่ไม่ชอบ เพราะจะทำให้งานไม่ดี พูดง่ายๆ คือ พนักงานแบงก์ที่ไม่ชอบงานลักษณะนี้ ควรจะออกไปทำอย่างอื่นที่คุณชอบ เพราะถ้าคุณไม่ชอบ ไม่รัก คุณก็จะทำงานบริการไม่ดี แล้วจะทำให้ลูกค้าพาลไม่ชอบแบงก์ด้วย จนทำให้แบงก์เสียหาย ดังนั้นถ้าไม่ชอบ ก็ลาออกเถอะครับ”


เรื่องโดย ASTV ผู้จัดการ Live




ตามมา Follow Instagram และ Facebook Fanpage
"ASTV ผู้จัดการ Live" กันได้ที่นี่!!
**สามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754


กำลังโหลดความคิดเห็น