xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อ LTF เสี่ยง 2 เด้ง ชี้เงิน 2.5 แสนล้านรอถล่มตลาดหุ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เปิดเส้นทางความเป็นไปได้ของกองทุนรวม LTF ที่กระทรวงการคลังจะชี้ชะตาในปี 2558 “เลิก-ไม่เลิก” ชี้ผลกระทบกรณีเลิกตลาดทุนมีสิทธิ์ป่วน เงินไม่น้อยกว่า 2.5 แสนล้านบาทรอขายถล่มตลาดหุ้น หากไม่เลิกสูตรที่ออกมาหนีไม่พ้น ยืดระยะเวลาถือครองให้ยาวขึ้น 7-10 ปี และลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลงทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้กระทบตลาดทุนไม่มากแต่รายเก่าเริ่มตีจาก ส่วนรายใหม่จะเข้ามาน้อยลง แนะคนที่ฐานภาษีต่ำต้อง “วัดดวง” ลุ้นตลาดหุ้นวันครบกำหนดขาย

ในปี 2557 หลายท่านอาจวิตกกังวลในเรื่องทิศทางของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF) ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด หลังจากที่รัฐบาลชั่วคราวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่มีนโยบายปฏิรูปภาษี และหนึ่งในนั้นคือ แนวทางในการปรับปรุงกองทุนรวม LTF โดยช่วงแรกมีกระแสข่าวว่าอาจมีการยกเลิกตามกำหนดเดิม

ทั้งนี้ตามเงื่อนไขเดิมกองทุนรวม LTF จะสิ้นสุดการซื้อหน่วยลงทุนในปี 2559 โดยผู้ถือหน่วยจะต้องถือให้ครบตามเงื่อนไข 5 ปีปฏิทินจึงจะขายหน่วยลงทุนได้

จากนั้นมีการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลังกับสภาตลาดหุ้นและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) แต่ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ โดยนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเพียงว่าจะได้ข้อสรุปในเดือนมีนาคม 2558

ดังนั้นการลงทุนซื้อหน่วยลงทุนในปีนี้ ยังคงเป็นไปตามปกติ

ที่ผ่านมากองทุน LTF แม้จะตั้งขึ้นภายหลังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund : RMF) ที่เน้นให้เกิดการออมในระยะยาว เตรียมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ แต่ LTF กลับได้รับความนิยมเพิ่มเหนือกองทุนรวม RMF เนื่องจากถือหน่วยลงทุนสั้นกว่า แม้จะเป็น 5 ปีปฏิทิน แต่คิดจริงๆ แล้ว หากผู้ซื้อในปลายปี เช่น ปลายปี 2557 ก็สามารถขายได้ในช่วงต้นปี 2561 หรือเพียง 3 ปีเศษเท่านั้น

แถมกองทุน LTF ให้สิทธิในการหักลดหย่อนภาษีสูงเท่ากับกองทุนรวม RMF คือไม่เกิน 5 แสนบาท และไม่ต้องนำไปรวมกับกองทุนอื่นๆ เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการเหมือนกองทุนรวม RMF ดังนั้น LTF จึงหักภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า

นี่จึงเป็นต้นเหตุให้เหล่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง ใช้ช่องทางของกองทุนรวม LTF เพื่อการเสียภาษีให้กับรัฐน้อยลง ประกอบกับในช่วงก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นเมืองไทยอยู่ในระดับต่ำ อันเนื่องมาจากผลต่อเนื่องของวิกฤตการเงินในปี 2540 ตามด้วยวิกฤตการเมืองอีกหลายรอบ

ซื้อก่อนกำไรงาม

คนที่ซื้อกองทุนรวม LTF ที่ดัชนีราว 700-1,000 จุด ล้วนแล้วแต่ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า เนื่องจากตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้จะชะลอตัวไปบ้างในช่วงที่มีวิกฤตทางการเมือง แต่ได้เดินหน้าจนถึงระดับ 1,600 จุดได้ อีกทั้งฐานภาษีก่อนปี 2556 ที่ยังเป็นฐานภาษี 10% ทำให้เงินที่ใช้ซื้อหน่วยลงทุนนั้นนำมาหักภาษีได้ทันทีคือ 10%

ซื้อหน่วยลงทุนปุ๊บ สิ้นปีได้เงินคืน 10% ทันที ที่เหลือรอให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นไป กำไรเป็นกอบเป็นกำสำหรับผู้ลงทุนใน LTF กลายเป็นแรงบอกต่อ จนคนที่ไม่เคยลงทุนก็เข้ามาลงทุน ผู้มีรายได้สูงต่างหันมาใช้ช่องทางนี้เพื่อประหยัดภาษีที่ต้องการใช้กับรัฐบาล

โดยจุดประสงค์หลักในการจัดตั้งกองทุน LTF เพื่อต้องการสร้างนักลงทุนสถาบันในประเทศ ไว้คานกับนักลงทุนต่างประเทศ จึงเป็นเพียงแค่ข้ออ้างที่สวยหรู เพราะเป้าหลักจริงๆ คือต้องการลดภาษี และกำไรจากมูลค่าหน่วยลงทุนถือเป็นของแถม ทำให้กองทุน LTF เป็นอีกหนึ่งจุดที่คนชนชั้นล่างมองว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่สร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีฐานะกับคนยากจน

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ายึดอำนาจเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 และตั้งรัฐบาลชั่วคราว เรื่องของกองทุนรวม LTF จึงถูกกล่าวถึงกันมากเป็นพิเศษ เพราะลงทุนไม่นานได้ผลตอบแทนสูง หักลดหย่อนภาษีได้มากกว่าการออมประเภทอื่น แถมไม่ตอบโจทย์การสร้างนักลงทุนสถาบันในประเทศ

ปัจจุบันกองทุนรวม LTF มีทั้งสิ้น 53 กองทุน มูลค่าสินทรัพย์สุทธิสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2557 อยู่ที่ 2.56 แสนล้านบาท ส่วนกองทุนรวม RMF มี 131 กองทุน แต่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิเพียง 1.59 แสนล้านบาทเท่านั้น ทั้งที่กองทุนรวม RMF เริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2544 และ LTF เริ่มต้นในปี 2547
ตัวอย่างผลตอบแทนของกองทุนรวม LTF (จาก FB:SSO Savings Club)
ความจริงที่ไม่ตอบโจทย์

แหล่งข่าวจากวงการกองทุนรวมกล่าวว่า สาเหตุที่กองทุนรวม LTF ได้รับความนิยมมากกว่ากองทุนรวม RMF นั้น เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่ชอบลงทุนยาวๆ RMF มี 2 เงื่อนไขในการถือหน่วยลงทุนคือต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี ไม่น้อยกว่า 5 ปีเต็มและจะไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้เมื่ออายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ คนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่มีรายได้สูงจึงเลือก LTF เป็นลำดับแรก อีกทั้งได้รับผลตอบแทนที่ผ่านมาสูงจึงนิยมกันมาก

ในอีกมิติหนึ่งแม้จะมีผู้มาซื้อหน่วยลงทุนมากขึ้น ดูเหมือนเป็นการเพิ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ตรงตามวัตถุประสงค์ของการตั้ง LTF แต่ในการบริหารพอร์ตของลูกค้าของบริษัทหลักทรัพย์จัดการนั้นต้องสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหน่วย เมื่อนักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้น บลจ.เหล่านี้ มักขายหุ้นตามเพื่อลดภาระขาดทุนหรือยับยั้งการไหลลงของราคาหุ้นในพอร์ตของลูกค้า และการกลับเข้าไปซื้อหุ้นอีกครั้งก็มักเข้าไปพร้อมๆ กับนักลงทุนต่างประเทศอีกเช่นกัน

นี่จึงเป็นอีกจุดหนึ่งที่เมื่ออำนาจทางการเมืองเปลี่ยน ย่อมจะมองว่ากองทุนรวม LTF ไม่ตอบโจทย์การสร้างนักลงทุนสถาบันในประเทศ แถมยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้รัฐได้เงินภาษีจากผู้มีเงินได้น้อยลง ทำให้รัฐเสียประโยชน์และเกิดข้อครหาในทางการเมือง

เลิก-กระทบตลาดทุน

สำหรับแนวทางที่จะมีการพิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือปรับปรุงเงื่อนไขของกองทุนรวม LTF นั้น ไม่น่าจะหนีไปจาก 2 แนวทางนี้คือ เลิกกับไม่เลิก

แนวทางแรกคือตัดสินใจยกเลิกกองทุน LTF เมื่อครบตามกำหนดเดิมคือสิ้นปี 2559 และไม่ต่อระยะเวลาให้อีก โดยผู้ที่ซื้อในปี 2559 จะต้องถือจนครบเงื่อนไขคือต้นปี 2563 จึงจะมีสิทธิขายหน่วยลงทุนออกไปได้

หากกระทรวงการคลังตัดสินใจยกเลิก LTF จริง ผู้ที่ต้องการออมเงินด้วยช่องทางนี้คงต้องหาช่องทางใหม่ ที่ใกล้ที่สุดคงเป็นกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF ที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นกัน เมื่อไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาในตลาดหุ้นจากส่วนของ LTF สภาพของตลาดหุ้นอาจต้องเผชิญกับภาวะที่ซึมลง หากไม่มีปัจจัยด้านอื่นเข้ามากระทบ

ผู้ที่ถือ LTF ที่ครบกำหนดก็จะทยอยขายหน่วยลงทุนออกมา เงิน 2.56 แสนล้านบาทจะทยอยขายออกมามากบ้างน้อยบางตามจำนวนเงินลงทุนในแต่ละปี หากคิดหยาบๆ มีการขายออกมาปีละ 5 หมื่นล้านบาทก็ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับลดลงไประดับหนึ่ง

แรงขายจะชัดเจนในปี 2560 หากไม่มีการต่ออายุกองทุน LTF อีกต่อไป โดยสิทธิในการขายในปี 2560 คือผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในปี 2556 ซึ่งในปีดังกล่าวดัชนีอยู่ที่ระดับ 900-1,000 จุด หากในปี 2560 ดัชนียังอยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 จุดได้ก็ยังมีกำไรอยู่ไม่น้อย

“แต่ผู้ที่ซื้อหน่วยในปี 2557 นี้ จะครบกำหนดปี 2561 รวมถึงปีต่อๆ ไป อาจต้องไปวัดดวงว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์เมื่อครบกำหนดขายจะอยู่ที่เท่าไหร่ เรียนตามตรงว่าผู้ที่จะซื้อหน่วยในปี 2557 จะมีความเสี่ยงมากกว่าเดิมหากกระทรวงการคลังยกเลิกกองทุนรวม LTF”

ในส่วนของตัวบริษัทหลักทรัพย์จัดการ รายได้จากค่าธรรมเนียมในส่วนนี้จะหายไปไม่น้อย หากคิดค่าธรรมเนียมในการบริหารกองทุนที่ 1% รายได้ของ บลจ.ก็จะหายไปราว 2.56 พันล้านบาทต่อปี ดังนั้นจึงมีแนวทางที่ได้เสนอต่อกระทรวงการคลังให้พิจารณาคือการขอต่ออายุกองทุน LTF ออกไปอีก

หากยกเลิกกองทุนรวม LTF ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อสภาพของตลาดหุ้นจะมีค่อนข้างมาก เชื่อว่ากระทรวงการคลังคงได้พิจารณาในเรื่องนี้แล้ว คาดว่าข้อสรุปที่ออกมาน่าจะเป็นการยืดอายุของกองทุน LTF ออกไปมากกว่าที่จะมีการยกเลิกทันที
การจัดส่งเสริมการขายของธุรกิจกองทุนรวม
ยืด-ยาว-ลด

แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ ไม่เลิกกองทุน LTF แต่คงต้องมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขไปจากเดิม เริ่มที่การขยายระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนออกไปจากเดิม 5 ปีปฏิทิน อาจขยับไปเป็น 7 ปีหรือ 10 ปี ขึ้นอยู่กับความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง หรืออาจมีการปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลงจากไม่เกิน 5 แสนบาทลงมา ตามที่กระทรวงการคลังเห็นชอบ

หรืออาจเป็นไปได้ทั้งการยืดระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนออกไปพร้อมกับการปรับลดสิทธิประโยชน์ทางภาษีลง ทั้งนี้คงต้องรอผลการพิจารณาอีกครั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด เนื่องจากกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะรวมเรื่องการหักค่าลดหย่อนทั้งหมดไว้เป็นก้อนเดียวกัน ทั้งดอกเบี้ยจากการซื้อบ้าน กรมธรรม์ประกันชีวิต กองทุนรวม RMF กองทุนรวม LTF กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการหรือประกันสังคม เข้าไว้ด้วยกัน

หากแนวทางออกมาในรูปแบบนี้ทาง บลจ.คงไม่ขัดข้อง เพราะดีกว่าการเลิกกองทุน LTF ไป และยังพอมีช่องหางสร้างรายได้จากการบริหารกองทุนภายใต้เงื่อนไขใหม่ แต่ในส่วนของผู้ลงทุนจะมีผลทางจิตวิทยาแน่นอน หากยืดระยะเวลาออกไป กองทุน LTF อาจไม่น่าสนใจเหมือนเดิม โอกาสในการเข้าซื้ออาจเหลือน้อยลงและเมื่อครบกำหนดที่ถือครองไว้เดิม อาจขายออกเพื่อเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนไปเป็นรูปแบบอื่นแทน

แนวทางนี้จะส่งผลต่อตลาดหุ้น หากไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้ามาหรือเข้ามาในปริมาณที่น้อยลง โอกาสที่ตลาดหุ้นจะซึมในทิศทางขาลงจึงมีความเป็นไปได้มาก แต่ดีกว่าการยกเลิก LTF ทั้งหมด

ขณะที่นักวิเคราะห์กองทุนรวม บริษัทหลักทรัพย์ฟิลลิป มองในเรื่องนี้ว่า ผลกระทบต่อตลาดหุ้นคงไม่มาก การมีหรือไม่มี LTF นั้น ตัวตลาดหุ้นขึ้นกับสภาพการลงทุน หากมีคงเป็นแค่ระยะสั้น ที่จะมีแรงขายออกมา แต่จะทำให้ผู้เคยลงทุนที่อายุยังน้อยอาจตัดสินใจยากขึ้น ลดปริมาณการซื้อลงไปบ้าง หรืออาจเปลี่ยนไปลงทุนในรูปแบบอื่นอย่าง RMF แทน
การทำตลาดร่วมกันของค่ายกรุงไทยรับชำระด้วยบัตรเครดิต KTC
รายได้น้อยซื้ออาจไม่คุ้ม

สำหรับในช่วงที่เหลืออีกไม่กี่วันสุดท้ายของปี 2557 หลายท่านยังลังเลใจว่าในปีนี้จะใช้สิทธิ์หรือไม่ อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นไปมากถึงระดับ 1,600 จุด แต่เมื่อ 15-16 ธันวาคมที่ผ่านมาดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,450 จุด ทำให้นักลงทุนหลายคนใช้จังหวะดังกล่าวเข้าไปซื้อ LTF ในช่วงนั้นเนื่องจากได้หน่วยลงทุนในราคาที่ต่ำ ได้ส่วนต่างของดัชนีตลาดหุ้นราว 100 จุด จากนั้นดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มมีแรงซื้อกลับทำให้ปรับตัวขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1,500 จุดอีกครั้ง

ถ้าถามว่าจากนี้ไปควรซื้อ LTF หรือไม่ หากกังวลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใหม่ที่จะออกมาในปี 2558 เช่น คนที่ซื้อในปี 2557 นี้ต้องประเมินว่าในอีก 3 ปีเศษหรือ 5 ปีปฏิทิน ซึ่งจะครบกำหนดขายในต้นปี 2561 นั้น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์จะเป็นเท่าไหร่ หากในปีที่ครบกำหนดขายดัชนีตลาดหลักทรัพย์ต่ำกว่าระดับที่ซื้อไว้ในปีนี้จะยอมรับได้หรือไม่

“คนที่มีฐานภาษีสูงที่ระดับ 15% ขึ้นไป อาจตัดสินใจได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ในฐานภาษี 5-10% เพราะมีความเสี่ยงน้อยกว่า เพราะได้เงินคืนภาษีมาก่อน แม้วันครบกำหนดอาจขาดทุนไปบ้างเล็กน้อยก็ยังถือว่าคุ้ม”

ไม่ว่าแนวทางของกระทรวงการคลังในกองทุน LTF จะออกมาอย่างไรก็ตาม ย่อมมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าระดับของผลกระทบจะมากหรือน้อยแค่ไหน และจะทำให้ความน่าสนใจของกองทุน LTF ลดน้อยลงจากระยะเวลาที่ยืดหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ได้รับน้อยลง ยิ่งเมื่อพิจารณาคู่กับฐานภาษีที่ปรับลงในปี 2556 แล้ว คนที่มีรายได้ไม่สูงนักคือฐานภาษี 5-10% จะได้ประโยชน์จาก LTF น้อยลงกว่าเดิม

กำลังโหลดความคิดเห็น