xs
xsm
sm
md
lg

10 ข้อแนะนำสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อกองทุน LTF

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยทีมจัดการการลงทุน บลจ.ทิสโก้ จำกัด

ต้องยอมรับกันว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยสามารถปรับตัวขึ้นมาได้เหนือความคาดหมายของนักลงทุนโดยรวม แม้ว่าจะมีปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศเข้ามาฉุดรั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงก็ตาม โดย SET Index สามารถไปทำจุดสูงสุดของปีนี้ที่ 1,600.16 ในวันที่ 26 กันยายน 2557 อย่างไรก็ดี ในช่วงเดือนตุลาคมจะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยมีการปรับฐานค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะกลุ่มยูโรโซน เนื่องจากความกังวลต่อการขยายตัวเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มหดตัวลงจากภาวะเงินฝืดและอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับนักลงทุนทั่วโลกผิดหวังต่อการตอบสนองจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่อนโยบายทางการเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจนเท่าที่ควร การปรับฐานเนื่องจากแรงเทขายทำกำไรดังกล่าวตามมาซึ่ง “โอกาส” ของการลงทุนโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีเงินได้เข้าเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเงินได้ประจำปี เครื่องมือในการออมลำดับต้นๆ ที่คนส่วนมากนึกถึงคงจะหนีไม่พ้น กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF)

กองทุน LTF ถือได้ว่าเป็นของขวัญจากภาครัฐที่ออกมาเพื่อสนับสนุนการลงทุนในหุ้นระยะยาวแทนที่จะเป็นการซื้อๆ ขายๆ เก็งกำไรกันรายวัน เพราะฉะนั้น นักลงทุนที่นำเงินมาลงทุนในกองทุนนี้จะได้สิทธิลดหย่อนภาษีเป็นของแถม เพียงแต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่วางไว้ (ซื้อและถือครองไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน) ในวันนี้ทางทีมผู้เขียนมี 10 ข้อแนะนำสำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อกองทุน LTF มาฝากกันครับ

1. เลือกนโยบายการลงทุนที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่ตนเองยอมรับได้: ปกติแล้ว กองทุน LTF ถูกกำหนดให้ลงทุนในหุ้นอย่างน้อย 65% ของ NAV ซึ่งปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนต่างๆ มีการออกกองทุน LTF ที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่หลากหลาย เช่น หุ้น 70%, 75% หรือ 100% ซึ่งเหมาะกับนักลงทุนทั่วไปที่ยอมรับความเสี่ยงได้ไม่เท่ากัน

2. จ่ายปันผล?: กองทุน LTF มีทั้งแบบจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล หากท่านเลือกแบบจ่ายเงินปันผลก็เสมือนกับท่านได้รับผลตอบแทนระหว่างทาง แต่เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษี (ให้เลือกระหว่างหัก ณ ที่จ่าย 10% หรือนำมารวมคำนวณในการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี) เปรียบเทียบกับแบบไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ ในกองทุนนั้น ผู้จัดการกองทุนก็จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนให้ผลประโยชน์งอกเงยต่อไป ช่วยให้ท่านไม่ต้องมาปวดหัวกับการยื่นและคำนวณภาษีประจำปี

3. เลือกกองทุนที่มีผลการดำเนินงานที่“สม่ำเสมอ”: ผลการดำเนินการย้อนหลังที่ดีในปีก่อนอาจไม่ใช่สิ่งที่จะรับประกันได้ว่ากองทุนนั้นจะมีผลงานที่ดีในปีถัดไป หากแต่การมีผลการดำเนินงานที่ดีสม่ำเสมอ ไม่ผันผวนจนเกินไป และบริหารกองทุนสอดคล้องกับนโยบายการลงทุน เป็นสิ่งที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญมากกว่า

4. ค่าใช้จ่ายกองทุน: อย่าลืมพิจารณาเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายของกองทุนด้วย โดยข้อมูลตัวหนึ่งที่ควรดูคือ อัตราส่วนค่าใช้จ่าย (Expense Ratio)

5. ไม่รอซื้อ LTF ในนาทีสุดท้าย: หลายๆ ท่านมักรอเวลาจนเกือบสิ้นปีแล้วค่อยลงทุน และอาจจบที่การซื้อของแพง ในขณะที่หลายๆ ครั้งการจับจังหวะลงทุนเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายโดยเฉพาะปีที่ตลาดมีความผันผวนมากๆ การลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุน (Dollar Cost Averaging) น่าจะเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ข้างต้นและยังเป็นการสร้างวินัยการออมที่ดีอีกด้วย

สำหรับท่านยังมีความกังวลเกี่ยวกับความถูกความแพงของตลาดหุ้นไทย 4 ข้อแนะนำต่อไปนี้น่าจะทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นครับ

6. Switching: หากท่านมีเงินออมไว้ในหุ้นอยู่แล้ว (หุ้นรายตัว, กองทุนรวมหุ้นไทย) การทำ switching ไปหากองทุน LTF ก็ถือว่าเป็นทางเลือกที่ดีอย่างยิ่ง เพราะด้วยจำนวนเงินเดียวกัน ความเสี่ยงใกล้เคียงกัน ความถูกความแพงก็จะเป็นประเด็นรองไปเลย ยิ่งถ้าจากหุ้นรายตัวมาเป็นกองทุน LTF ก็ยิ่งดีเข้าไปอีก เพราะท่านได้ย้ายเงินไปสู่ปลายทางที่มีการกระจายความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ

7. LTF = Asset Class: ให้มองกองทุน LTF เสมือนเป็น Asset Class หนึ่งในการทำ Asset Allocation หมายความว่า ความถูกความแพงของตลาดหุ้นยังคงเป็นปัจจัยหนึ่งที่ต้องเอาใจใส่ แต่ก็ไม่มากเท่ากับการจัดสรรเงินลงทุนตามความเสี่ยงที่ตนเองรับได้ในแต่ละปีที่ผ่านไป ความมั่งคั่ง (wealth) ที่เพิ่มขึ้น ท่านยังคงสามารถเจียดเงินลงทุนตามตราสารประเภทต่างๆ ได้ เพียงแต่การใส่เงินเข้ากองทุน LTF อาจจะต้องถือนานกว่าหุ้นรายตัวอื่นๆ แต่ก็เป็นวินัยที่ดีในการลงทุน

8. ลดหย่อนภาษี = Loss Cushion: ให้มองยอดเงินลดหย่อนภาษีเสมือนเป็น Cushion ของความเสี่ยงหุ้นขาลง ซึ่งถ้าหุ้นปรับตัวลงไปมากพอๆ กับจำนวนเงินที่เราลดหย่อน ก็ยิ่งเป็นโอกาสที่จะทยอยซื้อเพิ่ม เพียงแต่อาจจะร่นเวลาการจัดสรรเงินลงทุนไปยังกองทุน LTF เร็วกว่าการทยอยซื้อตลอดปี ซึ่งก็เป็นทางเลือกที่ดีหากเรามีความยืดหยุ่นในการลงทุน

9. มองกันยาวๆ: หากท่านเป็นคนที่ลงทุนในกองทุน LTF เป็นประจำ ความถูกความแพงของตลาดหุ้นน่าจะเป็นสิ่งที่ไม่น่ากังวล เพราะหากดูผลตอบแทนย้อนหลังไป 2-3 ปี เมื่อนำผลตอบแทนมาเฉลี่ยกันแล้วน่าจะเป็นที่พอใจหากเปรียบเทียบกับตราสารประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพราะในปีที่ไม่ดีก่อนหน้า ก็มีปีที่ดีปีอื่นๆ ชดเชยกันไป

10. อย่ามองข้าม RMF: คนทำงานส่วนใหญ่มักลงทุนในกองทุน LTF เพื่อให้ได้ประโยชน์ทางภาษี และไม่เลือกกองทุน RMF เพราะรู้สึกว่าต้องลงทุนต่อเนื่องจนครบอายุ 55 ปีจึงจะสามารถไถ่ถอนหน่วยลงทุนได้ ความจริงแล้ว กองทุน RMF เป็นเครื่องมือสำคัญของการออมเพื่อวัยเกษียณ การมีเงื่อนไขของเวลาเป็นการสร้างวินัยการออมป้องกันไม่ให้นำเงินก้อนนี้ไปใช้ระหว่างทาง

นอกจากนี้ กองทุน RMF ในปัจจุบันมีนโยบายการลงทุนให้เลือกหลากหลาย (หุ้นในประเทศ/ต่างประเทศ, ตราสารหนี้, สินค้าโภคภัณฑ์) ซึ่งสามารถตอบโจทย์นักลงทุนที่มีความเสี่ยงที่แตกต่างกันได้เป็นอย่างดี


กำลังโหลดความคิดเห็น