โดยคุณกิติชาญ ศิริสุขอาชา CFP®
สมาคมนักวางแผนการเงินไทย
ในช่วงการเป็นนักศึกษาถือเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเริ่มต้นวางแผนการเงิน ทั้งการวางแผนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง (Wealth Creation) ปกป้องความมั่งคั่ง (Wealth Protection) สะสมความมั่งคั่ง (Wealth Accumulation) และส่งมอบความมั่งคั่ง (Wealth Distribution) โดยเราสามารถสร้างความมั่งคั่งผ่านการวางแผนเงินออม วางแผนใช้จ่ายเงิน วางแผนหนี้สิน ในขณะที่เราสามารถปกป้องความมั่งคั่งผ่านการวางแผนประกัน และวางแผนเกษียณได้ ส่วนการสะสมความมั่งคั่งนั้นเราสามารถทำได้โดยผ่านการวางแผนการลงทุนและวางแผนภาษี และเราจะส่งมอบความมั่งคั่งด้วยการวางแผนมรดก
นักศึกษาที่จบการศึกษา เริ่มต้นเข้ามาสู่ตลาดแรงงานด้วยรายได้ขั้นต่ำ 15,000-100,000 บาท/เดือน ขึ้นกับวิชาชีพที่แตกต่างกันไป นักศึกษาควรจะต้องเรียนรู้เกี่ยวกับรายละเอียด ภาระหน้าที่และผลประโยชน์ต่างๆ เช่น อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในกรณีที่รับราชการ เพื่อเป็นการออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ รวมไปถึงการจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเพื่อใช้เป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานในยามเจ็บไข้ได้ป่วย นอกจากนั้น ควรศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายการค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนต่างๆ รวมถึงสินทรัพย์ทางการเงิน (เช่น กองทุน LTF RMF ประกันชีวิตที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป) ที่สามารถนำมาช่วยวางแผนภาษีได้อีกด้วย
ค่าใช้จ่ายแรกที่นักศึกษาควรหักไว้ก่อนคือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการออมเงินและการลงทุน อย่างน้อยประมาณ 10-20% ของรายได้ การสร้างความมั่งคั่งด้วยการเพิ่มรายได้ หรือลดรายจ่ายลง หากทำได้ทั้ง 2 อย่างพร้อมๆ กันได้ยิ่งดี หลังจากที่เรามีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายแล้ว เราควรสำรองสภาพคล่องทางการเงินขั้นต่ำไว้ก่อน 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในแต่ละเดือน (เช่น หากเรามีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 10,000 บาท เราควรมีเงินสดสำรองเผื่อไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน 30,000-60,000 บาท) หลังหักเงินสดสภาพคล่องไปแล้ว เราจะเข้าสู่กระบวนการปกป้องความมั่งคั่ง เช่น โรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุ ทุพพลภาพที่อาจส่งผลให้เราไม่สามารถทำมาหากินเพื่อหารายได้เลี้ยงชีพได้ รวมไปถึงการมีเงินเก็บไม่เพียงพอที่จะใช้ในยามเกษียณ และอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการวางแผนการเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่งได้ ดังนั้น เราจึงต้องมีการปกป้องความมั่งคั่งผ่านการวางแผนประกัน (ทั้งการประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และการประกันอุบัติเหตุ) และวางแผนเกษียณ
หลังกระบวนการสร้างความมั่งคั่งและปกป้องความมั่งคั่งแล้ว เราก็จะมาสะสมความมั่งคั่งผ่านการวางแผนการลงทุนและวางแผนภาษี สำหรับสินทรัพย์ลงทุนก็มีหลายประเภทไม่ว่าจะเป็น ตราสารทุน (หุ้น ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ) ตราสารหนี้ (ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ฯ) และตราสารอนุพันธ์ โดยการเลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เราควรจะต้องพิจารณาถึงอัตราผลตอบแทนเทียบกับความเสี่ยงที่แต่ละบุคคลจะยอมรับได้ โดยมีระยะเวลาการลงทุน และความสามารถในการรับความเสี่ยงเป็นตัวกำหนด
สำหรับนักศึกษาซึ่งกำลังจะเข้าสู่วัยทำงานอยู่ในระยะสะสมจะเป็นผู้ที่สามารถรับความเสี่ยงได้มาก เนื่องจากมีระยะเวลาการทำงานจนเกษียณอีกนาน ดังนั้น การวางแผนการเงินการลงทุนจึงควรให้น้ำหนักต่อการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) ไปที่ตราสารทุน (หุ้น) หากเราพิจารณาอัตราผลตอบแทนเทียบความเสี่ยงย้อนหลังไป 10 ปี จะพบว่าหุ้นเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงสุด (ผลตอบแทนตลาดหุ้นย้อนหลัง 10 ปีเฉลี่ย +10.11%) เหนือกว่าทั้งอัตราเงินเฟ้อ (+2.7%) ผลตอบแทนของตราสารหนี้ (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี +4.2% อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี +3.61%) และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปีเฉลี่ยย้อนหลัง 10 ปีอยู่ที่ 2.325% (ก่อนหักภาษี 15% หรือคิดเป็นอัตราดอกเบี้ยหลังหักภาษีที่ 1.98%)
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหุ้นจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง แต่ความเสี่ยงก็สูงตามไปด้วย ดังนั้น หากนักศึกษาสนใจที่จะออมเงิน หรือลงทุนในหุ้นจะต้องศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อให้การวางแผนการลงทุนเป็นการลงทุนจริงๆ ไม่ใช่เป็นแค่การเก็งกำไร ซึ่งนักศึกษาสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย บริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ แต่หากไม่มีเวลาศึกษาแต่อยากลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็สามารถติดต่อให้มืออาชีพช่วยดูแลการลงทุนแทนผ่านการลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในตลาดหุ้น โดยสามารถติดต่อสอบถามได้ทางบริษัทหลักทรัพย์จัดการการลงทุนต่างๆ ได้ครับ