โดยบริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาผมได้มีโอกาสไปร่วมงาน “มหกรรมการลงทุนครบวงจรแห่งปี กับ SET in the City 2015” ที่สยามพารากอน ซึ่งนักลงทุนอย่างผมจะพลาดเสียไม่ได้ เพราะในงานนี้มีการให้ความรู้ทางการเงินและมีโปรโมชันดีๆ เกี่ยวกับการลงทุนที่ผมจะต้องไปอัปเดตและชอปปิ้ง ไม่ว่าจะเป็น หุ้น อนุพันธ์ ทอง กองทุน ประกันภัย ประกันชีวิต ฯลฯ แล้วท่านผู้อ่านได้ไปงานประเภทนี้กันบ้างหรือไม่ครับ ซึ่งผมขอแนะนำให้ท่านได้ลองไปอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้งเพื่อเป็นการเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ของท่านครับ
โดยวันนี้ผมมีแนวคิดดีๆ จากงาน SET in the City 2015 ในครั้งนี้มาแนะนำผู้อ่านทุกท่านครับ ผมไม่แน่ใจว่าแต่ละท่านเคยได้ยินคำกล่าวที่ว่า “ถ้าได้มาแล้วรู้จักรักษา...เชื่อได้ว่าสิ่งนั้นจะอยู่กับเราได้นานเสมอ” แต่วันนี้ผมคงจะไม่แนะนำเพียงแค่การเก็บรักษาเท่านั้น แต่ผมจะแนะนำการต่อยอดให้ท่านผู้อ่านทราบวิธีการทำให้เงินหรือทรัพย์สินเพิ่มพูนมากขึ้นๆ ด้วยครับ ทั้งนี้ก็เพื่อให้เงินในกระเป๋าของท่านไม่ลดน้อยถอยลง และแถมยังงอกเงยเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อยๆ สมกับการเป็นนักลงทุนที่สร้างความมีเสถียรภาพให้แก่ชีวิตตนเองและครอบครัวของท่านครับ
หากจะคิดกันอย่างละเอียดแล้วในชีวิตนี้มีสิ่งสำคัญหลายสิ่ง ซึ่งถ้าหากเราต้องการทำให้เรื่องยากกลายเป็นเรื่องง่ายนั้นเราจำเป็นต้องทราบ และให้ความสำคัญในเรื่อง “การวางแผน” เพราะหากมีการวางแผนแล้วย่อมทำให้ทุกๆ ปัญหาที่เกิดขึ้นสามารถบรรเทาลงได้ เนื่องจากการวางแผนช่วยทำให้เรารับมือกับปัญหาต่างๆ ได้ดีกว่า และการวางแผนหนึ่งที่เราจะละเลยไม่ได้เลยเพราะเป็นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญต่อชีวิตไม่น้อย นั่นคือ การวางแผนการเงินที่สามารถตอบสนองเป้าหมายทางการเงินในชีวิตของเราในแต่ละช่วงชีวิต ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยครอบคลุมหลักการบริหารจัดการและสร้างความสมดุลในแต่ละด้าน ซึ่งประกอบไปด้วย
การสร้างความมั่งคั่ง ซึ่งเป็นการให้ความสำคัญทั้งการออมและการลงทุน โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์สูงสุด ซึ่งในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินมีหลากหลายรูปแบบให้ได้เลือก ซึ่งพร้อมที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดที่ตรงกับเป้าหมายการออม และการลงทุนของแต่ละบุคคลตามแต่ละช่วงชีวิต และอะไรล่ะครับคือ ความแตกต่างระหว่างการออมเงินกับการลงทุน
ผมก็มีความหมายอย่างง่ายๆ เพื่อให้ท่านผู้อ่านสามารถแยกความต่างระหว่าง “การออม” กับ “การลงทุน” มาฝากครับ
สำหรับ “การออม” เป็นการสะสมเงินเพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น การไปพักผ่อนในวันหยุด ซึ่งเมื่อเราออมเงินได้จำนวนหนึ่งและก็ถอนเงินทั้งก้อนนั้นออกมาเพื่อไปเป็นค่าใช้จ่ายในการไปพักผ่อนในวันหยุดหลังจากนำเงินไปใช้จนหมดก็เริ่มต้นสะสมเงินออมกันใหม่ ซึ่งแตกต่างจากการ “ลงทุน” คือ การนำเงินเพื่อสร้างความมั่งคั่ง โดยคนที่ต้องการสร้างความมั่งคั่งนั้นจะลงทุนเพื่อให้เงินออมนั้นงอกเงยเพิ่มขึ้นครับ
การปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน การเข้าใจถึงความจริงของชีวิตที่แฝงไว้ด้วยความเสี่ยง จึงควรตระหนักถึงการป้องกันความเสี่ยงของชีวิตและทรัพย์สินที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดภาระและบรรเทาทุกข์เมื่อประสบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยเครื่องมือที่จะช่วยรักษาความมั่งคั่งให้คงอยู่อย่างง่าย คือ การทำประกัน ไม่ว่าจะเป็น “การประกันชีวิต” หรือ “ประกันวินาศภัย”
โดยประโยชน์ของการประกันภัย คือ เสริมสร้างความมั่นคงให้แก่ตนเองและครอบครัว ผู้ที่ซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตและประกันวินาศภัย หรือซื้อกรมธรรม์ที่ให้ความคุ้มครองด้านอื่น คือผู้ที่ซื้อความมั่นใจในความมั่นคงของชีวิตและทรัพย์สิน หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น ผลประโยชน์ตามกรมธรรม์จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนทั้งปวง การทำประกันไว้ก็เท่ากับว่าได้สำรองเงินก้อนใหญ่ตามภาระผูกพันกับบริษัทประกัน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและเป็นหลักประกันอันมั่นคงของตัวเองและครอบครัวนั่นเองครับ
การบริหารจัดการกระแสเงินสด ในประเด็นนี้ท่านผู้อ่านต้องให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าประเด็นอื่นๆ และสำหรับผมแล้วคิดว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะจุดนี้เป็นเรื่องการสร้างความสมดุลอย่างแท้จริง โดยการให้ความสำคัญในการบริหารจัดการกระแสเงินสดเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำท่านผู้อ่านไปสู่อิสรภาพทางการเงิน เนื่องจากการบริหารจัดการเงินที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้มีสภาพคล่องในการใช้ชีวิตประจำวันและสามารถบริหารค่าใช้จ่ายในอนาคตได้ ทั้งนี้ยังรวมถึงการบริหารเงินในการลงทุนหรือการออมให้ได้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในแต่ละช่วงเวลาด้วยครับ
โดย “กระแสเงินสด” ที่ดีต้องแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงสถานะของเงินสดเป็นสำคัญ หรืออธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ เป็นการแสดงให้เห็นความเคลื่อนไหวของกระแสเงินสดของแต่ละบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งกระแสเงินสดนี้สามารถช่วยให้ท่านผู้อ่านสามารถตัดสินใจในการลงทุนหรือตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินได้โดยเห็นภาพรวม โดยกระแสเงินสดนี้จะเป็นข้อมูลการไหลเข้า-ออกของเงินสดในแต่ละช่วงเวลา พร้อมทั้งข้อมูลที่บอกว่าเงินสดทั้งหลายนั้นได้มาจากไหนและใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง โดยข้อมูลในส่วนนี้ก็อย่างเช่น รายรับ รายจ่าย การออม การลงทุน ดอกเบี้ยที่ได้รับ รวมถึงการจัดการหนี้สินต่างๆ เป็นต้นครับ
ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า “องค์ประกอบทั้ง 3 ประการ”นี้มีหน้าที่ขับเคลื่อนแผนการเงินให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งไว้และสามารถนำไปสู่ชีวิตที่มีอิสรภาพทางการเงิน ดังนั้น แผนการเงินที่ดีจึงควรต้องมีความสมดุลขององค์ประกอบทางการเงินทั้ง 3 ด้าน เพื่อให้แผนการเงินมีความสมบูรณ์ แข็งแกร่ง และสามารถตอบสนองสถานการณ์ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น สภาพสังคม เศรษฐกิจ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันครับ
และที่ขาดเสียไม่ได้ คือ ท่านต้องมีผู้ช่วยหรือผู้แนะนำเกี่ยวกับการวางแผนการเงิน ซึ่งสามารถออกแบบแผนการเงินให้ท่านได้อย่างเหมาะสมและเกิดผลลัพธ์สูงสุดตามเป้าหมายที่วางไว้
สุดท้ายนี้ ผมขอฝากทิ้งท้ายว่า “การสร้างชีวิตที่สมดุล” มีความสำคัญมากที่สุด และชีวิตที่สมดุล คือ ชีวิตเกรดเอ ที่ทุกๆ ท่านต้องการครับ โดยชีวิตเกรด A จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากวันนี้เรายังไม่ทราบเรื่องการวางแผนการเงิน สำหรับวันนี้ สวัสดีครับ