คอลัมน์ Design your life by Mutual Fund
โดยบลจ.ทิสโก้
การลงทุนในกองทุนรวม ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินรูปแบบของกองทุนที่แตกต่างกัน 2 ประเภท คือ กองทุนที่มีการบริหารเชิงรุก (กองทุน Active Fund) และกองทุนที่มีการบริหารแบบเชิงรับ (กองทุน Passive Fund) ซึ่งทั้ง 2 รูปแบบของกองทุนมีความเหมาะสมสำหรับนักลงทุน และรูปแบบของการลงทุนที่แตกต่างกัน แต่ก่อนที่จะอธิบายถึงความเหมาะสมดังกล่าว คงต้องมาดูกันก่อนว่ากองทุนทั้ง 2 มีความแตกต่างกันอย่างไร
กองทุน Active Fund : เป็นการบริหารแบบเชิงรุก โดยใช้ความสามารถของผู้จัดการกองทุนเป็นหลักในการคัดเลือกสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน โดยเป้าหมายคือต้องการให้ได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด (benchmark) อาทิ ลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนมากกว่า SET Index โดยสามารถแบ่งการวิเคราะห์การลงทุนของผู้จัดการกองทุนได้ใน 2 รูปแบบ คือ
1. Top Down Analysis ผ่านการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค, อุตสาหกรรม และดูพื้นฐานของสินทรัพย์ที่จะเข้าลงทุน
2. การวิเคราะห์ Bottom Up Analysis จะเริ่มพิจารณาจากสินทรัพย์ที่เข้าลงทุนก่อน และพิจารณาเศรษฐกิจมหภาค
กองทุน Passive Fund : คือการลงทุนให้ได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) มากที่สุด โดยสามารถยกตัวอย่างง่ายๆ อาทิ กองทุนที่ต้องการให้รับผลตอบแทนเหมือนกับดัชนี SET Index นั่นหมายความว่าถ้านับจากช่วงต้นปีที่ผ่าน SET Index ปรับเพิ่มขึ้น 20% กองทุนดังกล่าวควรจะสร้างผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียง 20% มากที่สุด
อัตราผลตอบแทนในระยะยาวกองทุนแบบไหนดีกว่า?
เมื่ออ่านถึงจุดนี้อาจจะคิดว่าอัตราผลตอบแทนที่ได้จากกองทุน Active Fund ควรจะมากกว่า Passive Fund แต่จากการรวบรวมข้อมูลของบทวิจัยในสหรัฐฯ กลับพบว่าอัตราผลตอบแทนกว่า 2,000 กองทุนที่บริหารในรูปแบบ Active Fund ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ระหว่างปี 1998 ถึง 2013 มีเพียง 25% เท่านั้นที่ผู้จัดการกองทุนสามารถบริหารอัตราผลตอบแทนได้ดีกว่าเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อพิจารณาในระยะยาวแล้ว อัตราผลตอบแทนที่ได้จากกองทุน Passive Fund จะดีกว่า Active Fund
อย่างไรก็ดี การทดสอบนี้ทำในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่มีหุ้นอยู่จำนวนมาก ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สมบูรณ์ ยากที่กองทุน Active Fund จะหาอัตราผลตอบแทนได้มากกว่ากองทุน Passive Fund อย่างไรก็ดี หากอิงตามข้อมูลดังกล่าวย่อมเป็นไปได้ว่า ในตลาดหุ้นที่ขนาด (market capitalization) ไม่ใหญ่มากนัก กองทุน Active Fund ย่อมมีโอกาสหาอัตราผลตอบแทนสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้
ปัจจัยที่ควรพิจารณาระหว่าง Active และ Passive Fund
นอกจากประเด็นในเรื่องของอัตราผลตอบแทนแล้ว สิ่งที่ต้องไม่ลืมคือค่าธรรมเนียมในการลงทุน แน่นอนว่าค่าธรรมเนียมในการจัดการบริหารกองทุน Active Fund โดยส่วนใหญ่จะมีค่าใช้จ่ายในการบริหารที่สูงกว่าเพราะต้องใช้ผู้จัดการกองทุนที่มีประสบการณ์สูง และมีค่าใช้จ่าย (transaction cost) จากการปรับพอร์ตการลงทุนที่บ่อยกว่าเมื่อเทียบกับกองทุน Passive Fund ที่เน้นลงทุนอิงกับเกณฑ์มาตรฐาน (benchmark) เท่านั้น
ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุน Passive Fund ยังเหมาะสำหรับนักลงทุนที่ต้องการจัดพอร์ตการลงทุน (asset allocation) อย่างง่าย เพื่อกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไปในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ การจัดพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก นักลงทุนสามารถลงทุนผ่านกองทุน Passive Fund ที่อิงกับดัชนีตลาดหุ้นในต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ข้อดีของกองทุน Active Fund ย่อมมี กล่าวคือ ในช่วงตลาดหุ้นขาลง หรือ ในช่วงที่ตลาดหุ้นไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก (sideway) กองทุน Active Fund มักจะมีอัตราผลตอบแทนที่ดีกว่า เนื่องจากผู้จัดการกองทุนสามารถปรับเปลี่ยนพอร์ตการลงทุนได้อย่างอิสระ ในขณะที่กองทุน Passive Fund ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
นักลงทุนควรเลือกลงทุนอย่างไร
นักลงทุนที่ต้องการลงทุนในกองทุน Active Fund ควรให้เวลาในการศึกษาและพิจารณารายละเอียดในการลงทุนมากกว่ากองทุน Passive Fund เนื่องจากผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากเกณฑ์อ้างอิงมาตรฐานนั้นมาจากความสามารถของผู้จัดการกองทุนนั่นเอง ซึ่งแต่ละผู้จัดการกองทุนจะมีรูปแบบ และเกณฑ์การเข้าลงทุนที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะลงทุนในกองทุนประเภทใด นักลงทุนควรจะต้องศึกษาหนังสือชี้ชวนก่อนการลงทุนในกองทุนทุกครั้ง และขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการลงทุนในกองทุนรวมครับ