xs
xsm
sm
md
lg

Fund Manager Talk : สภาพคล่องในตลาดโลกจะเป็นอย่างไรเมื่อสหรัฐฯ สิ้นสุดการทำ QE

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ทีมจัดการการลงทุน
บลจ. ทิสโก้ จำกัด

    

ในเดือนตุลาคมนี้แล้วที่การทำ QE Tapering ของสหรัฐฯ จะสิ้นสุดลง ซึ่งนั่นก็หมายความว่า สภาพคล่องที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ คอยอัดฉีดเข้ามาในระบบการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็จะยุติลง ดังที่นักลงทุนทราบกันดีว่า ในช่วงที่สภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) มีอยู่สูง ขณะที่ดอกเบี้ยถูกกดให้ต่ำ การลงทุนในตลาดหุ้นเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี แต่ในทางกลับกัน หากสภาพคล่องส่วนเกินดังกล่าวหายไป และดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะปรับขึ้นในปี 2015 นักลงทุนอาจจะเป็นกังวลว่า ดัชนีตลาดหุ้นจะเกิดการกลับทิศเป็นขาลงหรือไม่  หรือการลงทุนในหุ้นยังเป็นสินทรัพย์ที่ยังน่าเข้าลงทุนหรือไม่ในปีหน้า
    
จากภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในขณะนี้ ดัชนีทางเศรษฐกิจหลายตัวได้บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง GDP(g) ในไตรมาสที่ 2/2014 ที่ออกมาสูงกว่าคาดการณ์ที่ 4.2% QoQ  รวมถึงกิจกรรมภาคการผลิต การลงทุน การบริโภค และการจ้างงาน ที่มีพัฒนาการในเชิงบวกทำให้ ณ วันนี้ การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการทำ QE ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง Fed จึงมีเป้าหมายที่จะยุติการทำ QE ในอีกไม่ช้านี้

ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในยุโรป และญี่ปุ่น กลับให้ภาพในทางตรงข้ามต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยในไตรมาสที่ 2/2014 GDP(g) ของเศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนเติบโตเพียงแค่ 0.0% QoQ จาก +0.2% ในไตรมาสที่ 1 จากแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้กิจกรรมภาคการลงทุน และการบริโภค รวมถึงการส่งออกชะลอตัวลง สำหรับประเทศญี่ปุ่น ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการปรับขึ้น Consumption Tax ทำให้ GDP(g) ใน CY2Q/14 หดตัวลงมากกว่าคาดที่ -7.1% QoQ และด้วยภาพที่เศรษฐกิจอ่อนแอลงนี้เองทำให้มีแนวโน้มว่า ธนาคารกลางของยุโรป (ECB)  และญี่ปุ่น  (BoJ) จะต้องทำ QE เพิ่มเติม เพื่อที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้กลับมาแข็งแรงให้ได้

ทำให้ในเดือนกันยายน ในการประชุม ECB ครั้งล่าสุด ECB ได้ประกาศแผนที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ว่าจะเป็น  Asset Backed Securities (ABSPP) และ Covered Bonds (CBPP) เพิ่มเติมจากมาตรการการปล่อยกู้ระยะยาวให้แก่ภาคธุรกิจ (Targeted Long-Term Refinancing Operations -TLTRO) โดยตั้งเป้าว่าจะขยาย Balance Sheet ของ ECB ให้กลับไปสู่ระดับเดียวกันกับในปี 2012 ที่ขนาด Balance Sheet ของ ECB อยู่สุงถึง Euro  3.1trn เทียบกับปัจจุบันที่ Euro2.01 trn ดังนั้น Package ที่ ECB ตั้งเป้าในการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบน่าจะอยู่ประมาณ Euro 1 trn (TLTRO + ABSPP +CBPP)
    
ซึ่งถ้าจะทำให้มองเห็นภาพชัดขึ้น เมื่อเราเทียบกับขนาด Balance Sheet  ของ Fed ที่ขยายตัวขึ้นนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน ที่ US$389bn หรือเทียบเท่ากับ Euro300bn จะเห็นว่าขนาดของการอัดฉีดสภาพคล่อง เพียงแค่ในกลุ่มยูโรโซน ก็สูงกว่าจำนวนที่ Fed อัดฉีด QE เข้ามาในปีนี้ นอกจากนี้ หากเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนยังคงฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ECB อาจจะมีแนวโน้มที่จะทำ Broad-based QE ได้อีก ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ตลาดโลกได้เป็นอบ่างดี
    
ในส่วนของญี่ปุ่นที่เศรษฐกิจหดตัวลงมากกว่าคาด ถึงแม้ BoJ เชื่อว่าเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นจากการปรับขึ้น Consumption Tax ในเดือนเมษายน 2014 สิ่งที่นักวิเคราะห์ รวมทั้งนักลงทุนยังเป็นกังวลอยู่ก็คือ อัตราเงินเฟ้อที่ออกมาค่อนข้างต่ำ โดย Core CPI ในเดือนมิถุนายน หลังจาก ปรับผลกระทบจากการปรับขึ้นของ Consumption Tax ออกมาที่ +1.3% เท่านั้น ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า โอกาสที่อัตราเงินเฟ้อจะเป็นไปตามเป้าหมายของ BoJ ภายในปี 2016 น่าจะมีน้อยลง ดังนั้น BoJ น่าจะนำมาตรการ QE มาใช้เพิ่มเติม เพื่อที่จะได้เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงเป้าหมายเงินเฟ้อตามที่กำหนด

 โดยขนาดของการทำ QE ในรอบใหม่ น่าจะอยู่ประมาณเดียวกันกับขนาด ณ ปัจจุบันที่ Yen 70trn ดังนั้น หากนักลงทุนกำลังกังวลว่าปีหน้าสภาพคล่องจะหดหายลงไป ขอให้มั่นใจได้ว่าปัจจัยสภาพคล่องยังคงเอื้อต่อการลงทุนในตลาดหุ้นเช่นเดิม อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างเช่นสหรัฐฯ กำลังอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงิน อาจทำให้ ตลาดหุ้นต้องเผชิญต่อความผันผวนบ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่ดีที่นักลงทุนจะจับจังหวะหาโอกาสเข้าลงทุนในตลาดที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งในมุมมองของ บลจ.ทิสโก้ เรายังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในเอเชียหนือ (เกาหลีใต้, ไต้หวัน, จีน และฮ่องกง) ที่เศรษฐกิจจะถูก Drive ด้วยการส่งออกที่จะฟื้นตัวขึ้นตามเศรษฐกิจโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น