xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทันการลงทุนกับ KAsset : ความพยายามครั้งใหม่ของธนาคารกลางยุโรป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คอลัมน์ “รู้ทันการลงทุนกับ KAsset”
โดย บลจ.กสิกรไทย

หลังจากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนต่ำสุดในประวัติการณ์ พร้อมกับนำอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบมาใช้เป็นครั้งแรกในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank - ECB) ก็ได้ดำเนินมาตรการเพิ่มเติมอีกครั้งในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้ ด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเพิ่มเติม ซึ่งนับว่าเป็นการเดิมพันครั้งสำคัญของ ECB ในการที่จะพยายามฉุดเศรษฐกิจยุโรปให้ฟื้นตัวขึ้นมาให้ได้

สำหรับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 มาตรการหลักๆ  คือ มาตรการด้านดอกเบี้ย และมาตรการด้านการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์ที่หลายๆ คนคาดหวังไว้ โดยในด้านของดอกเบี้ย ECB ได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาเพิ่มเติมอีก 0.10% มาอยู่ที่ 0.05% ในขณะที่ด้านของอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หลังจากที่เคยปรับลดลงมา -0.10% ในครั้งก่อนหน้า เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ยุโรปที่มีสภาพคล่องเหลือนำเงินไปปล่อยกู้แทนที่จะนำมาฝากกับ ECB แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่จูงใจเท่าใดนัก จนต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มลงมาอีกเป็น -0.20% ซึ่งเชื่อว่าน่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งหลายที่ยังคงลังเลใจที่จะเข้าร่วมโครงการปล่อยกู้ระยะยาวสำหรับภาคธุรกิจที่แท้จริง (Targeted Long Term Refinancing Operations - TLTRO) โดยคาดหวังว่าดอกเบี้ยจะลดลงไปอีก น่าจะหมดความลังเลลง และเข้าร่วมประมูลหรือขอวงเงินที่จะปล่อยกู้ในเดือนนี้มากขึ้น เพราะ ECB ได้ส่งสัญญาณกลายๆ มาแล้วว่าการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้เป็น Lower Bound หรือขอบล่างแล้ว ดังนั้น คงไม่น่าที่จะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติมอีก ซึ่งหากมาตรการ TLTRO ประสบความสำเร็จก็จะทำให้มีการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจที่แท้จริงเพิ่มมากขึ้น และจะส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจยุโรป รวมถึงผลประกอบการของบริษัทยุโรปด้วย

สำหรับมาตรการอีกด้านที่ ECB จะนำมาใช้ คือการเข้าซื้อสินทรัพย์ประเภทที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Asset Backed Securities - ABS) ซึ่งรวมถึงหลักทรัพย์ประเภทอสังหาริมทรัพย์เพื่อที่อยู่อาศัย (Residential Mortgage Backed Securities - RMBS) ด้วย แม้จะยังไม่มีการประกาศอย่างชัดเจนว่าจะใช้วงเงินในการซื้อมากน้อยเพียงใด รวมถึงแผนการซื้อในรายละเอียดจะเป็นอย่างไรบ้าง เพราะต้องรอการประชุม ECB ในช่วงต้นเดือนตุลาคมอีกครั้ง แต่ก็คาดว่าน่าจะเป็นวงเงินที่ค่อนข้างสูง เพราะ ECB เอง ได้คาดว่าขนาดสินทรัพย์ในงบดุลของ ECB น่าจะเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 1 ล้านยูโร ซึ่งผลของการเข้าซื้อ ABS ในครั้งนี้จะช่วยลดสัดส่วนในสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ในยุโรปลง ทำให้สัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ยุโรป รวมถึงช่วยทำให้อัตราดอกเบี้ยในตลาดยังคงอยู่ในระดับต่ำจากเม็ดเงินและสภาพคล่องที่จะไหลเข้าสู่ระบบ และในที่สุดก็น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจยุโรปโดยรวมเนื่องจากจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทยุโรปอยู่ในระดับต่ำ และต่ำลงต่อเนื่องได้อีกจากการทยอยซื้อสินทรัพย์

อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงในระยะยาวที่ยังคงต้องจับตามองต่อไป คือประเด็นเรื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้ว่ามาตรการครั้งนี้ค่อนข้างที่จะแรงและเกินกว่าที่ตลาดคาดไว้มาก นั่นคือ ECB ยอมรับกลายๆ ว่าเศรษฐกิจยุโรปนั้นมีการฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้ามาก ดังจะเห็นได้จากตัวเลข GDP ของไตรมาส 2/2557 ซึ่งอยู่ที่ 0% หรือไม่มีการเติบโตเลย

 ขณะที่ประเทศเศรษฐกิจหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี ฝรั่งเศส มีการขยายตัวน้อยมากในไตรมาสที่ผ่านมา ในขณะที่อิตาลีซึ่งเป็นอีกประเทศหลัก กลับมีเศรษฐกิจที่หดตัว ซึ่งหากมาตรการอัดฉีดยาแรงในครั้งนี้ ทั้งในส่วนของการลดอัตราดอกเบี้ย และการเข้าซื้อสินทรัพย์ ABS ยังไม่ทำให้อัตราเงินเฟ้อของยุโรป และ GDP ขยายตัวได้ตามคาดก็จะยิ่งน่ากังวลมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยไม่น่าที่จะปรับตัวลดลงได้อีก แต่ทั้งนี้ เชื่อว่าหากเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สามารถฟื้นได้ตามที่คาด ทาง ECB ก็ยังมีมาตรการเพิ่มเติมในรูปแบบของ QE หรืออัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านการซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน รวมถึงพันธบัตรรัฐบาลเพิ่มเติม ซึ่งน่าจะทำให้เศรษฐกิจยุโรปในระยะยาวสามารถฟื้นตัวได้ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ แม้มาตรการที่ประกาศออกมา 2 ประเด็นดังกล่าวข้างต้นจะดูดีเพราะเชื่อว่าน่าจะสร้างความเติบโตให้เศรษฐกิจยุโรปได้ในระยะยาว แต่ตลาดหุ้นยุโรปกลับปรับตัวเป็นบวกแค่ในช่วงสั้นๆ หลังจากประกาศมาตรการเท่านั้น เพราะหลังจากนั้นยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 1-2% อย่างไรก็ดี การที่ตลาดยุโรปปรับตัวลดลงไม่ได้เกิดจากความกังวลในมาตรการของ ECB แต่อย่างใด แต่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้น

 โดยเฉพาะความกังวลในเรื่องของการลงประชามติของสกอตแลนด์ที่จะแยกตัวออกมาเป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักรเป็นหลัก ทั้งนี้รวมถึงประเด็นเรื่องความไม่สงบระหว่างประเทศรัสเซียกับประเทศยูเครน รวมถึงการคว่ำบาตรประเทศรัสเซีย ที่อาจจะกดดันตลาดให้มีความผันผวนได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรามองว่าน่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบตลาดในระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยหากดูในแง่ราคาแล้ว ก็พบว่าระดับราคาของหุ้นยุโรปจากดัชนี MSCI Europe เองก็ยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ โดยมีอัตราส่วน Forward P/E อยู่ที่ 15 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 17 เท่า และเมื่อเทียบกับหุ้นสหรัฐฯ* ที่มี Forward P/E เกือบๆ 17 เท่า ก็ถือว่าตลาดหุ้นยุโรปยังมีมูลค่าที่ดึงดูดกว่า

คำเตือน
- การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน
- ข้อมูล ณ วันที่ 17 กันยายน 2557 โดยนายอาทิตย์ ทองเจริญ ผู้บริหารงาน ฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น