xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอชี้จุดอ่อนนโยบายการออม “บิ๊กตู่” ต้องโอนให้ประกันสังคมดูแล-เลิกคลัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รัฐเร่งโหมดึงแรงงานนอกระบบ สมัครประกันตน ตามมาตรา 40 ชี้สมัครภายใน 8 ธันวาคมนี้ ได้สิทธิ์จ่ายย้อนหลัง พร้อมเงินสมทบทันที แถมเจ็บป่วยรัฐชดเชยวันละ 200 บาท ขณะที่คนสมัครแค่ 2 ล้าน ตั้งเป้าไว้ถึง 35 ล้านคน ด้านนักวิชาการทีดีอาร์ไอ แจงนโยบายออมเงินที่ถูกต้องและได้ผล ควรผ่านมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม ตามแนวทางที่ ‘ยิ่งลักษณ์’ สร้างไว้ ไม่ใช่โยนไปให้กระทรวงการคลังดูแล พร้อมสร้างแรงจูงใจด้วยสิทธิประโยชน์ระหว่างทางก่อนเกษียณจึงจะทำให้นโยบายการออมสัมฤทธิผล!

รัฐบาลเร่งระดมให้คนไทยมีการออมเงินให้มากขึ้น เพื่อรองรับสถานการณ์ในอีก 10 ปีข้างหน้า ที่ประเทศไทยจะขึ้นแท่นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โดยข้อมูลจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุไว้ว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 และอีก 30 ปี หรือใน 3 ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% ดังนั้นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเปิดไฟเขียวให้จัดตั้งกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อจัดระบบสวัสดิการที่ยั่งยืนให้กับแรงงานนอกระบบจำนวน 35 ล้านคน ซึ่งคนกลุ่มนี้กำลังจะก้าวสู่การเป็นผู้สูงอายุในอนาคต

อย่างไรก็ดี การที่รัฐบาลผลักดันนโยบายเงินออม โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อให้ผู้ที่เข้ามาอยู่ในกองทุนนี้ได้รับเงินบำเหน็จและบำนาญ จะได้มีเงินไว้ใช้ในการดูแลตัวเองหลังจากที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้อีกต่อไป ขณะที่ปัจจุบันรัฐมีกองทุนหลักอยู่ 3 กองทุน คือ 1. กองทุนระบบสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งจะมีทั้งในเรื่องการรักษาพยาบาลและระบบเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้หลังเกษียณ 2. กองทุนประกันสังคม ที่ให้กับผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในเรื่องการรักษาพยาบาลและบำเหน็จบำนาญ ตามเงื่อนไขของการส่งเงินประกัน และ 3. กองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งคนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ในกองทุนระบบสวัสดิการข้าราชการและกองทุนประกันสังคม มีสิทธิในการรักษาพยาบาลที่รู้จักกันในนามบัตรทอง แต่จะไม่ได้มีเงินบำเหน็จบำนาญไว้ใช้แต่ประการใด

“คนที่เป็นแรงงานนอกระบบ และใช้สิทธิบัตรทอง ควรที่จะมีหลักประกันตนเอง มีเงินออมไว้ใช้ในยามสูงอายุ ก็คือกลุ่มเป้าหมายที่รัฐต้องการให้เข้าสู่ระบบการออม”

ขณะเดียวกันในเรื่องนโยบายเงินออมนั้น มีความพยายามผลักดันและหาสูตรในการดำเนินงานมาหลายรัฐบาลแต่ยังไม่มีระบบและรูปแบบที่ชัดเจน กระทั่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการจัดทำและนำร่องแผนการออมเพื่อการเกษียณอย่างเป็นระบบ โดยเพิ่มเติมตัวเลือกการออม ผ่าน พ.ร.บ.ประกันสังคม ในมาตรา 40 ซึ่งเปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบ มีเงินบำเหน็จและเงินบำนาญ ภาคสมัครใจ และเพิ่มแรงจูงใจด้วยการมีเงินภาครัฐเข้ามาสมทบ พร้อมขยายความคุ้มครอง เพิ่มสิทธิประโยชน์มากถึง 5 ทางเลือก สำหรับผู้มีอายุไม่ถึง 65 ปีคือ

ทางเลือกแรก จ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท/เดือน และรัฐบาลอุดหนุน 30 บาท/เดือน ประเภทนี้สิทธิประโยชน์ที่ได้รับคือสิทธิประโยชน์ 3 กรณี ประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ และเสียชีวิต หรือจะเรียกง่ายๆ คือการประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และประกันชีวิต

ทางเลือกที่ 2 จ่ายเงินสมทบเดือนละ 150 บาท โดยผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 100 บาท ส่วนรัฐบาลจะช่วยออกให้อีกเดือนละ 50 บาท สิทธิประโยชน์จะเหมือนกับกรณีที่ 1 คือประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และได้เพิ่มคือเงินบำเหน็จชราภาพ ซึ่งก็คือการประกันแบบที่ 1 + การเพิ่มเงินออมแบบเป็นเงินก้อนคือบำเหน็จ

ทางเลือกที่ 3 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 200 บาท โดยผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท/เดือน และรัฐบาลช่วยอุดหนุนให้อีก 100 บาท/เดือน ทางเลือกนี้สิทธิประโยชน์คือเงินบำนาญชราภาพ หรือเงินออมแบบมีเงินรายเดือนหลังเกษียณ ที่สำคัญแรงงานนอกระบบอายุ 65 ปีขึ้นไปจะเลือกได้เฉพาะทางเลือกนี้เท่านั้น

ทางเลือกที่ 4 ผู้ประกันตนจ่ายเงินเดือนละ 170 บาท รัฐอุดหนุนเดือนละ 130 บาท สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับคือ ทางเลือกที่ 1+3 กรณีประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และได้เงินบำนาญชราภาพ เรียกว่าประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ ประกันชีวิต และมีเงินออมแบบรายเดือนหลังเกษียณ

สุดท้ายทางเลือกที่ 5 ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 200 บาท รัฐจะอุดหนุนอีกเดือนละ 150 บาท สิทธิประโยชน์ที่ได้รับคือทางเลือกที่ 2+3 กรณีตั้งแต่ประสบอันตราย/เจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต ได้เงินบำเหน็จชราภาพ และเงินบำนาญชราภาพ หรือได้ครบทุกอย่างตั้งแต่อุบัติเหตุ สุขภาพ ประกันชีวิต เงินออมทั้งแบบเงินก้อน และรายเดือนหลังเกษียณ

เลือกแบบไหนดีที่สุด

ส่วนแรงงานนอกระบบ จะเลือกทางเลือกไหนดีที่สุดนั้น แหล่งข่าวอธิบายว่า คุณสมบัติของผู้ประกันตนต้องมีอายุระหว่าง 15 - 60 ปี โดยสามารถพิจารณาทางเลือกตามความพึงพอใจในสิทธิประโยชน์ และช่วงอายุของผู้ประกันตน เช่น หากเน้นเรื่องสุขภาพเลือกทางเลือกที่ 1 หรือให้ความสำคัญเรื่องเงินออม ทางเลือกที่ 3 เป็นทางเลือกที่ดี หรือถ้าอยู่ในวัยใกล้เกษียณ ทางเลือกที่ 5 เป็นทางเลือกที่ครอบคลุมสำหรับการดูแลตนเอง และการเก็บเงินออม เป็นต้น

นอกจากนี้รัฐบาลมีนโยบายกระตุ้นที่จะให้ผู้สูงวัยมาเข้าร่วมโครงการซึ่งจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ โดยสามารถส่งเบี้ยย้อนหลังได้ ถึง30 เดือน และรัฐจะสมทบให้ 30 เดือนเช่นกัน และเงินออมนี้ยังสามารถยกให้ลูกหลานได้เมื่อผู้ประกันตนเสียชีวิต และยังได้ค่าทำศพอีก 20,000 บาทจะได้ไม่เป็นภาระให้ลูกหลานต่อไป

“ถ้าผู้ออมใช้ทางเลือกที่ 3 จ่าย 100 บาท รัฐสมทบให้อีก 100 บาท และถ้าไปสมัครภายในวันที่ 8 ธันวาคมนี้ จะสามารถจ่ายย้อนหลังได้ 30 เดือน คือจ่ายย้อนหลัง 3,000 บาท รัฐก็จะสมทบให้ 3,000 บาทเช่นกัน ซึ่งถ้าเราไปจ่ายวันที่ 8 ธ.ค. ล่วงหน้าของปีนี้ทั้งปีคือ 1,200 บาท เราก็จะได้สมทบอีก 1,200 บาท ก็เท่ากับเรามีเงินออมแล้ว 8,400 บาท หมายถึงเงินต้นเรา 1,200+3,000 เท่ากับ 4,200 รัฐสมทบ 4,200 รวมเป็น 8,400 บาท แถมจะมีดอกผลตามมาอีก”

อีกทั้งผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาล ด้วยการใช้สิทธิบัตรทอง ก็จะได้รับเงินชดเชยรายได้ 200 บาทต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้ประกันตนไม่ต้องกังวลว่าจะขาดรายได้ในอนาคต

“คนที่ทำประกันตามมาตรา 40 เมื่อเกษียณหรือไม่ได้ทำงาน เขาก็จะมีรายได้จากเงินบำเหน็จหรือบำนาญที่เขาจะได้รับต่อเดือน บวกกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามสิทธิเดิมที่รัฐจัดให้ จะทำให้ผู้สูงวัยพอที่จะมีเงินใช้ยังชีพได้ดีกว่าที่จะไม่เลือกทำประกันไว้”

ปัจจุบันสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้จัดขยายโครงการให้กับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60-65 ปี สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 40 ได้ทุกทางเลือก และอายุเกิน 65 ปีสมัครทางเลือกที่ 3 ได้ เพื่อการออมเงินชราภาพ ซึ่งจะปิดรับสมัครในวันที่ 8 ธ.ค. 2557 นี้แล้ว

ขณะที่แรงงานนอกระบบที่มีอายุระหว่าง 15-60 ปี ยังมีโอกาสเข้าร่วมโครงการเพื่อมีเงินออมเป็นหลักประกันหลังเกษียณ แต่สำหรับผู้มีอายุเกินกว่า 60 ปี หากไม่สมัครในรอบนี้ คงต้องรอนโยบายใหม่ของรัฐบาลในกองทุนออมเงินแห่งชาติว่าจะรองรับได้มากน้อยเพียงใด

รัฐปรับแผนเงินออมจากแรงงานมาไว้คลัง

อย่างไรก็ดี รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือ รัฐบาล คสช. ได้เตรียมแผนออมเงินเพิ่มเติมซึ่งพร้อมเดินหน้าทันที โดยจะนำแผนกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ของรัฐบาลประชาธิปัตย์มาปัดฝุ่น และจะมีการโอนสมาชิกจากกองทุนประกันสังคม มาตรา 40 ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบ ของกระทรวงแรงงาน ที่เน้นเรื่องการออมเงิน เข้ามาอยู่ในแผนกองทุนแห่งชาติ ภายใต้การบริหารงานโดยกระทรวงการคลัง ซึ่งดูแลรายได้คนหลังเกษียณ ทั้งบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ ผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

สำหรับความคืบหน้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) นั้นมีประกาศในราชกิจจานุเบกษา และกฎหมายมีผลบังคับใช้มาเป็นเวลา 3 ปีแล้ว จึงสามารถดำเนินการได้ทันทีภายในต้นปีหน้า โดยจะโอนผู้ประกันตน กองทุนประกันสังคม ตามมาตรา 40 ที่มีทั้งหมดกว่า 2 ล้านคน มาไว้ที่กองทุนการออมแห่งชาติ ซึ่งในระยะแรกตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนสมาชิกที่เป็นแรงงานนอกระบบให้ได้ 20 ล้านคน

โดยข้อมูลล่าสุดในเดือนพฤศจิกายน มีผู้ประกันตนมาสมัครแบ่งเป็นทางเลือกที่ 1 จำนวน 8,087 คน ทางเลือกที่ 2 จำนวน 1,476,707 คน ทางเลือกที่ 3 จำนวน 156,483 คน ทางเลือกที่ 4 จำนวน 505 และทางเลือกที่ 5 จำนวน 399,738 คน

ขณะที่สำนักงานประกันสังคมมีการประเมินว่าแรงงานนอกระบบที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของกองทุนนี้มีจำนวนมากถึง 35 ล้านคน แต่ในความเป็นจริงกลับมีอัตราการเข้าสมัคร ณ ปัจจุบันแค่ 2 ล้านคน ซึ่งหากพิจารณาจากสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับนั้น หากจะให้ได้ตามเป้าหมาย รัฐก็ควรจะสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานนอกระบบมากกว่านี้ เพราะจะเป็นการสร้างหลักประกันในอนาคตของแรงงานนอกระบบสำหรับชีวิตหลังเกษียณได้อย่างดี

นักวิชาการแนะวิธีการทำให้สำเร็จ

ด้าน “ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง” ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า มาตรการออมเงินในปัจจุบัน ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปฯ เสนอให้รัฐบาล คสช. ดำเนินแผนการออมเงิน โดยใช้วิธีการโอนสมาชิก แรงงานนอกระบบ ในระบบประกันสังคม มาตรา 40 มาไว้ที่กองทุนเงินออมแห่งชาติ เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบองค์กรไหนไม่ถูกใจก็ไปตั้งองค์กรใหม่ แทนที่จะเข้าไปแก้ปัญหาตรงนั้น แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าวันข้างหน้าผู้บริหารองค์กรใหม่จะทำได้ตามที่คาดหวัง

อีกทั้งคนที่รณรงค์เรื่องนี้มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการบริหารงานของกองทุนประกันสังคม จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนโยกมาไว้ที่กองทุนการออมแห่งชาติ ภายใต้กำกับของกระทรวงการคลัง สิ่งสำคัญคือต้องพยายามตอบโจทย์แรงงานนอกระบบให้ได้ จึงจะสามารถเพิ่มคนให้มาสมัครตามเป้าที่รัฐบาลวางไว้

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า มาตรการออมเงินวัยเกษียณจากอดีต-ปัจจุบัน มีการปรับเปลี่ยนมาหลายครั้ง จากจุดเริ่มต้นจากรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ คิดแผนกองทุนเงินออมแห่งชาติ ควบคู่แผนการออมเงิน ที่ให้กลุ่มแรงงานนอกระบบมีโอกาสในการออม จึงเป็นโยบายที่มีความซ้ำซ้อน ที่ต่อมารัฐบาลยิ่งลักษณ์เข้ามาบริหารไม่ได้สานต่อ แต่ยุบกองทุนแห่งชาติทิ้งไป พร้อมดำเนินแผนการออมเงินใหม่ โดยขยายมาตรา 40 ของประกันสังคม ให้มีทางเลือกมากกว่า 2 ทางเลือก ที่เพิ่มเรื่องการออมเงินเข้ามาอยู่ในทางเลือกที่ 3 - 5 เพื่อให้แรงงานนอกระบบมีเงินบำนาญไว้ใช้ในยามเกษียณ

ส่วนมาตรการออมเงินวัยเกษียณที่จะทำได้ดีและเร็วนั้น ควรสานต่อนโยบายการออมเงิน โดยผ่านมาตรา 40 ของสำนักงานประกันสังคม พร้อมเงื่อนไขที่จูงใจแรงงานนอกระบบด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นระหว่างทางก่อนวัยเกษียน

“แรงงานนอกระบบที่สมัคร ต้องการออมเงินมากกว่าเรื่องการรักษาพยาบาลในยามเจ็บป่วย ซึ่งมีบัตรทองอยู่แล้ว ทำให้จุดที่โฟกัสไม่ใช่เรื่องสุขภาพ สิ่งที่สำคัญคืออยากได้บำนาญ แต่สิ่งที่รัฐบาลทำออกมาในตอนนั้น ยังไม่จูงใจ คนมาสมัครจึงไม่มาก ประมาณล้านกว่าคน และจำนวนคนที่ส่งเงินสมทบรายเดือนเริ่มน้อยลงด้วยเช่นกัน”

ดร.วิโรจน์ย้ำว่า สิ่งที่สำคัญคือ การออกแบบกองทุนเงินออมแห่งชาติมี “ลักษณะที่ไม่ได้จูงใจ” คือ เป็นเพียงวิธีการสร้างวินัยการออมให้คนที่มีรายได้น้อย คือ “ออมในวันนี้แล้วกว่าจะได้ประโยชน์คือวันที่เกษียณ” ซึ่งระหว่างทางไม่ได้อะไรกลับมาเลย

ดังนั้น “ทางเลือกที่ดี” คือ นำการออมเงินประกันสังคมมาตรา 40 มาปรับเงื่อนไข เพื่อสร้างแรงจูงใจแรงงานนอกระบบให้มากขึ้น นอกจากมีเงินบำนาญแล้ว ควรจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกันตนได้รับระหว่างทางด้วย และจากการที่ทีดีอาร์ไอลงพื้นที่สำรวจทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการสร้างแรงจูงใจให้คนสมัครใจที่จะออมเงินกับรัฐบาล ตัวอย่างเก็บเงินสมทบจากแรงงานเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบอีกเดือนละ 100 บาทก็สามารถจ่ายบำนาญได้ถึง 500 บาทต่อเดือน เป็นต้น จึงจะทำให้คนเห็นประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาวเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างแรงจูงใจในการดึงคนเข้ามาสมัครเพิ่มขึ้น

ถึงวันนี้โจทย์ที่สำคัญในเรื่องการออมที่รัฐบาลต้องตระหนักก็คือเม็ดเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายมีผู้ประกันตนรวม 25 ล้านคน ในกรณีที่รัฐต้องจ่ายเงินอุดหนุนคนละ 100 บาทต่อเดือน ก็เท่ากับว่ารัฐต้องจัดเตรียมเม็ดเงินที่จะใช้อุดหนุนกว่า 2,500 ล้านบาทต่อเดือนหรือ 30,000 ล้านบาทต่อปี จึงจะทำให้โครงการเงินออมบรรลุตามเป้าหมายได้!

กำลังโหลดความคิดเห็น