คปภ.กำชับตัวแทนขายประกันตามหลักเกณฑ์ หลังพบผู้ร้องเรียนขายประกันไม่ตรงตามโฆษณา เผยหารือแบงก์ชาติทำระบบป้องกันการรั่วไหลข้อมูล
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า จากการติดตามกรณีที่ปรากฏในสื่อโซเชียลว่ามีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับโฆษณาขายประกันผู้สูงอายุไม่เป็นไปตามโฆษณา ซึ่งเรื่องนี้ คปภ.เร่งติดตามอย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 18 ธันวาคมนี้ คปภ.จะเชิญสมาคมประกันชีวิตไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อหารือแนวทางการโฆษณาเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านสื่อโทรทัศน์ และออนไลน์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมกับจะกำชับให้บริษัทประกันชีวิตดูแลผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตที่เสนอขาย รวมทั้งกำกับตัวแทนนายหน้าประกันชีวิตให้เสนอขายตามหลักเกณฑ์วิธีการเสนอขาย ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือ ตัวแทนหน้านายประกันชีวิตต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนและจะต้องแจ้งเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันผู้สูงอายุให้ชัดเจนว่าแตกต่างจากกรมธรรม์ประกันชีวิตอย่างไร หากพบการกระทำผิดและได้ตักเตือนแล้วยังกระทำผิดต่อเนื่อง คปภ.จะต้องดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตการขาย ซึ่งเป็นไปตามอำนาจทางกฎหมาย
ขณะนี้ คปภ.ยังได้รวบรวมภาพยนตร์โฆษณาทุกช่องทางทั้งโทรทัศน์และออนไลน์มาดู หลังจากก่อนหน้านี้สมาคมประกันชีวิตไทยได้มีการปรับปรุงเกณฑ์ไปก่อนหน้าแล้ว แต่พบว่ายังมีบางภาพยนตร์โฆษณาและบางช่องทาง โดยเฉพาะออนไลน์ยังมั่วๆ อยู่ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะต้องพิจารณาก่อนทำประกัน ศึกษารายละเอียดเงื่อนไขความคุ้มครอง และข้อยกเว้นให้เข้าใจ เมื่อได้รับกรมธรรม์แล้วต้องตรวจสอบเงื่อนไขว่าตรงตามความคุ้มครองหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามข้อตกลงสามารถยกเลิกได้ภายใน 15 หรือ 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับกรมธรรม์
“คปภ.พยายามมุ่งยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนให้เป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่ตามไปแก้ปัญหาเป็นรายกรณีไปเหมือนในอดีต เบื้องต้นได้ประสานงานไปยังบริษัทประกันชีวิตที่ถูกพาดพิงเพื่อชี้แจ้งข้อเท็จจริง พบว่ากรมธรรม์ไม่ใช่ปัญหา แต่การโฆษณาและคนขายเป็นปัญหา เราจะลงโทษจากเบาไปหนัก หากยังทำผิดคงจำเป็นต้องเชือดกันบ้าง”
นอกจากนี้ สำหรับแนวทางป้องกันข้อมูลลูกค้ารั่วไหล โดยเฉพาะทางด้านแบงก์แอสชัวรันซ์ คปภ.ได้หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเบื้องต้นแล้ว ธปท. แจ้งว่าธนาคารพาณิชย์ได้มีการเตรียมตัวรองรับเรื่องนี้เป็นอย่างดี แต่ในแง่ของการเปิดเผยข้อมูลลูกค้า คปภ.เห็นว่ายังต้องปรับปรุง ขอให้ทางธนาคารปรับปรุงแบบสอบถามที่ให้ลูกค้ากรอกด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของธุรกิจประกันภัยได้มีคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย ได้นำระบบไอทีตามโมเดล ของ ธปท. และ ก.ล.ต.มาเทียบเคียง รวมถึงนำโมเดลที่ดีสุดของต่างประเทศมาปรับใช้ รวมถึงมุ่งพัฒนาระบบฐานข้อมูลการประกันภัย (Insurance Bureau System) เนื่องจากในงานสัมมนาคณะกรรมการการตรวจสอบของบริษัทประกันภัย ครั้งที่ 2 /2558 ระบุว่าประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการการตรวจสอบยังให้ความกังวลอันดับแรกคือเทคโนโลยี IT Risk และอันดับสองคือ ความกังวลที่กฎระเบียบจะมีการเปลี่ยนแปลง