คปภ.ลุยคุ้มครองผู้บริโภค คุ้มเข้มขายประกันผ่านแบงก์ ย้ำต้องระบุชัดเจนว่าเป็นประกันหรือเงินฝาก ล่าสุดเตรียมหารือ ธปท.-สมาคมธนาคารไทย ปรับปรุงการขายให้เป็นไปตามเกณฑ์ ขู่โทษสูงสุดถึงขั้นถอนใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกัน
นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันการขายประกันผ่านช่องทางธนาคารมีการพัฒนาและได้รับความนิยมอย่างสูง แต่ยังมีปัญหาและรายละเอียดบางอย่างที่น่าจะก่อปัญหาขึ้นได้ โดยในวันนี้ (1 ธ.ค.) ทาง คปภ.จะทำการหารือร่วมกันกับทางสมาคมธนาคารไทย และธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาทางปรับปรุงและแก้ไขในบางจุด โดยเฉพาะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับกรมธรรม์ประกันภัยที่แตกต่างจากเงินฝาก รวมถึงการปฏิบัติตามประกาศของ คปภ.ที่กำหนดไว้
คปภ.ถือเป็นนายหน้าประกันภัยและมีบทบาทควบคุมดูแลผู้บริโภคและสร้างความเชื่อมั่นต่อธุรกิจประกันภัย ซึ่งอำนาจของ คปภ.จะสามารถลงโทษบริษัทประกันภัยตั้งแต่การสั่งให้หยุดรับประกันไปจนถึงขั้นร้ายแรงหากพบว่ามีความผิดก็สามารถยึดใบอนุญาตการประกอบธุรกิจประกันภัยได้ โดยแนวทางที่ชัดเจนของเราต่อจากนี้คือการคุ้มครองผู้บริโภค และต้องประชาสัมพันธ์ให้รับรู้ถึงบทบาทของ คปภ. หากประชาชนมีปัญหาก็สามารถเข้ามาร้องเรียนได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านหน่วยงานอื่นแต่อย่างใด
“เราดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนัก แต่ไม่ใช่ว่าจะเข้ามาทำให้ธุรกิจปั่นป่วน แต่บางสิ่งบางอย่างเราเตือนแล้วหากไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์คงต้องมีการดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งร้ายแรงสุดเราก็มีสิทธิ์ยึดใบอนุญาตได้เช่นกัน”
นายสุทธิพลกล่าวอีกว่า ทาง คปภ.อยากฝากเตือนประชาชนให้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัย โดยอยากให้ศึกษารายละเอียด รวมถึงหลักเกณฑ์การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของธนาคารอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจซื้อประกันภัย
ทั้งนี้ ตามความในประกาศ คปภ.เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต นายหน้าประกันชีวิต และธนาคาร พ.ศ. 2551 และประกาศ คปภ.เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันวินาศภัย นายหน้าประกันวินาศภัย และธนาคาร พ.ศ. 2552 ได้กำหนดหลักเกณฑ์การเสนอขายกรมธรรม์ไว้อย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของการแสดงตัวของพนักงานขายให้ตรงกับความเป็นจริง และต้องมีการอธิบายที่ชัดเจนถึงความแตกต่างของเงินฝากและการประกันภัย โดยหลีกเลี่ยงการใช้คำว่าฝากหรือฝากเงินแทนการชำระเบี้ยประกันภัย
นอกจากนี้ การทำประกันภัยของผู้บริโภคซึ่งเป็นลูกค้าธนาคารต้องเป็นไปโดยความสมัครใจ ห้ามไม่ให้มีการบังคับ หรือใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองในการให้สินเชื่อ หรือธุรกรรมอื่นๆ ของธนาคาร