โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com
กองทุนรวมประเภท Exchange Trade Fund (ETF) ผมเชื่อว่านักลงทุนหลายท่านคงเคยได้ยินมาบ้างพอสมควร ซึ่งโดยรวมแล้วกองทุนประเภท ETF ค่อนข้างได้รับความนิยมมากในตลาดต่างประเทศ โดยจะเห็นได้จากข้อมูลของ ETFG Data Source ซึ่งเผยแพร่ในงานสัมมนาของ Mirae Asset Management Global ETF ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนประเภท ETF จากประเทศเกาหลีใต้ เมื่อกลางเดือน พ.ย. 58 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค. 58 กองทุน ETF มีสินทรัพย์ประมาณ 3.001 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ครอบคลุมกว่า 63 ตลาดใน 51 ประเทศ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีการเติบโตประมาณ 7.8% นำโดยกองทุน ETF ประเภทตราสารทุนเป็นหลัก โดยจะเห็นจากยอดเงินลงทุนในตราสารทุนของ ETF ตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีมูลค่ากว่า 179,156 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่รองลงมาได้แก่ ตราสารหนี้ ที่มีมูลค่ากว่า 78,721 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 24.2% ต่อปี โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ในตลาดของ ETF เป็นนักลงทุนประเภทสถาบัน โดยเฉพาะกองทุนรวม กองทุนบำเหน็จบำนาญ และบริษัทประกัน เป็นหลัก จากข้อดีของการเข้าถึงสินทรัพย์อ้างอิง (Underlying Asset) ได้ง่ายและสะดวก รวมทั้งยังสามารถให้ผลตอบแทนใกล้เคียงกับสินทรัพย์อ้างอิงที่ลงทุนได้ (กรณี Passive Fund)
สำหรับประเทศไทยเราก็มีการลงทุนประเภทกองทุน ETF เช่นกันครับ แต่ค่อนข้างจำกัดกว่าตลาดต่างประเทศพอสมควร ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านสภาพคล่องของกองทุน ETF ที่ยังค่อนข้างน้อยในตลาดบ้านเรา รวมทั้งนักลงทุนไทยยังคงนิยมการออมเงินในธนาคารพาณิชย์มากกว่า แต่หากพิจารณาจากข้อมูลย้อนหลังก็ยังพบว่ามีพัฒนาการเติบโต โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีกองทุนประเภท ETF อยู่ 25 กองทุน จากเดิมที่ก่อตั้งในปี 2551 มีประมาณ 3 กองทุน โดยมูลค่าเติบโตขึ้นประมาณ 7% ต่อปี (แม้ว่าจะยังน้อยกว่าเมื่อเทียบกับทั่วโลกที่ประมาณ 24.2% ต่อปีตามข้อมูลก่อนหน้าก็ตาม)
ซึ่งในความเห็นของผม ผมมองว่าการลงทุนในกองทุน ETF ยังมีความน่าสนใจอีกค่อนข้างมาก เนื่องจากการลงทุนในกองทุน ETF สามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวางกลยุทธ์การลงทุนในลักษณะของการกระจายความเสี่ยงของนักลงทุนได้ เพราะการลงทุนใน ETF หนึ่งหน่วยสามารถให้ผลตอบแทนเสมือนกับการลงทุนในกลุ่มหลักทรัพย์ที่ต้องการ โดยใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มาก ยกตัวอย่าง กองทุนเปิด ไทยเด็กซ์ เซ็ท 50 อีทีเอฟ (TDEX) มีนโยบายลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนเลียนแบบดัชนี SET50 ซึ่งหากผู้ลงทุนลงทุนในหลักทรัพย์ TDEX เท่ากับว่าผู้ลงทุนสามารถลงทุนในหุ้น 50 ตัวที่ซื้อขายในดัชนี SET50 ดังนั้น การลงทุนในรูปแบบนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ลงทุนที่ไม่มีเวลาในการวิเคราะห์ข้อมูลหุ้นรายตัว และมีโอกาสรับผลตอบแทนตามดัชนีอ้างอิง โดยทั่วไป ETF จะสร้างขึ้นมาเพื่อเลียนแบบดัชนีทางการเงิน (Underlying Index) ซึ่งการลงทุนใน ETF จึงเหมือนการลงทุนโดยสร้างผลตอบแทนตามตลาดนั้นๆ
อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนที่สนใจการลงทุนในกองทุนรวม ETF ผมแนะนำให้ศึกษาเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับราคาหลักทรัพย์ ที่จะเกิดจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลง หรือที่เข้าใจว่าปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกประเทศ ซึ่งก็เป็นปัจจัยแวดล้อมตามธรรมชาติของการลงทุนในตลาดหุ้น ซึ่งผู้ลงทุนยังคงต้องติดตามข่าวสารบ้าง รวมถึงความเสี่ยงด้านผลตอบแทนเมื่อเทียบกับดัชนีอ้างอิง (Tracking Error) และความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน โดยความเสี่ยงนี้จะเกิดขึ้นต่อเมื่อ ETF ที่เข้าไปลงทุนเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศที่ใช้เงินสกุลอื่น ซึ่งอาจทำให้อัตราผลตอบแทนเมื่อคิดเป็นสกุลเงินบาทมีโอกาสต่ำกว่าหรือสูงกว่าอัตราผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง
ในด้านการเติบโตของกองทุน ETF ในประเทศไทยตามความเข้าใจของนักลงทุนและการสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ น่าจะทำให้อนาคต ETF จะกลายเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สร้างเม็ดเงินให้ตลาดทุนได้ และเป็นประโยชน์ต่อผู้ลงทุนทั่วไป เพราะสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการจัดพอร์ตเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุนได้ครับ
•นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจ ที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ
•“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”