xs
xsm
sm
md
lg

เอไลฟ์แนะวางแผนเลี่ยงภาษีมรดก ซื้อประกันชีวิตส่งต่อให้ลูกหลาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เอไลฟ์แนะเตรียมวางแผนหลบเลี่ยง “ภาษีมรดก” ชูผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตเป็นทางเลือกวางแผนมรดกส่งต่อลูกหลาน คาดจะดันให้ธุรกิจประกันชีวิตและบริการที่ปรึกษาวางแผนการเงินเติบโตสูง

นายธัญญะ ซื่อวาจา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักบริหารยุทธศาสตร์องค์การ บริษัท แอ๊ดวานซ์ ไลฟ์ ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากการที่ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดกจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 เป็นต้นไปนั้น น่าจะสร้างแรงกระตุ้นให้ภาคธุรกิจประกันชีวิต รวมถึงธุรกิจบริการที่ปรึกษาวางแผนการเงินได้รับประโยชน์ และมีทิศทางการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากธุรกิจประกันชีวิตได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดก แม้ว่าผลประโยชน์ที่ได้รับจะมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทก็ตาม ขณะเดียวกันยังได้รับประโยชน์จากการใช้สิทธิเพื่อหักลดหย่อนทางภาษีสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีอายุสัญญาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไปอีกด้วย

สำหรับหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีมรดกโดยทั่วไปนั้นแบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาษีกองมรดก (Estate Tax) ซึ่งเป็นภาษีที่เรียกเก็บจากความตายของเจ้ามรดกเสียชีวิตโดยนำทรัพย์สินทั้งหมดมารวมจากนั้นประเมินภาษีที่ต้องชำระและชำระตามจำนวนที่ประเมิน เหลือเท่าไหร่จึงค่อยส่งต่อให้ทายาทของผู้รับมรดก และ ภาษีการรับมรดก (Inheritance Tax) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากบุคคลหรือทายาทที่ได้รับมรดกโดยตรงหลังจากเจ้ามรดกเสียชีวิต ซึ่งผู้รับมรดกแต่ละคนจะเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี โดยในประเทศไทยจะใช้วิธีการจัดเก็บภาษีมรดกแบบ Inheritance Tax ซึ่งใครรับมรดกตามเกณฑ์การจัดเก็บก็จะมีหน้าที่เสียภาษีโดยตรงเอง

ทั้งนี้ จากการออกมาตรการการจัดเก็บภาษีมรดกจะส่งผลให้ธุรกิจประกันชีวิต รวมถึงบริการที่ปรึกษาด้านวางแผนการเงินได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้าที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีมรดกมากขึ้น เพื่อจะได้มีการเตรียมวางแผนการเสียภาษีล่วงหน้า รวมทั้งยังสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีให้แก่ลูกค้าได้มีทางเลือกหลากหลายในการเตรียมความพร้อมเพื่อจัดการทรัพย์สินที่มีอยู่ในการส่งมอบมรดกให้แก่ลูกหลานรุ่นหลัง

ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มลูกค้า เพราะการได้รับเงินผลประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต ได้รับการยกเว้นในการนำมาคำนวณการจัดเก็บภาษีมรดกหากเจ้ามรดกหรือผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิตลง ขณะเดียวกัน ผู้รับผลประโยชน์ก็จะสามารถรับผลประโยชน์ได้ทันทีเมื่อผู้ถือกรมธรรม์เสียชีวิตโดยไม่ต้องให้ทายาทไปดำเนินการร้องขอต่อศาลเพื่อจัดตั้งผู้จัดการมรดกเหมือนการได้รับทรัพย์สินอย่างอื่น

โดยทาง เอไลฟ์ แนะทางเลือกในการรับมือเรื่องภาษีมรดกด้วย ได้แก่ 1. การทำพินัยกรรม 2. การโอนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรก่อนวันที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ 3. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์ร่วมในอสังหาริมทรัพย์ 4. จัดแบ่งทรัพย์สินให้ลูกหลานบางส่วน 5. การจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทในครอบครัว และ 6. การจัดตั้งทรัสต์ในต่างประเทศ

“ขณะเดียวกันก็มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ในเรื่องการวางแผนภาษีมรดก ประเภทออมทรัพย์ระยะยาว ไม่เน้นในเรื่องผลตอบแทนที่สูง ขณะเดียวกันยังให้คำปรึกษาในการวางแผนภาษีรวมทั้งในเรื่องการทำพินัยกรรมภาษีมรดกด้วย โดยคาดว่าน่าจะมีลูกค้าเข้ามาวางแผนภาษีมรดกกับทางบริษัทค่อนข้างมาก เพราะมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ค่อนข้างมาก”


กำลังโหลดความคิดเห็น