“ธีระ” แนะคลังควรออกกฎหมายทรัสต์มากกว่าการจัดเก็บภาษีมรดก เพื่อกันเศรษฐีหัวใสนำเงินออกไปลงทุนต่างประเทศ อีกทั้งต่างประเทศก็เปลี่ยนภาษีมรดกเป็นกฎหมายทรัสต์หมดแล้ว เผยเตรียมความพร้อมรับ AEC ตั้งเป้าผลิตนักวางแผนทางการเงินไทยให้ได้ 500 คนภายในปี 2560
นายธีระ ภู่ตระกูล นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย (Thai Financial Planners Association - TFPA) กล่าวว่า จากกรณีที่กระทรวงการคลังเตรียมประกาศใช้การจัดเก็บภาษีมรดกที่ดินในเร็วๆ นี้ อาจส่งผลกระทบต่อผู้รับโอนมรดก ซึ่งอาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการไหลออกของเงินไปยังต่างประเทศ โดยรัฐควรประกาศออกเป็นกฎหมายทรัสต์แทนการจัดเก็บภาษีมรดก เนื่องจากประเมินว่า ประโยชน์ที่ได้รับจากการเก็บภาษีอาจจะไม่คุ้มค่า เนื่องจากในปัจจุบันมีกลุ่มบุคคลที่มีสินทรัพย์มูลค่ามหาศาลจำนวนมากได้ทำการโอนทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม และหุ้น ให้แก่บุตรหลานเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีมรดก และมีอีกจำนวนมากที่นำเงินออกไปลงทุน หรือทำธุรกรรมในต่างประเทศเช่นที่ประเทศสิงคโปร์ และฮ่องกงซึ่งไม่มีการจัดเก็บภาษีมรดก โดยนำไปลงทุนในลักษณะของกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Investment Trust: REIT) ซึ่งเป็นการจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคลที่มีผู้ดูแล ทำให้ประเทศไทยอาจสูญเสียโอกาสจากการที่เม็ดเงินจำนวนมากของกลุ่มคนดังกล่าวที่นำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ
“กระทรวงการคลังควรประกาศเป็นกฎหมายทรัสต์เพื่อให้เศรษฐี หรือนักธุรกิจที่มีสินทรัพย์มากนำเงินมาลงทุนในประเทศมากกว่า ซึ่งในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่า ในหลายประเทศมีการยกเลิกการจัดเก็บภาษีมรดกไปแล้ว ซึ่งหากรัฐบาลมีความต้องการจัดเก็บรายได้เข้าแผ่นดิน ควรใช้แนวทางอื่นที่จะเพิ่มรายได้มากกว่า เช่น การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม”
อย่างไรก็ดี ในส่วนของอุตสาหกรรมนักวางแผนการเงินของไทยในปัจจุบัน ปรากฏว่า ในประเทศไทยมีนักวางแผนการอยู่เงินเพียง 133 คนเท่านั้น เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ที่มีอยู่มากถึง 908 คน อินโดนีเซีย จำนวน 1,010 คน และมาเลเซีย จำนวน 2,484 คน ทางสมาคมจึงมองว่าในอนาคตจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านการวางแผนการเงินให้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ทั้งคุณภาพ และปริมาณอย่างน้อย 400-500 คน ภายในปี 2560 ขณะที่ภายในสิ้นปีนี้คาดว่าจะเพิ่มบุคลากรด้านการวางแผนทางการเงินได้ไม่น้อยกว่า 40 คน
“นักวางแผนทางการเงินของไทยปัจจุบันมีน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน ทำให้สมาคมต้องเร่งพัฒนานักวางแผนทางการเงินให้มีออกมากขึ้น เพื่อรองรับการเปิด AEC เพราะนักวางแผนการเงินมีบทบาทสำคัญในการให้ความรู้แก่นักลงทุน และบุคคลทั่วไปแบบส่วนบุคคลในการวางแผนทางการเงินเพื่อเพิ่มมูลค่าเงินที่มีอยู่ ซึ่งทุกวันนี้รูปแบบการบริการทางการเงินมีความเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณอายุ ซึ่งทั้งหมดจะทำให้ตลาดทุนในประเทศไทยเกิดการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วย”