xs
xsm
sm
md
lg

ลงทุนเพื่อ “สละโสด” กันได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บัวหลวง Money Tips
โดยฐาปณัฐ สุภาโชค
กลุ่มจัดการกองทุน กองทุนบัวหลวง

“ขอเก็บเงินสร้างตัวก่อนค่ะ”, “ขอเวลาสร้างฐานะก่อนครับ”

เรามักได้ยินข้ออ้างทำนองนี้อยู่เสมอ และอาจกล่าวว่าเป็นเหตุผลสำเร็จรูปจนเป็นแบบฉบับของคนในสังคมเมือง เพื่อใช้ครองความโสดของตัวเองต่อไปอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าวัยจะเข้าใกล้หรือล่วงเลยเลขสามนำหน้าไปแล้วก็ตาม ทั้งที่บางรายก็มีคู่ที่คบหาดูใจเป็นมั่นเหมาะอยู่แล้ว แต่ไฉนไม่ปักใจ “ร่วมหอลงโรง” กันเสียที

ในปัจจุบัน ทัศนคติว่าด้วยการแต่งงาน หรือ “สร้างครอบครัว” ของคนไทย เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมากทีเดียว กล่าวคือทั้งสองฝ่ายพร้อมจะชะลอการแต่งงานหรือเริ่มต้นชีวิตคู่ออกไปทุกขณะ ไม่คิดว่าการเริ่มต้นครอบครัวไปพร้อมๆ กับตั้งต้นชีวิตการงานเป็นเรื่องจำเป็น หรือสามารถเดินร่วมกันไปได้ ประจักษ์ชัดผ่านข้อมูลตัวเลขแสดงอายุเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นของคู่สมรส ที่นิด้าโพลสำรวจพบเมื่อปี 2556 ว่า คนส่วนใหญ่คิดว่าพร้อมจะแต่งงานในช่วงอายุ 25-39 ปี เปรียบเทียบกับข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2513-2553 พบว่าอายุเฉลี่ยของคู่สมรสจะอยู่ระหว่าง 22-28 ปีเท่านั้น

ไม่ว่าจะ “สร้างตัว” หรือ “สร้างฐานะ” ต่างก็เป็นเหตุผลสะท้อนให้เห็นว่า การเริ่มต้นชีวิตคู่ต้องมาพร้อมกับความมั่นใจทางการเงิน แค่เพียงจะป่าวประกาศว่าคนสองคนจะแต่งงานกัน ก็ต้องคิดแล้วว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกไม่น้อย

เราลองพิจารณาดูสิว่ามีค่าใช้จ่ายสำคัญๆ อะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการสละโสด จนทำให้คนในปัจจุบันต้องใช้เวลาตระเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ ยาวนานกว่าคนรุ่นพ่อแม่

ค่าใช้จ่ายเพื่อเตรียมตัวเปลี่ยนสถานะอย่างแรกคงหนีไม่พ้น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ “เรือนหอ” ไม่ว่าจะซื้อใหม่หรือตกแต่งดัดแปลงเพิ่มเติม เพื่อเตรียมพร้อมเป็นนิวาสถานสำหรับชีวิตคู่ งบประมาณก้อนนี้ต่างกันไปตามแต่ละราย

เริ่มต้นจากหลักหมื่นหลักแสนไปจนถึงหลักล้าน แล้วแต่รสนิยมและฐานะของคู่สมรส ถัดมาคือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพิธีแต่งงาน ไม่ว่าจะค่าเสื้อผ้าชุดเจ้าบ่าวเจ้าสาว ค่าอาคารสถานที่ ค่าอาหารเครื่องดื่ม รวมทั้งค่าดำเนินการจิปาถะ

ทั้งค่าช่างภาพ ช่างทำผม ช่างแต่งหน้า ฯลฯ อาจรวมถึงค่าแหวนแต่งงานของว่าที่บ่าวสาวด้วย และสุดท้าย ค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของฝ่ายชายก็คือ “ สินสอดทองหมั้น” ประกอบด้วยเงินค่าสินสอดซึ่งฝ่ายชายมอบให้บิดามารดาฝ่ายหญิง จะมากหรือน้อยก็ต้องให้สมตามฐานะของทั้งสองฝ่าย อาจเป็นเงินหลักแสนไปจนถึงหลายล้านเลยก็ได้ รวมทั้งของหมั้นที่มอบให้เจ้าสาว

โดยปกติแล้วมักเป็นทองคำ มูลค่าตั้งแต่ 1 บาทไปจนถึงหลายสิบบาทตามความเหมาะสม

ค่าใช้จ่ายที่ว่ามาทั้งหมดนี้ กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น ในแต่ละปีปรับเพิ่มประมาณ 4-10% เลยทีเดียว เรียกว่าเพิ่มสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อเสียอีก

ยิ่งเมื่อคิดถึงคนที่กำลังจะจัดงานแต่ง ที่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ว่ามา โดยไม่ขอพึ่งเงินของพ่อแม่หรือญาติพี่น้อง หรือพึ่งแต่ให้น้อยที่สุดแล้ว คงไม่มีใครจะไม่เห็นด้วย (และอาจเห็นใจเสียด้วย) กับเหตุผลที่ว่า “ขอเวลาเก็บเงินอีกหน่อยเถอะ”

สุดท้ายแล้ว แม้จะอยากจัดงานแค่ไหนก็ไม่ได้แต่งกันเสียที เพราะใช่ว่าทุกคนจะเกิดบนกองเงินกองทอง มีทรัพย์สินสั่งสมมาตั้งแต่เกิด ลำพังเพียงเงินเดือนจากงานประจำแบบ “มนุษย์เงินเดือน” ก็ไม่รู้ว่าต้องเก็บออมกันสักกี่ปีถึงจะพร้อมเสียที คงต้องเลื่อนงานแต่งงาน “ในฝัน” ออกไปเรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนดเป็นแน่

ดังนั้นแล้ว การพิจารณาแบ่งเงินบางส่วนไปลงทุนเพื่อให้งอกเงย สำหรับเตรียมการจัดงานแต่ง ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง

สำหรับผู้ตัดสินใจจะเข้าสู่ประตูวิวาห์แล้ว อย่ารอช้าอีกเลย รีบพิจารณาหาช่องทางลงทุนตั้งแต่วันนี้กันเถอะ

เริ่มแรกก็ต้องประเมินว่าจะใช้เงินก้อนนี้เมื่อไหร่ นับจากวันเริ่มต้นลงทุน โดยเฉลี่ยแล้วน่าจะตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีขึ้นไป แน่นอนว่าเงินลงทุนก้อนนี้คงรับความเสี่ยงมากไม่ได้แน่ๆ มิเช่นนั้นหากพลาดพลั้งขึ้น แทนที่จะ “สละโสด” อาจกลายเป็น “โสดสนิท” ไปเลย แต่อีกทางหนึ่ง ถ้าจะไม่ยอมเสี่ยงเสียเลย ผลตอบแทนที่ได้รับอาจไม่มากพอ ลำพังดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารปัจจุบันที่น้อยนิด แทบจะช่วยอะไรเราไม่ได้เลย (อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ราว 0.125-1.1% ต่อปี และเงินฝากประจำ 3-24 เดือน ได้ดอกเบี้ย 0.25-2.5% ต่อปี)

ดังนั้น เราอาจพิจารณาลงทุนในสินทรัพย์อื่นที่ให้ผลตอบแทนมากขึ้น ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม เช่นตราสารหนี้ที่มีอายุ 1-7 ปี ให้ผลตอบแทนประมาณ 2.5%-4% ต่อปี แต่ก็ต้องเจอข้อจำกัดว่าไม่อาจไถ่ถอนเงินคืนก่อนวันครบอายุตราสารได้ นอกจากจะนำไปขายต่อในตลาดรองซึ่งนักลงทุนรายย่อยไม่ค่อยคุ้นเคยนัก หรืออีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจคือลงทุนในหุ้น เพราะอาจได้รับผลตอบแทนมากกว่าตราสารหนี้หรือฝากเงิน (ผลตอบแทนย้อนหลังของ SET ในระยะเวลา 10 ปี คือ -13% ถึง +11% ต่อปี) แต่ต้องตระหนักเสียก่อนว่ากำไรที่หวังไว้นั้น อาจกลายเป็นขาดทุนได้เช่นกัน หากผู้ลงทุนไม่ได้ศึกษาข้อมูลและติดตามดูแลอย่างเอาใจใส่เพียงพอ

การวางแผนลงทุนและแบ่งสัดส่วนเงินลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้ได้อัตราผลตอบแทนที่น่าพอใจภายใต้เงื่อนไขความเสี่ยงที่เหมาะสมนั้น ไม่ใช่ง่ายเลย

ด้วยเหตุนี้ อีกหนึ่งทางเลือกที่น่าพิจารณา คือ การนำเงินลงทุนไปให้ “มืออาชีพ” ช่วยดูแลบริหารแทนเรา ผ่านการลงทุนใน “กองทุนรวม” ที่รับผิดชอบโดยผู้จัดการกองทุนและนักวิเคราะห์ของบริษัทจัดการนั้นๆ ซึ่งมีนโยบายลงทุนที่หลากหลายกันไปตามแต่ละกอง ไม่ว่ากองทุนที่ลงทุนในตราสารทุนหรือตราสารหนี้ หรืออาจเป็นกองทุนผสมที่ลงทุนทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน กองทุนที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ กองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ และกองทุนที่ลงทุนในหลักทรัพย์อื่นๆ เป็นต้น

ผู้ลงทุนผ่านกองทุนรวมมีทางเลือกที่จะจัดสรรเงินลงทุน ให้สอดรับกับแผนการใช้เงิน รวมทั้งสร้างผลตอบแทนตามความคาดหวังภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ นอกจากนี้แล้ว กองทุนรวมยังมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายได้ในทุกวันทำการ หรือตามประกาศของแต่ละกองทุน เอื้อให้ผู้ลงทุนวางกลยุทธ์ลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงได้อย่างสะดวก เช่นนำเงินไปลงกองทุนตราสารหนี้หรือตราสารเงินที่มีความเสี่ยงต่ำไว้ก่อน แล้วค่อยๆ ทยอยสับเปลี่ยนมาซื้อกองทุนหุ้นด้วยวิธี Dollar-Costing Average (DCA) หรือซื้ออย่างสม่ำเสมอเพื่อถัวเฉลี่ยต้นทุน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรหมั่นติดตามผลเป็นระยะ รวมทั้งอาจทยอยขายเมื่อผลตอบแทนถึงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

การลงทุนในกองทุนรวมถือเป็นหนึ่งในตัวช่วยที่น่าสนใจ ที่อาจช่วยให้ว่าที่บ่าวสาวตีตั๋วสู่ประตูวิวาห์เร็วกว่าที่ “ฝันหวาน” ไว้ก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น