คปภ.ระบุ “โฆษณาประกันผู้สูงวัย” ต้องระบุเงื่อนไขกรมธรรม์ชัดเจน พร้อมระบุขั้นตอนการขายต้องแจ้งให้ผู้เอาประกันเข้าใจประเด็น “ไม่ต้องตรวจสุขภาพ” จะได้รับความคุ้มครองในปีที่ 2 หากเสียชีวิตภายใน 2 ปีจะได้รับเงินเบี้ยประกันคืนพร้อมผลตอบแทนในอัตรา 2-5% ล่าสุดเผยภาพรวมธุรกิจประกันภัยครึ่งปีแรกโต 2.25% คาดทั้งปี 58 เติบโต 4.73%
นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องของการขายและโฆษณาประกันผู้สูงอายุนั้น ทาง คปภ.และสมาคมประกันชีวิตไทยได้มีการหารือและได้หาทางออกเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทางสมาคมประกันชีวิตได้มีการถอดโฆษณาประกันผู้สูงอายุออกทั้งหมดเพื่อทำการแก้ไขในเรื่องของรายละเอียดเกี่ยวกับกรมธรรม์โดยเฉพาะการไม่ต้องตรวจสุขภาพหรือตอบปัญหาสุขภาพ โดยกรมธรรม์นั้นจะคุ้มครองในปีที่ 3 หากผู้เอาประกันเสียชีวิตใน 2 ปีแรกบริษัทประกันจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้วบวกผลตอบแทนเล็กน้อยในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท ซึ่งการแก้ไขโฆษณานั้นอาจจะต้องใช้ระยะเวลา 1-2 เดือนเพื่อให้โฆษณามีความชัดเจนมากขึ้น
ทั้งนี้ ขั้นตอนการซื้อประกันผู้สูงอายุในปัจจุบันมีดังนี้ 1. ผู้สนใจจะซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุจะโทรศัพท์เข้ามาที่บริษัทประกันชีวิตตามเบอร์โทรศัพท์ที่โฆษณาไว้ และทิ้งชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อกลับไว้ 2. เจ้าหน้าที่ของบริษัทประกันชีวิตจะโทร.กลับไปยังผู้สนใจภายใน 7 วันโดยการพูดคุยจะมีการบันทึกเทปสนทนาไว้ เพื่อการให้ข้อมูลเพิ่มเติม ความคุ้มครอง เงื่อนไข เบี้ยประกันภัย พร้อมตอบข้อซักถามเพิ่มเติม โดยเฉพาะการให้ความเข้าใจในการคุ้มครองประกันที่ไม่ตรวจสุขภาพ โดยมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทประกันจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้วบวกผลตอบแทนเล็กน้อยในอัตรา 2-5%
ในขั้นตอนที่ 3 หากผู้สนใจมีความพอใจ และสนใจซื้อประกันชีวิตผู้สูงอายุก็จะชำระเบี้ยประกันภัย และรับมอบหลักฐานการชำระเงิน 4. บริษัทประกันชีวิตจะส่งมอบกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัย โดยจะมีการระบุถึงเงื่อนไขเกี่ยวกับการรับประกันซึ่งผู้เอาประกันภัยสามารถตรวจดูข้อมูลในกรมธรรม์ว่าเป็นตามที่เข้าใจหรือไม่
และ 5. ผู้เอาประกันภัยสามารถยกเลิกกรมธรรม์ได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับกรมธรรม์ กรณีซื้อประกันภัยผ่านโทรศัพท์ หรือ 15 วัน กรณีซื้อกรมธรรม์กับตัวแทน/นายหน้า หากไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้
นายประเวชกล่าวถึงภาพรวมธุรกิจประกันภัยในช่วงครึ่งปีแรกว่า แม้ว่าในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากการหดตัวอย่างต่อเนื่องของการผลิตในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม แต่ภาคบริหารต่างๆ ยังคงขยายตัวส่งผลให้ภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในครึ่งปีแรกของปีนี้ยังมีการเติบโตอยู่
อย่างไรก็ตาม แนวทางถัดไปของธุรกิจประกันภัยคือการขยายตลาดธุรกิจเข้าไปยังภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะพม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
ทางด้านนายอำนาจ วงศ์พินิจวโรดม ผู้ช่วยเลขาธิการสายพัฒนาและวิเคราะห์ระบบการตรวจสอบ คปภ. กล่าวว่า ภาพรวมธุรกิจประกันภัยครึ่งแรกปี 2558 (ม.ค.-มิ.ย.) มีเบี้ยประกันภัยรับรวมทั้งสิ้น 363,590 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.25 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับงวดครึ่งแรกของปี 2558 เบี้ยประกันภัยจากธุรกิจประกันชีวิตอยู่ที่ 260,573 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.64 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันชีวิตที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันชีวิตประเภทสามัญ จำนวน 223,544 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.42 รองลงมาเป็นประเภทกลุ่มจำนวน 30,515 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 6.01 ตามด้วยประเภทอุตสาหกรรม จำนวน 3,639 ล้านบาท หดตัวร้อยละ 7.20 และประเภทอุบัติเหตุ จำนวน 2,875 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ธุรกิจประกันวินาศภัยมีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 103,017 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 1.26 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยการประกันวินาศภัยที่มีเบี้ยประกันภัยรับสูงสุด ได้แก่ การประกันภัยรถ จำนวน 59,809 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 0.90 รองลงมาคือ การประกันภัยเบ็ดเตล็ด จำนวน 34,910 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 2.68 ตามด้วยการประกันอัคคีภัยจำนวน 5,531 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.72 และการประกันภัยทางทะเลและขนส่ง จำนวน 2,767 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 1.90
สำหรับยอดผู้ทำประกันภัยรายใหม่ช่วงครึ่งแรกของปี 2558 มีจำนวน 32,368,596 กรมธรรม์ ขยายตัวร้อยละ 5.00 โดยกรมธรรม์ประกันชีวิตขยายตัวร้อยละ 6.81 ส่งผลให้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธุรกิจประกันชีวิตมีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับใช้ 23.49 ล้านกรมธรรม์ ขยายตัวร้อยละ 5.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราผู้ถือกรมธรรม์ต่อจำนวนประชากรอยู่ที่ร้อยละ 36.12 ส่วนกรมธรรม์ประกันวินาศภัยมีจำนวน 23,937,258 กรมธรรม์ ขยายตัวร้อยละ 4.79 ส่งผลให้เมื่อสิ้นเดือนมิถุนายน 2558 ธุรกิจประกันวินาศภัยมีจำนวนกรมธรรม์ที่มีผลบังคับ 55.94 ล้านกรมธรรม์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.80 คิดเป็นอัตราผู้ถือกรมธรรม์ร้อยละ 86.00
นายอำนาจกล่าวต่อว่า สิ้นปี 2558 คาดว่าธุรกิจประกันภัยทั้งระบบจะขยายตัวได้ร้อยละ 4.73 แบ่งเป็นการขยายตัวของธุรกิจประกันชีวิตร้อยละ 5.66 และธุรกิจประกันวินาศภัยขยายตัวร้อยละ 2.49 เมื่อดูจากตัวเลขการเติบโตของธุรกิจประกันภัยในครึ่งปีแรกร้อยละ 2.25 ประกอบกับมองว่าในช่วงครึ่งปีหลังการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายของภาครัฐที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบโดยตรง และเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย โดยเฉพาะประชาชนในภาคเกษตร น่าจะช่วยให้กำลังซื้อในประเทศปรับตัวดีขึ้น จึงมองว่าภาพรวมของธุรกิจประกันภัยในครึ่งปีหลังยังขยายตัวได้แต่อาจไม่สูงนัก