สมาคมประกันชีวิตไทยไขข้อข้องใจเกี่ยวกับประกันชีวิตสำหรับผู้สูงอายุ พร้อมแนะวิธีสอบถามเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกันชีวิต
นางบุษรา อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวว่า แบบประกันชีวิตสำหรับผู้สูงวัยพัฒนาขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยเข้าถึงการประกันชีวิตได้ง่ายขึ้น ซึ่งอาจมีการตรวจหรือไม่ตรวจสุขภาพ แล้วแต่หลักเกณฑ์และเงื่อนไขของแบบประกันภัยแต่ละแบบ โดยแบบประกันที่ไม่ตรวจสุขภาพจะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้เล็กน้อยในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต
ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่าสมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยกำลังหารือบริษัทประกันชีวิตถึงแนวทางการพัฒนาปรับปรุงวิธีการเสนอขายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ จากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเรื่องแบบประกันผู้สูงวัยนั้น ขอเรียนให้ประชาชนทราบว่า แบบประกันสำหรับผู้สูงวัยเป็นแบบประกันชีวิตที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ โดยมีลักษณะสำคัญดังนี้
1. ผู้เอาประกันจะต้องมีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจมีการกำหนดอายุสูงสุดของผู้เอาประกันไว้ไม่เกิน 70-75 ปี
2. ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตเป็นหลัก
3. บางแบบประกันชีวิตสามารถซื้อสัญญาเพิ่มเติมได้ ยกตัวอย่างเช่น
3.1 สัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ หรือเบิกค่ารักษาพยาบาลกรณีบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
3.2 สัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพ หรือโรคร้ายแรง หรืออาจเป็นในลักษณะการจ่ายค่าชดเชยรายวันกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาล แล้วแต่กรณีตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิต
4. สามารถซื้อได้ภายใต้หลักเกณฑ์การพิจารณารับประกันชีวิตของบริษัทแล้วแต่กรณี ได้แก่ ต้องตรวจสุขภาพ หรือไม่ต้องตรวจสุขภาพแต่ต้องตอบคำถามสุขภาพ หรือทั้งไม่ต้องตรวจสุขภาพและไม่ต้องตอบคำถามสุขภาพ
5. แบบประกันชีวิตที่ไม่ตรวจสุขภาพ จะมีเงื่อนไขว่าหากเสียชีวิตใน 2 ปีแรกของการทำประกันชีวิต บริษัทจะจ่ายเงินเท่ากับเบี้ยประกันภัยที่รับมาแล้ว บวกผลตอบแทนให้ในอัตรา 2-5% แล้วแต่บริษัท เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นโรคใดๆ มาก่อนทำประกันชีวิต และหากผู้เอาประกันภัยเสียชีวิตในปีที่ 3 เป็นต้นไป ก็จะได้รับเงินเต็มตามจำนวนเอาประกันภัยที่ระบุไว้ในสัญญา
แนะนำวิธีสอบถามเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกันชีวิต
นางบุษรา กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ประชาชนทำความเข้าใจกับแบบประกันชีวิตที่ตนเองสนใจ โดยสอบถามเจ้าหน้าที่หรือตัวแทนประกันชีวิต ดังต่อไปนี้
1. ความคุ้มครองและผลประโยชน์ว่าตรงตามความต้องการหรือไม่ จะได้เบิกได้ในกรณีใดบ้าง
2. ศึกษาข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ให้เข้าใจ เช่น มีปัญหาสุขภาพ สามารถสมัครได้ไหม และจะคุ้มครองได้แค่ไหน
3. ระยะเวลาในการคุ้มครองและระยะเวลาในการจ่ายเบี้ยประกันภัย
4. ค่าเบี้ยประกันภัย เหมาะสมกับกำลังซื้อของตนเองหรือไม่
5. แบบประกันนั้นมีข้อจำกัด หรือข้อยกเว้น อะไรบ้าง
6. สอบถามเจ้าหน้าที่ให้ละเอียด เช่น หากเจ็บป่วย หรือเสียชีวิตต้องทำอย่างไร ติดต่อที่ไหน เบอร์โทร.อะไร
7. เมื่อได้รับเล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตมาแล้วให้ศึกษาและทำความเข้าใจในรายละเอียดและเงื่อนไขความคุ้มครอง หากพบไม่ตรงกับความต้องการ สามารถขอยกเลิกได้ภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้เล่มกรมธรรม์ประกันชีวิตในกรณีซื้อทางโทรศัพท์ หรือขอยกเลิกภายใน 15 วัน กรณีซื้อผ่านตัวแทนประกันชีวิต
8. หากมีข้อสงสัยในเงื่อนไข และความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิต สามารถติดต่อได้หลายช่องทาง ดังนี้
8.1 ตัวแทนประกันชีวิตที่ท่านซื้อกรมธรรม์
8.2 ศูนย์บริการลูกค้าที่สำนักงานใหญ่ หรือสาขาทั่วประเทศ
8.3 ศูนย์บริการลูกค้าทางโทรศัพท์ (Call center) ของบริษัทประกันชีวิต
8.4 เว็บไซต์บริษัทประกันชีวิต
8.5 ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของบริษัทประกันชีวิต
9. หากทำประกันชีวิตไปแล้ว พบปัญหาบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่ารักษาพยาบาล ควรปฏิบัติ ดังนี้
9.1 ตรวจสอบความคุ้มครองของกรมธรรม์ที่ซื้อไว้ ว่ามีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ หรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ที่ให้ความคุ้มครองกรณีพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือไม่
9.2 หากมีสัญญาเพิ่มเติมสุขภาพ หรือสัญญาเพิ่มเติมอุบัติเหตุ ลูกค้าควรอ่านเงื่อนไขความคุ้มครองในสัญญากรมธรรม์ฯ โดยละเอียด เพื่อตรวจเช็กว่าเหตุผลใดที่ทางบริษัทปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหม
9.3 ถ้าพบว่าเหตุที่ปฏิเสธไม่ตรงกับสิ่งที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ฯ ลูกค้าสามารถติดต่อบริษัทผ่านช่องทางบริการต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิดังกล่าว
9.4 หากเห็นว่าไม่ได้รับความยุติธรรมจากบริษัทประกันภัย สามารถร้องเรียน หรือสอบถามได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สายด่วนประกันภัย โทร. 1186
ทั้งนี้ ขอให้ผู้เอาประกันภัยมั่นใจว่าสมาคมประกันชีวิตไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับประชาชนและหน่วยงานต่างๆ โดยกำลังเร่งหารือกับบริษัทประกันชีวิตถึงแนวทางการพัฒนาปรับปรุงวิธีการเสนอขายให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยเป็นสำคัญ