ผ่าประเด็นร้อน
“อย่าไปโยงเรื่องอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เขาวางแผน มาเป็นสิบปีเป็นเรื่องภายในของเขา อย่าเพิ่งไปกังวล เพราะเรื่องนี้ยังมีขั้นตอนจะต้องนำเข้า ครม. และดูว่ามีเงิน และมีความพร้อมหรือไม่ ยังมีเวลาอีกนาน ไม่ใช่พูดวันนี้ แล้วมะรืนนี้จะซื้อ อีกตั้งหลายปี ขอย้ำว่าว่าต้องขึ้นอยู่กับความพร้อมด้วย”
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวย้ำกับผู้สื่อข่าว หลังจากสอบถามถึงเหตุผลในการที่กองทัพเรือ เสนอซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน จำนวน 3 ลำ ใช้งบประมาณ 3 หมื่น 6 พันล้านบาท
แน่นอนว่า คำพูดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ต้องการสื่อให้เห็นว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ “ยังไม่แน่นอน” ต้องใช้เวลาในการพิจารณาให้รอบคอบอีกครั้งหนึ่ง ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณด้วย
อย่างไรก็ดี อีกด้านกลับมีรายงานที่มีความคืบหน้าไปแบบตรงกันข้าม นั่นคือ มีรายงานจากสื่อต่างประเทศที่อ้างข้อมูลจากทางการจีน ที่ระบุว่า ทางการไทยได้ทำเรื่องเสนอ หรือที่เรียกว่า “ยื่นแบบจัดซื้อเรือดำน้ำ” อย่างเป็นทางการมาตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมาแล้ว เป็นรุ่นที่จีนเรียกว่า “รุ่น 039 B”
การพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำดังกล่าวได้เป็นที่รับรู้กันในวงกว้าง หลังจากที่ ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ แถลงผลการประชุมของคณะกรรมการพิจารณาจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือจำนวน 17 คน มีมติ 14 ต่อ 3 เสนอให้ซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน โดยใน 3 คนมี 2 คนเสนอให้ซื้อเรือดำน้ำเยอรมัน และอีก 1 คน เสนอให้ซื้อเรือดำน้ำของสวีเดน
เขาบอกว่า การจัดซื้อครั้งนี้จะมีลักษณะเป็นแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจี กองทัพเรือไม่เกี่ยว ไม่ได้เป็นคนจ่ายเงิน กองทัพเรือเป็นคนทำตามคำสั่งของรัฐบาลเท่านั้น และว่า หากรัฐบาลอนุมัติก็จะใช้เวลาอีกประมาณ 7 - 10 ปี โดยจะใช้เวลาต่อเรือ 5 - 6 ปี และระหว่างที่ต่อเรือ ทางกองทัพเรือไทย ก็จะส่งเจ้าหน้าที่ไปศึกษาดูงานอีก 2 ปี
ขณะเดียวกัน ผู้บัญชาการทหารเรือ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ยังเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เสนอเรื่องไปถึง รองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมแล้ว เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป
ทางด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ถูกถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เขาก็ไม่ยอมตอบคำถาม แต่โยนให้กองทัพเรือเป็นฝ่ายอธิบายถึงเหตุผล และความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำ
อย่างไรก็ดี แม้ว่า ทั้งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ย้ำว่า การจัดซื้อยังไม่เกิดขึ้น ต้องใช้เวลาในการพิจารณาทั้งความเหมาะสมเรื่องงบประมาณ และต้องใช้เวลาอีกเป็นสิบปี ส่วนผู้บัญชาการทหารเรือ ก็ระบุว่า เป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะพิจารณา ว่าจะอนุมัติหรือไม่ และกองทัพเรือไม่ได้เกี่ยวข้องในการจ่ายเงินซื้อ เพราะเป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ แต่จากการรายงานของสื่อต่างประเทศ ที่อ้างข้อมูลจากทางการจีนทำให้ทราบข้อมูลในอีกด้านหนึ่งก็คือฝ่ายไทยได้ “ยื่นแบบจัดซื้ออย่างเป็นทางการ” มาแล้วตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา
ความหมายก็คือ “ซื้อแน่” และเหลือเพียงขั้นตอนการอนุมัติอย่างเป็นทางการตามมาในภายหลังเท่านั้น และแม้ว่าในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนครั้งนี้หากพิจารณากันแบบ “คุ้มค่า” แล้วก็ต้องยอมรับว่า “คุ้มเกินราคา” เพราะอย่างที่ ผู้บัญชาการทหารเรือพยายามอธิบาย ก็คือ นอกจากได้เรือดำน้ำถึง 3 ลำจากงบประมาณที่ว่าแล้ว ยังมีแพกเกจด้านอาวุธ และอุปกรณ์ครบครัน รวมทั้งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการฝึกอบรมการเจ้าหน้าที่ของไทย ซึ่งเมื่อเทียบกับการซื้อเรือจากประเทศอื่นในงบประมาณเท่ากัน เราอาจได้แค่เรือสองลำ โดยไม่มีอาวุธติดมาด้วย ซึ่งแน่นอนว่าความ “พิเศษ” แบบจะหาได้จากสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคที่จีนมีความขัดแย้งกับหลายประเทศในแถบนี้ ขณะที่ไทยก็ถูกสหรัฐฯ เย็นชาหลังจาก ระบอบทักษิณ ถูกโค่นล้ม ทำให้ผลประโยชน์ไม่มั่นคง ทุกอย่างระหว่างไทย - จีน ในยุค คสช. จึงสมประโยชน์
แต่คำถามสำหรับคนไทยก็คือ มีความจำเป็นแค่ไหนสำหรับไทยที่ต้องมีเรือดำน้ำ และในทะเลอ่าวไทย และอันดามัน มันมีความลึกและมีความเหมาะสมสำหรับการมีเรือดำน้ำหรือไม่ นอกจากนี้ ในสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปราะบางแบบนี้ มันมีความเหมาะสมหรือไม่ที่ต้องใช้งบประมาณถึง 36,000 ล้านบาท เพื่อมาซื้อเรือดำน้ำ
ต้องยอมรับว่า เรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำครั้งนี้ถือว่ามีความ “อ่อนไหว” พอสมควร เมื่อพิจารณาจากบทเรียนในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ในอดีตที่ไม่คุ้มค่า เช่น กรณีของเรือเหาะที่นำมาใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือแม้แต่การเครื่องตรวจระเบิด จีที 200 ที่ถูกเยาะเย้ยว่าเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” ประจานการทุจริตกันมาแล้ว
ดังนั้น กรณีของการจัดซื้อเรือดำน้ำก็ต้องรีบธิบายรีบเคลียร์ให้ชัดเจน ให้หมดข้อสงสัยในทุกประเด็นโดยเร็วที่สุด เพราะเวลานี้เริ่มมีการขยายผลโจมตีรัฐบาลกันแบบขยายวงกว้างออกไปทุกที โดยเฉพาะในโลกโซเชียลฯ ที่วิจารณ์กันไปเรื่อยๆ ยิ่งตอกย้ำถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจ และเรื่องปากท้องที่มีปัญหา แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะย้ำว่าต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้านงบประมาณก่อน แต่จากรายงานจากสื่อต่างประเทศที่ระบุว่าเรา “เสนอซื้อ” อย่างเป็นทางการไปแล้ว นี่มันหมายความว่าอย่างไร !!