เปิดร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 315 มาตรา เพิ่มสมัชชาคุณธรรม-พลเมือง องค์กรตรวจสอบภาค ปชช. ให้อำนาจศาล รธน.ชี้ขาดล้มล้าง ปชต.ได้ ห้ามถอนสัญชาติ ห้ามผู้นั่งการเมืองถือหุ้นสื่อ ห้ามรัฐอุดหนุนสื่อเอกชน ปชช.มีสิทธิ์ต่อต้านสันติวิธี ใช้ระบบโหวต ส.ส.ใหม่ ส.ว.มีทั้งเลือกทั้งคัด เปิดช่องนายกฯ คนนอก ให้สิทธิ์เสนอ กม.ได้ 1 ฉบับ รมต.ต้องลาออก ส.ส. ให้ กก.แต่งตั้ง ขรก.โยกย้ายปลัด ให้ อสส.แสดงเหตุผลฟ้อง-ไม่ฟ้อง เพิ่มคณบดีนิติ-รัฐ ตัวแทนพรรค รัฐบาล และสมัชชาคุณธรรม สรรหาตุลาการศาล รธน. ถอดถอนต้องเป็นมติรัฐสภา ให้หยุดงานเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูล ตั้ง กจต.จัดเลือกตั้ง บังคับรัฐบาลเดินหน้าปฏิรูป ควบรวมผู้ตรวจฯ-กสม. และสุดท้ายนิรโทษกรรม คสช.
วันนี้ (16 เม.ย.) ที่บริเวณชั้น 2 หน้าห้องประชุมใหญ่ อาคารรัฐสภา 1 เมื่อเวลา 12.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำพิธีมอบร่างรัฐธรรมนูญที่คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำแล้วเสร็จให้แก่สมาชิก โดยร่างดังกล่าวจัดทำเป็นรูปเล่ม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย เจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญและรายชื่อคณะผู้จัดทำ รวมทั้งกระบวนการพิจารณาที่เน้น 4 ทิศทางคือ สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรมและนำชาติสู่สันติสุข ส่วนที่ 2 คือ ตัวร่างรัฐธรรมนูญที่มีทั้งหมด 315 มาตรา ประกอบด้วย บททั่วไป 7 มาตรา
ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน : หมวด 1 พระมหากษัตริย์ มาตรา 8-25 หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและหน้าที่พลเมือง มาตรา 26-28 ซึ่งมีการเพิ่มเติมจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาด้วยการกำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง องค์กรตรวจสอบภาคประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิเสรีภาพของบุคคล ตอนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 29-33 โดยยังคงบทบัญญัติที่ให้สิทธิเสรีภาพประชาชนพิทักษ์รัฐธรรมนูญด้วยการร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่พบว่ามีการกระทำที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ โดยศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจสั่งให้เลิกกระทำดังกล่าวและสั่งการอื่นได้ โดยไม่กระทบกระเทือนต่อคดีอาญาซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ไม่ระบุชัดเจนเกี่ยวกับอำนาศาลรัฐธรรมนูญในการสั่งระงับยับยั้งหรือสั่งการอื่น
ตอนที่ 2 สิทธิมนุษยชน มาตรา 34-45 ตอนที่ 3 สิทธิพลเมือง มาตรา 46-64 ซึ่งมีบทบัญญัติที่น่าสนใจ คือ ห้ามมิให้มีการถอนสัญชาติไทยจากบุคคลที่มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และกำหนดห้ามไม่ให้มีการครอบงำหรือผูกขาดการนำเสนข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในการกิจการสื่อมวลชนมิได้ และห้ามรัฐให้เงินหรือทรัพย์สินอื่น หรือสิทธิประโยชน์เพื่ออุดหนุนกิจการสื่อมวลชนของเอกชน
ส่วนที่ 3 การมีส่วนร่วมทางการเมือง มาตรา 65-68 ซึ่งมีการกำหนดเพิ่มเติมให้พลเมืองมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธี ซึ่งการกระทำใดที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนที่4 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมาตรา 69-72 ซึ่งเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนผ่านสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด
ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบการเมืองที่ดี : หมวด 1 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี มาตรา 73-77 ซึ่งมีการเพิ่มสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติเข้ามาทำหน้าที่ดูแลด้านจริยธรรมเพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้งนำใบประกาศวันเลือกตั้งเพื่อให้ประชาชนถอดถอนออกจากตำแหน่งทางการเมืองโดยผู้ที่ถูกถอดถอนจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา5 ปีนับจากวันลงคะแนนเสียง
หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 78-95 หมวด 3 รัฐสภา ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 96-102 ส่วนที่ 2 สภาผู้แทนราษฎร มาตรา 103-120 ซึ่งเป็นส่วนที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเลือกตั้งและการคำนวณเกณฑ์จำนวนประชากรต่อ ส.ส.ใหม่ รวมทั้งให้ประชาชนมีสิทธิลงคะแนนเลือกเพื่อจัดลำดับบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พรรคการเมือง หรือกลุ่มการเมืองจัดทำขึ้นได้
ส่วนที่ 3 วุฒิสภา มาตรา 121-130 เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ถูกทักท้วงโดยเฉพาะการกำหนดให้ที่มา ส.ว.มาจากการสรรหา แม้ว่ากรรมาธิการจะมีการเพิ่มเติมให้เป็นการผสมผสานโดยให้มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดๆ ละ 1 คน รวมทั้งหมด 200 คนแล้วก็ตาม ส่วนที่ 4 บทที่ใช้แก่สภาทั้งสอง มาตรา 131-144 ซึ่งมีการบัญญัติเกี่ยวกับเอกสิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว. ที่ทำผิดเพิ่มเติมว่า หากเป็นการกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่หรือเป็นคดีอันเกี่ยวกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาถึง ส.ว. พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองสามารถให้มีการพิจารณาคดีระหว่างสมัยประชุมได้ แต่ต้องไม่เป็นการขัดขวางต่อการที่สมาชิกผู้นั้นจะมาประชุมสภา
ส่วนที่ 5 การประชุมร่วมกันของ ส.ส.กับ ส.ว. มาตรา 145-146 ส่วนที่ 6 การตรา พ.ร.บ. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ มาตรา 147-162 โดยมีส่วนที่เพิ่มเติม คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง พ.ร.บ.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน พ.ร.บ.ว่าด้วยคณะรัฐมนตรี พ.ร.บ.ว่าด้วยการคลังและการงบประมาณภาครัฐ และพ.ร.บ.ว่าด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ส่วนที่ 7 การควบคุมการตรากฎหมายที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 163-164 ส่วนที่ 8 การควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 165-170 หมวด 4 คณะรัฐมนตรี มาตรา 171-198 ซึ่งเป็นอีกส่วนที่ถูกวิจารณ์อย่างหนักเนื่องจากเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากคนนอกได้โดยใช้เสียง 2 ใน 3 ขณะเดียวกัน ผู้ที่จะไปดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.และและให้สิทธินายกฯ เสนอร่าง พ.ร.บ.ได้ 1 ฉบับต่อสมัยประชุม หากไม่มีการยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมงให้ถือว่าร่าง พ.ร.บ.นั้นนับแต่วันที่มีการแถลงเพื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภาให้ถือว่าผ่านการพิจารณาและให้ความเห็นชอบของสภาผู้แทนฯ แล้ว
หมวด 5 การคลังและการงบประมาณ มีการเพิ่มเติมเกี่ยวกับนิยามคำว่า “เงินแผ่นดิน” ให้หมายรวมถึงเงินกู้และให้อำนาจผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ ป.ป.ช. ไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนกรณีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเจ้าหน้าที่รัฐ ก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินที่สร้างความเสียหายแก่รัฐ ยื่นฟ้องศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณได้ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน มาตรา 206-210 มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารโดยกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการ โดยระบบคุณธรรมมีหน้าที่พิจารณาการย้ายโอน หรือ เลื่อนข้าราชการระดับปลัดกระทรวงต่อ นายกฯ ซึ่งจากเดิมอำนาจดังกล่าวเป็นของนายกฯ หมวด 7 การกระจายอำนาจและการบริหารท้องถิ่น มาตรา 211-216
ภาค 3 หลักนิติธรรม ศาล และองค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ : หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 217-228 ซึ่งมีการเพิ่มอำนาจให้พนักงานอัยการร่วมเป็นพนักงานสอบสวนในคดีอาญาสำคัญ อีกทั้งกำหนดให้การใช้ดุลพินิจเกี่ยวกับคำสั่งฟ้อง ไม่ฟ้อง ถอนฟ้อง อุทธรณ์ฎีกา หรือไม่ อุทธรณ์ฎีกา หรือถอนอุทธรณ์ฎีกาของอัยการสูงสุด ต้องแสดงเหตุผลประกอบคำสั่งให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าถึงข้อมูลและหากเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประโยชน์สาธารณะต้องให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ด้วย
ส่วนที่ 2 ศาลรัฐธรรมนูญมีการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาตุลาการใหม่ โดยเพิ่มจากคณบดีนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษา และสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนจากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ฝ่ายละ1 คน ส่วนที่ 3 ศาลยุติธรรมมาตรา 238-241 มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่คดีจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. จากเดิมให้ ป.ป.ช. ส่งฟ้องศาลฏีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาเป็นส่งให้ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค และศาลคดีชำนัญพิเศษ มีอำนาจพิจารณาและพิพากษาคดี ส่วนที่ 4 ศาลปกครองมาตรา 242-244 มีการเพิ่มแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ส่วนที่5 ศาลทหารมาตรา 245
หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ส่วนที่ 1 บททั่วไป มาตรา 246-247 มีการเพิ่มต้องแสดงรายการภาษีเงินได้ต่อ ป.ป.ช.ด้วย ส่วนที่ 2 การกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์มาตรา 248-252 ส่วนที่ 3 การถอดถอนจากตำแหน่งและการตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือสิทธิในการดำรงตำแหน่งอื่น มาตรา 253-255 โดยมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์การถอดถอนจากเดิมให้เป็นมติของ ส.ว.มาเป็นมติของรัฐสภา โดยผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่ารัฐสภาจะมีมติ
ส่วนที่ 4 มาตรา 256-258 คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีการบัญญัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน รวมทั้งผู้ให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวมอยู่ด้วย ส่วนที่5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ตอนที่ 1 คณะกรรมการการเลือกตั้ง มาตรา 259-269 ซึ่งมีการตัดอำนาจของ กกต. ไม่ให้เป็นผู้จัดการเลือกตั้ง โดยให้มีคณะกรรมกรรดำเนินการจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหัวหน้าราชการในแต่ละภาคส่วนมาทำหน้าที่แทน ตอนที่ 2 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มาตรา 270 ตอนที่ 3 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มาตรา 271-274 เพิ่มอำนาจให้ ป.ป.ช.ฟ้องคดีที่เกี่ยวกับวินัยการคลังและงบประมาณต่อศาลปกครองได้ ตอนที่ 4 ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน มาตรา 275-276 ซึ่งเป็นการควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเข้าด้วยกัน
ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง : หมวด 1 บททั่วไปมาตรา 277-278 ซึ่งเป็นครั้งแรกที่รัฐธรรมนูญบังคับให้รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หน่วยงานรัฐ และพลเมือง ต้องปฏิบัติตามการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองตามบทบัญญัตินี้ โดยมีวาระ 5 ปี หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ส่วนที่ 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มาตรา 279-280 ซึ่งเป็นกลไกใหม่ที่กมธงยกร่างฯ อ้างว่าจัดตั้งขึ้นเพื่อสานต่อเจตนารมณ์การปฏิรูปให้เกิดความต่อเนื่อง ส่วนที่2 การปฏิรูปด้านต่างๆ มาตรา 281-296 ซึ่งรวมถึงการปฏิรูปสื่อด้วย หมวด 3 การปรองดอง กำหนดให้มีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติมีอำนาจในการตรา พ.ร.ฎ.อภัยโทษแก่บุคคลที่ให้ความจริงและสำนึกผิดต่อคณะกรรมการได้ โดย ครม. รัฐสภา และหน่วยงานของรัฐ ต้องให้ความร่วมมือรวมทั้งจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอด้วย
บทสุดท้ายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 299-303 มีการบัญญัติให้การแก้ไขทำได้ยากขึ้น
ส่วนที่ 3 บทเฉพาะกาลมาตรา 304-315 โดยในมาตรา 315 มีการบัญญัติเพื่อนิรโทษกรรมให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการทำรัฐประหาร โดยระบุไว้ว่าบรรดาการใดๆ ที่ได้รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว 2557 ว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายและรัฐธรรมนูญ รวมทั้งการกระทำที่เกี่ยวข้องกรณีดังกล่าวไม่ว่าก่อนหรือหลังวันประกาศรัฐธรรมนูญนี้ให้ถือว่าเป็นการกระทำโดยชอบตามรัฐธรรมนูญ และให้ ครม.และ คสช.ให้พ้นจากตำแหน่งหลังรัฐธรรมนูญมีการประกาศใช้แต่ให้ ครม.บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าจะได้ ครม.ใหม่เข้ามาทำหน้าที่