xs
xsm
sm
md
lg

Stock Selection รับมือหุ้นจีนผันผวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

สำหรับตลาดหุ้นต่างประเทศที่ดูร้อนแรงและอยู่ในความสนใจของผู้ลงทุนอยู่ในขณะนี้คงต้องยกให้ตลาดหุ้นของประเทศจีนครับ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมานักลงทุนมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจของจีน หลังดัชนีภาคการผลิต (PMI) ปรับตัวลดลงต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เนื่องจากยอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ชะลอตัวลง ประกอบกับความต้องการของเศรษฐกิจภายในประเทศจีน และของตลาดโลกมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ดังนั้น ตลาดจึงมีความกังวลว่าเศรษฐกิจของประเทศจีนจะเข้าสู่ภาวะชะลอตัวลงรุนแรง หรือ Hard Landing

ในมุมมองของผมมีความเห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม เพราะขนาดของเศรษฐกิจที่ใหญ่หากชะลอตัวลงอย่างรุนแรงแล้วย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้าอื่นๆ แต่อย่างไรก็ดี ในแง่ของตัวเลข GDP ไตรมาส 2/58 ที่ประกาศออกมาในระดับ 7% ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาด เป็นสิ่งสะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนไม่ได้มีการชะลอตัวมากตามที่กังวลกันอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ ทางการจีนยังมีมาตรการที่คาดว่าจะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

เช่น การใช้นโยบายการเงิน หลังจากที่ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจาก 6% มาอยู่ที่ 4.8% ซึ่งถือว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศจีนยังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่อื่นๆ เช่น สหรัฐฯ ที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.12% ยุโรป และญี่ปุ่นอยู่ที่ 0% ซึ่งผมมองว่าในอนาคตทางการจีนยังมีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้นนโยบายลงได้อีก หากปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศยังไม่เป็นไปตามที่ทางการตั้งเป้าหมายไว้ ในขณะที่ในด้านการคลังยังเน้นนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจให้ยั่งยืน ซึ่งเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรจากการที่เศรษฐกิจมีขนาดใหญ่ โดยภาพรวมความมีเสถียรภาพของรัฐบาลจีนที่มีอยู่ในระดับสูงจะส่งผลดีต่อความต่อเนื่องของการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคต

ด้านการลงทุน ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาตลาดหุ้นจีนมีความผันผวนมาโดยตลอด เมื่อเทียบตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน (YTD) ดัชนีติดลบ 7.12% (ข้อมูล ณ วันที่ 31 กรกฎาคม 2558) โดยเป็นแรงขายทำกำไรของนักลงทุนรายย่อย หลังจากทางการจีนมีมาตรการฉับพลันควบคุมการซื้อหุ้นด้วยการกู้ยืมนอกตลาด พร้อมกับอนุญาตให้นักลงทุนสามารถยืมหุ้นเพื่อนำไปขายช็อต ส่งผลให้นักลงทุนมีความตื่นตระหนกในการเทขายหุ้น ประกอบกับความกังวลในด้านการเติบโตของเศรษฐกิจที่อาจชะลอตัวลงทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจีนช่วงนี้จึงไม่โดดเด่น

ในแง่ของการลงทุนแล้ว ตลาดหุ้นจีนแม้ว่ายังดูมีความร้อนแรงและผันผวน แต่ในภาวะตลาดหุ้นปรับลดลงสามารถเป็นโอกาสการลงทุนได้หากปัจจัยพื้นฐานของหุ้นยังมีอยู่ การปรับลดลงของราคาทำให้หุ้นมีความน่าสนใจ อาทิ หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีขนาดตลาดที่ใหญ่คิดเป็นสัดส่วน 68% ของดัชนี Hang Seng China Enterprise Index (HSCEI) ที่ธนาคารรัฐวิสาหกิจของจีนขนาดใหญ่เพียง 4 แห่ง ได้แก่ Industrial and Commercial Bank of China (ICBC), China Construction Bank (CCB), Agricultural Bank of China (ABC), Bank of China (BOC) รวมกันมีขนาดถึง 33.5% ของตลาดหุ้น ขณะที่ระดับราคาหุ้นบางตัวในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปรับตัวลดลงกว่า 10-20% โดยในแง่ของแนวโน้มการทำกำไรยังดีอยู่และความเสี่ยงจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังอยู่ในระดับต่ำ

ในส่วนของกองทุนเปิดวรรณ ไชน่า แวลู 10 ฟันด์ (ONE-CHINA10) ซึ่งเปิดเสนอขายถึงวันที่ 10 ส.ค.นี้ ตั้งเป้าสร้างผลตอบแทน 10% ภายใน 10 เดือน จากการเล็งเห็นโอกาสการลงทุนในหุ้นจีนแบบคัดเลือกหุ้นดีๆ รายตัว โดยเน้นกลยุทธ์คัดสรรลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่ภาครัฐถือหุ้น เช่น Industrial and Commercial Bank of China, China Construction Bank, Agricultural Bank of China, Bank of China, China CITIC Bank ซึ่งมีปัจจัยพื้นฐานโดดเด่น ด้านราคาหุ้นที่มีมูลค่าต่ำ อัตราหนี้สินต่อทุน (P/E) ต่ำกว่า 6 เท่า ราคาหุ้นต่อบัญชี (P/B) ต่ำกว่า 1 เท่า มีโอกาสการจ่ายปันผล (Dividend Yield) มากกว่า 5% มีกำไรในส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) สูงกว่า 12% และมีโครงสร้างงบดุลที่แข็งแกร่ง
 
โดยมีสัดส่วนการกั้นสำรองหนี้เสีย (Loan loss Reserve Ratio) มากกว่า 160% ซึ่งเป็นตัวบ่งชี้ว่าฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ถ้ามีมากแสดงว่าธนาคารพาณิชย์มีเงินสำรองสำหรับชดเชยหนี้เสียได้มาก ดังนั้น หากผู้ลงทุนสนใจกระจายการลงทุนไปต่างประเทศอาจจะลองจัดสรรเงินบางส่วนของพอร์ตการลงทุนมายังตลาดหุ้นจีนเพื่อป้องกันการเสียโอกาสสร้างผลตอบแทนและควรถือลงทุนในระยะยาว

นักลงทุนสามารถสอบถามเพิ่มเติมและขอรับร่างหนังสือชี้ชวนได้ที่ฝ่ายบริการลูกค้าและสนับสนุนธุรกิจที่หมายเลข 0-2659-8888 ต่อ 1 ครับ

“ทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทนและความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน”


กำลังโหลดความคิดเห็น