xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นไทย VS หุ้นอาเซียน ใครดีกว่ากัน???

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย ดร.วิน อุดมรัชตวนิชย์
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ
Dr.win@one-asset.com

ฉบับก่อนหน้าผมได้กล่าวถึงอาเซียนมาพอสมควร ซึ่งอาจทำให้มีคำถามเกิดขึ้นสำหรับผู้อ่าน คือ สรุปแล้วควรจะลงทุนที่ไหนดีกว่ากันระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอาเซียน ในมุมมองของผม ทุกๆ ตลาดสามารถสร้างผลตอบแทนได้เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับจังหวะที่เหมาะสมของการลงทุน แต่จุดสำคัญต้องกระจายการลงทุนไปยังตลาดที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีและจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนได้

สำหรับตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาถือว่ามีความผันผวนค่อนข้างมากจากต้นปีดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวแตะที่ระดับสูงสุดเฉลี่ยที่ 1,600 จุด และปัจจุบันดัชนีเคลื่อนไหวปรับตัวลดลงอยู่ในกรอบประมาณ 1,480-1,540 จุด โดยรวมตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาหุ้นไทยสร้างผลตอบแทนได้เพียงประมาณ 1% และในระยะสั้นนี้ตลาดหุ้นไทยยังถูกกดดันจากความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โรคเมอร์ส ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อหลักทรัพย์บางกลุ่มเกี่ยวกับการบริหาร การท่องเที่ยว เช่น กลุ่มโรงแรม และสายการบิน อย่างไรก็ดี ผมมองว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจะกลับมาดีขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่านโยบายภาครัฐจะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยกลุ่มที่โดดเด่น เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง กลุ่มปิโตรเคมี กลุ่มสื่อ และกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนั้น ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยยังขาดความน่าสนใจเข้าลงทุนโดยเฉพาะในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ

จุดหนึ่งที่ผมสังเกตเห็น คือ ในช่วงที่หุ้นไทยไม่ค่อยเป็นที่สนใจจากนักลงทุนต่างชาติ สะท้อนได้จาก Fund Flow Investment ที่ไม่เข้าตลาดหุ้นไทย แต่ยังมีเงินไหลเข้าประเทศเพื่อนบ้านของเรา เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ซึ่งบ่งบอกว่าเงินลงทุนยังมุ่งมาที่ภูมิภาคอาเซียน ด้วยเหตุผลหลักๆ คือ ปัจจัยพื้นฐานที่มีแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในกลุ่มประชาคมอาเซียน ซึ่งทำให้มุมมองการลงทุนในตลาดภูมิภาคอาเซียนอยู่ในเชิงบวก โดยความสามารถในการจ่ายปันผลเฉลี่ยระดับสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2004-2014) พบว่าอัตราเฉลี่ยจ่ายปันผลของกลุ่มประเทศอาเซียนหลักอยู่ในระดับ 3.85% และในประเทศแถบอเมริกาเหนือมีอัตราจ่ายปันผลเฉลี่ยอยู่เพียง 1.8% ยุโรปที่ระดับ 3.6% ทำให้ตลาดหุ้นอาเซียนมีความน่าสนใจเพื่อเข้าลงทุนจากเม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติ

นอกจากนี้ ผมมองว่าในระยะสั้นหุ้นไทยอาจถูกลดความน่าสนใจลง แต่ในแง่ปัจจัยพื้นฐานยังอยู่ในแนวโน้มการเติบโตที่ดี อย่างไรก็ดี การลงทุนในอาเซียนผู้ลงทุนจะมีโอกาสในการลงทุนเพิ่มขึ้นกว่าการกระจุกตัวลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่ง เพราะกลุ่มอาเซียนมีบริษัทจดทะเบียนที่ประกอบธุรกิจหลากหลาย และหลายบริษัทยังมีศักยภาพในการเติบโตที่ดี เช่น ธุรกิจเคมีภัณฑ์ รวมถึงธนาคารพาณิชย์ อย่างเช่น ธนาคาร AMMB Holdings Berhad และ Hap Seng Consolidated Berhad จากบริษัทจดทะเบียนในประเทศมาเลเซีย กลุ่มสื่อสารโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ทั้งให้บริการและจัดจำหน่ายโทรศัพท์พื้นฐานและเคลื่อนที่ หรือแม้แต่ประเทศไทยเอง แม้ว่าภาพรวมการลงทุนจะยังไม่สดใส แต่ประเทศไทยก็มีบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดี เช่น ธุรกิจในเครือ ปตท. หรือธุรกิจที่เกี่ยวกับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ รวมทั้งภาคธนาคารพาณิชย์ เช่น บริษัท Delta Electronics เป็นต้น ไม่เพียงเท่านี้ ประเทศตลาดใหม่อย่างเช่นเวียดนามก็ยังมีธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร เช่น บริษัท Kinh Do Corporation ซึ่งเป็นบริษัทผลิตขนมที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามซึ่งมียอดขายเติบโตได้ดีในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งนี้ การลงทุนในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งนักลงทุนบางท่านอาจมีข้อจำกัดในเรื่องข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ผู้ลงทุนอาจเลือกลงทุนผ่านกองทุนรวม ซึ่งมีผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนมาคัดเลือกหลักทรัพย์ที่มีศักยภาพในการเติบโต เช่น กองทุนอาเซียน ซีเล็ค ดิวิเดนด์ อินเด็กซ์ ฟันด์ (ONE- STOXXASEAN) จึงเป็นกองทุนที่มีเป้าหมายสร้างผลตอบแทนของกองทุนให้ใกล้เคียงกับการปรับตัวของดัชนี ASEAN Select Dividend 30 และใช้กลยุทธ์การลงทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นสามัญจำนวน 30 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็นส่วนประกอบของดัชนี ASEAN Select Dividend 30 Index ในสัดส่วนหรือน้ำหนักที่ใกล้เคียงกับดัชนี ซึ่งบริษัทจดทะเบียนดีๆ ที่กล่าวข้างต้นต่างผ่านเกณฑ์การคัดเลือกให้อยู่ในดัชนีนี้

สำหรับความน่าสนใจของดัชนี ASEAN Select Dividend 30 ดัชนีนี้จะคัดเลือกหลักทรัพย์ในดัชนี ASEAN Select Dividend 30 ซึ่งมีวิธีการคัดเลือกหลักทรัพย์แบบ Smart Bata Strategic คือให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้น 30 บริษัทที่มีอัตราการจ่ายปันผลสูงสุด โดยให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งปี (ข้อมูล ณ วันที่ 23 เมษายน 2558) อยู่ที่ 23.82% และมีอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.73% หากเทียบกับดัชนีอื่นที่ลงทุนในตลาดภูมิภาคอาเซียน เช่น ASEAN40 Index ซึ่งมีกลยุทธ์การคัดเลือกหลักทรัพย์แบบ Market cap weight คือให้น้ำหนักการคัดเลือกหลักทรัพย์จากขนาดของบริษัทจดทะเบียนเป็นหลัก ซึ่งให้ผลตอบแทนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 15.62% และมีอัตราการจ่ายปันผลเฉลี่ยอยู่ที่ 3.06%

ดังนั้น ช่วงสั้น หากจะหลบหุ้นไทยไปพักหนึ่ง อาเซียนก็จะเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจ ในภาวะที่ตลาดหุ้นไทยยังต้องใช้ระยะยาวให้ปัจจัยบวกโดดเด่นอย่างมีนัยมากพอในมุมมองของนักลงทุนต่างชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น