xs
xsm
sm
md
lg

SCC ฟุ้งไตรมาส 2 โตต่อ มาร์จิ้นปิโตรฯ พุ่ง-ปูนใช้เพิ่ม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ปูนซิเมนต์ไทย” โอ่ไตรมาส 2/58 ยอดขายพุ่งและกำไรแจ่ม เหตุสเปรดเม็ดพลาสติกสูงทุบสถิติ 810 เหรียญสหรัฐ/ตัน ดีกว่าไตรมาสก่อน และความต้องการใช้ปูนในประเทศโตขึ้นจากโครงการลงทุนของภาครัฐ โดยไตรมาส 1/58 บริษัทมียอดขายลดลง 10% แต่กำไรพุ่ง 32% แตะ 1.1 หมื่นล้านบาท “กานต์” ขานรับ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงหลังแข็งโป๊กสูงกว่าอาเซียนมานาน 16 เดือน อยากเห็นเงินบาทอยู่ที่ 33-34 บาท/ดอลลาร์เพื่อกระตุ้นการส่งออก

นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)(SCC) เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2558 ว่า บริษัทคาดว่าจะมียอดขายปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/2558 ที่มียอดขายอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 65 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล สูงกว่าไตรมาส1/2558 ที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 40-50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้ราคาเม็ดพลาสติกทั้ง HDPP และ HDPE ขณะนี้ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ตันละ 1.3-1.4 พันเหรียญสหรัฐ จากไตรมาสก่อนที่มีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน

ขณะเดียวกัน ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกกับแนฟทา (สเปรด) ในขณะนี้ก็ปรับตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 810 เหรียญสหรัฐ/ตัน สูงกว่าสเปรดเฉลี่ยในช่วงไตรมาส 1/2558 ที่อยู่ระดับ 700 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบและแนฟทาปรับตัวสูงขึ้น แต่ราคาเม็ดพลาสติกปรับราคาสูงขึ้นและเร็วกว่า ทำให้มาร์จิ้นเพิ่มสูงขึ้นมาก และบริษัทมีปริมาณการผลิตปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนด้วย

ส่วนธุรกิจซีเมนต์คาดว่าจะมีความต้องการใช้ปูนเพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในส่วนโครงการลงทุนของภาครัฐ ขณะที่ความต้องการใช้ปูนในส่วนภาคที่อยู่อาศัย และคอมเมอร์เชียลก็เริ่มเห็นสัญญาณปรับตัวดีขึ้นด้วยเช่นกัน โดยความต้องการใช้ปูนในไทยประมาณ 40 ล้านตัน/ปี

ในปีนี้บริษัทจะลดการส่งออกปูนลงจากเดิม 4.5 ล้านตัน เหลือ 4 ล้านตัน โดยในปลายเดือนมิถุนายนนี้ไลน์การผลิตปูนที่ 2 ในกัมพูชาจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ และครึ่งปีหลังโรงงานปูนที่อินโดนีเซียจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้เช่นกัน แต่กำไรจากธุรกิจปูนจะเพิ่มขึ้นไม่มากเนื่องจากรับรู้ค่าเสื่อมจากโรงงานใหม่ แต่ยอมรับว่าตลาดรวมปูนในประเทศพม่าและกัมพูชาโตมาก แต่ที่อินโดนีเซียพบว่าความต้องการใช้ปูนโตลดลง ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้างก็มีแนวโน้มดีขึ้นเช่นกัน

นายกานต์กล่าวต่อไปว่า บริษัทฯ ยังไม่ปรับเป้าหมายยอดขายที่ตั้งไว้ว่าปีนี้จะโตขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย 1-2% มาอยู่ที่ระดับ 4.9 แสนล้านบาท สืบเนื่องจากแนวโน้มรายได้จากกลุ่มเคมีภัณฑ์ซึ่งคิดเป็น 50% ของรายได้เครือซิเมนต์ไทย ในปีนี้จะปรับตัวลดลงตามทิศทางราคาน้ำมัน

จะเห็นได้จากผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ บริษัทฯ มีรายได้จากการขายลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมาอยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท สาเหตุมาจากราคาขายเคมีภัณฑ์ปรับตัวลดลงตามราคาแนฟทาและน้ำมันที่ลดลง แต่กำไรสำหรับงวดไตรมาส 1/2558 มาอยู่ที่ 1.10 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลธุรกิจเคมีภัณฑ์มีกำไรที่สูงขึ้น และไตรมาสนี้มีกำไรจากการขายเงินลงทุนของบริษัทสยามมิชลินกรุ๊ป จำกัด ทำให้รับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุน 1.48 พันล้านบาทด้วย

ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 1/2558 ของบริษัทฯ แยกตามธุรกิจ พบว่า รายได้ในไตรมาส 1/2558 ของกลุ่มเคมีภัณฑ์อยู่ที่ 4,79 หมื่นล้านบาท ลดลง 21% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่มีกำไร 4.93 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 99% จากช่วงเดียวกันของปี 2557 เพราะปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นและสเปรดที่สูงขึ้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการขาดทุนจากการปรับมูลค่าสินค้าคงเหลือ 930 ล้านบาทแล้วก็ตาม

ส่วนกลุ่มซีเมนต์และวัสดุก่อสร้างมีรายได้จากการขาย 4.70 หมื่นล้านบาท ลดลง 1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการใช้ปูนในประเทศที่ลดลง และมีกำไร 3.55 พันล้านบาท ลดลง 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

กลุ่มธุรกิจกระดาษ มีรายได้จากการขาย 1.71 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไร 878 ล้านบาท ลดลง 30% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาร์จิ้นที่ลดลง และปีก่อนรายได้จากรายการพิเศษด้วย

“ตลาดปูนในไทยแม้ว่าตลาดจะอ่อนตัวลงในไตรมาส 1 นี้ โดยความต้องการใช้ติดลบ 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นไตรมาสที่มีความต้องการใช้ปูนที่สูงมาก ก็ถือว่าลดลงไม่มาก เพราะไตรมาส 1 นี้ความต้องการใช้ปูนของภาครัฐโตขึ้น 10% ขณะที่ภาคที่อยู่อาศัยและคอมเมอร์เชียลโตติดลบ ทำให้รวมทั้งสามเซกเตอร์นี้ ตลาดปูนโตติดลบเพียง 2% เท่านั้น และเชื่อว่าไตรมาสนี้ความต้องการใช้ปูนจะดีกว่าไตรมาสก่อน จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนของภาครัฐที่คืบหน้าไปมาก และจะเห็นผลชัดเจนในครึ่งปีหลัง ส่วนธุรกิจเคมีภัณฑ์ก็อยู่ในช่วงขาขึ้นและจะดีขึ้นต่อเนื่องไปอีกหลายปี และธุรกิจกระดาษคาดการส่งออกในอาเซียนดีขึ้น จากความต้องการใช้สินค้ากระดาษและบรรจุภัณฑ์ในอาเซียนโตต่อเนื่อง”

นายกานต์กล่าวถึงการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ว่าเป็นสิ่งที่ดี เพราะการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงด้วย ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้รวมกับครั้งก่อนอีก 0.25 เท่ากับลดดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.50 น่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออกมากขึ้น หลังจากค่าเงินบาทแข็งค่าสูงกว่าสกุลเงินอื่นในอาเซียนมาเป็นเวลา 16 เดือนแล้ว ซึ่งภาครัฐเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจส่งเสริมให้เศรษฐกิจกระเตื้องดีขึ้น โดยเดือน มี.ค.เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นโดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ฯ

โดยเห็นว่าค่าเงินบาทควรอยู่ระหว่าง 33-34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อกระตุ้นการส่งออก และเชื่อว่าจะส่งผลดีต่อทุกภาคส่วน

นายกานต์กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ได้มีมติอนุมัติการลงทุนสายการผลิตที่ 2 ของ Vina Kraft Paper ในประเทศเวียดนาม ใช้เงินลงทุน 4.12 พันล้านบาท เพื่อผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์เพิ่มอีก 2.43 แสนตัน/ปี คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/2560 ส่งผลให้ SCC เป็นผู้ผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ที่มีกำลังการผลิตใหญ่สุดในอาเซียนระดับ 2.6 ล้านตัน/ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น