ทิสโก้มองเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีจากอานิสงส์การทำ QE ของยุโรปและญี่ปุ่น ให้น้ำหนักการลงทุนหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น ส่วนหุ้นไทยยังไม่มีปัจจัยหนุน เน้นเลือกลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก พร้อมรอจังหวะเข้าลงทุนเมื่อหุ้นปรับตัวลง
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว และคาดว่าน่าจะเติบโตที่ระดับ 3.4% โดยเป็นการเติบโตที่หลากหลายมากขึ้น
ดังนั้น ในช่วง 18 เดือนจากนี้จึงเป็นช่วงที่ดีในการลงทุนในหุ้นจากปัจจัยสภาพคล่องที่มีสูงแม้เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหยุดอัดฉีดเงินแต่ก็ยังไม่ดึงเงินออกจากระบบ ขณะที่การขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นการปรับขึ้นที่แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความแข็งแรง และไม่น่าจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีการเติบโตที่ดี คาดว่าในปีนี้จะเติบโตที่ระดับ 3%
ขณะที่เศรษฐกิจยุโรป หลังจากมีการอัดฉีดเงินของธนาคารกลางยุโรป (QE) ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลง และราคาน้ำมันที่ลดลงส่งผลให้เศรษฐกิจดีขึ้น จึงคาดว่ายุโรปในปีนี้น่าจะเติบโตได้ระดับ 1.5% เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่นที่มีการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้เงินเยนอ่อนค่า และราคาน้ำมันที่ลดลงเป็นผลดีต่อการส่งออก
“การอัดฉีดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของยุโรปและญี่ปุ่นนั้นส่งผลให้เงินอ่อนค่าลงและทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้น และเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก”
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจโลกในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีการเติบโตขึ้น แต่ประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่มีเงินไหลออกไปมากเพราะหลายประเทศมีการปฏิรูปประเทศและราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้เศรษฐกิจประเทศผู้ส่งออกน้ำมันชะลอตัวลง อย่างไรก็ตาม ประเทศเกิดใหม่ยังมีการเติบโตอยู่โดยเฉพาะในกลุ่มเอเชียอย่างจีน และอินเดียที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
“ดังนั้น เศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงค่อนข้างน้อยเพราะดอกเบี้ยต่ำและราคาน้ำมันที่ลดลงมา จึงให้น้ำหนักการลงทุนในปีนี้ไปที่ตลาดหุ้นยุโรปมากที่สุด รองลงมาคือ ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ตามลำดับ”
สำหรับเศรษฐกิจไทย มองว่าในปีนี้มีการเติบโตที่ค่อนข้างต่ำที่ระดับ 3% จากการที่อยู่ในช่วงปฏิรูปประเทศมากกว่าการอัดฉีดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นหุ้นไทยในปีนี้จึงยังไม่มีแรงกระตุ้น ต้องมองช่วงครึ่งปีหลังในเรื่องรัฐธรรมนูญว่าจะผ่านหรือไม่ ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงต่อตลาดหุ้น แต่จากการที่มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและมาใช้มาตรา 44 แทนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยว
นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนหุ้นไทยช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ บริษัทเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มขนาดเล็กและขนาดกลางที่อยู่ใน SET100 มากขึ้น เนื่องจากหุ้นกลุ่มดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนให้กองทุนของบริษัทได้ระดับสูง ซึ่งสามารถชนะตลาดหุ้นไทยที่เติบโตอยู่ที่ 10% ขณะที่กองทุนหุ้นไทยที่ลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวสามารถสร้างผลตอบแทนได้สูงถึง 40% เมื่อเทียบกับตลาดฯ
นอกจากนี้ ช่วงที่หุ้นไทยมีการปรับฐานต่ำกว่า 1,500 จุด ถือเป็นจังหวะที่ดีที่กองทุนจะเข้าไปเพิ่มน้ำหนักในหุ้นกลุ่มดังกล่าวมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความผันผวนจากการลงทุนที่เกิดขึ้นในขณะนี้ การลงทุนในหุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางนี้กองทุนจะมีการปรับพอร์ตการลงทุนสม่ำเสมอเพื่อลดความเสี่ยงและรักษาฐานผลตอบแทนให้อยู่ในระดับสูงตลอดเวลา โดยจะหาจังหวะขายหุ้นเพื่อทำกำไรเมื่อราคามีการปรับตัวขึ้นสูง และพยายามเข้าลงทุนเพิ่มเมื่อราคาปรับตัวลงมาค่อนข้างมาก
โดยนักลงทุนทั่วๆ ไป การลงทุนในหุ้นกลุ่มดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนให้แก่นักลงทุนได้ เพียงแต่นักลงทุนคัดเลือกหลักทรัพย์เป็นรายตัวโดยดูแนวโน้มของหลักทรัพย์ในหลายๆ ด้านประกอบ ทั้งนี้ เมื่อเทียบการลงทุนระหว่างหุ้นกลุ่มสมอลแคปใน SET INDEX กับหุ้นสมอลแคปที่อยู่ใน SET100 จะพบว่าหุ้นสมอลแคปที่อยู่ใน SET100 สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าแม้จะเทียบกับหุ้นพื้นฐานขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET INDEX ก็ตาม เพราะหลักทรัพย์ที่อยู่ใน SET INDEX ราคาจะอิงกับดัชนีที่ขึ้นลงในแต่ละวันเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากหุ้นที่อยู่ใน SET100 จะเติบโตตามผลประกอบการของธุรกิจเป็นหลัก
สำหรับหลักทรัพย์กลุ่มสมอลแคปที่บริษัทเข้าลงทุนจะเน้นในหลักทรัพย์ขนาดเล็กที่มีพื้นฐานดี มีแนวโน้มการเติบโตของกำไรดี รวมถึงการเติบโตของธุรกิจด้วย อย่างหุ้นขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ โรงพยาบาล สถานเสริมความงาม ธุรกิจพลังงานทดแทน ฯลฯ และกองทุนจะหลีกเลี่ยงการลงทุนให้หุ้นเก็งกำไร ส่วนกรอบดัชนีหุ้นไทยช่วงนี้ที่มีความผันผวนคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,450 จุด
อสังหาฯ ญี่ปุ่น (J-REITs) น่าลงทุน
ทางด้าน นายสุพงศ์วร เมี้ยนโภคา หัวหน้าฝ่ายจัดการลงทุนต่างประเทศ บลจ.ทิสโก้ กล่าวว่า การลงทุนต่างประเทศที่น่าสนใจในครึ่งปีหลัง คือประเทศญี่ปุ่น และจีน โดยญี่ปุ่นมีความน่าสนใจทั้งตลาดหุ้น รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ (J-REITs) โดยตั้งแต่ต้นปีตลาดหุ้นญี่ปุ่นสร้างผลตอบแทนในระดับต้นๆ ของโลก ภายหลังภาครัฐเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงภายในประเทศต่อเนื่อง โดย BoJ มีเป้าหมายเข้าซื้อ ETFs และ J-REITs ด้วยวงเงินรวมต่อปีราว 3 ล้านล้านเยน และ 9 หมื่นล้านเยน ตามลำดับ
นอกจากนี้ GPIF ยังมีนโยบายเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นจาก 12% เป็น 25% ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ดำเนินนโยบายการคลังควบคู่ไปกับการทำ QE โดยในไตรมาสที่ 1/58 ได้อนุมัติเพิ่มงบประมาณอีกเป็นจำนวนเงิน 3.5 ล้านล้านเยน ซึ่งนอกจากจะส่งผลให้ค่าเงินเยนอ่อนค่าแล้ว ยังส่งผลให้ตลาดหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นตามไปด้วย
“เรามองว่ากองทุนอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น (J-REITs) น่าสนใจและมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่น นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณการซื้อ J-REITs เป็น 9 หมื่นล้านเยนต่อปี จาก 3 หมื่นล้านเยน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าของ BoJ ยังเป็นปัจจัยหนุนต่อการลงทุนใน J-REITs ในระยะยาวได้เป็นอย่างดี โดยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 58 BoJ ได้เข้าซื้อ J-REIT เป็นจำนวน 1.7 หมื่นล้านเยน โดย ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ BoJ มีการถือครอง J-REITs เป็นมูลค่ากว่า 1.94 แสนล้านเยน นอกจากนี้ ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในญี่ปุ่น โดยเฉพาะอาคารสำนักงานในโตเกียวมีสัญญาณที่ดีขึ้นชัดเจน โดยค่าเช่าอาคารปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี โดยเพิ่มขึ้นกว่า 5% ในเดือน ธ.ค. 57 ในขณะที่อัตราว่าง (Vacancy Rate) ลดลงต่อเนื่อง ประกอบกับอัตราเงินปันผลของ J-REITs ที่อยู่ในระดับสูงที่ราว 3% เมื่อเทียบกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (JGBs) ที่ราว 0.3% ส่งผลให้ J-REITs มีความน่าสนใจต่อเนื่องในครึ่งหลังของปีนี้” นายสุพงศ์วรกล่าว
นายสุพงศ์วร กล่าวต่อว่า สำหรับตลาดหุ้นจีน คาดว่าความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจและนโยบายผ่อนคลายทางการเงินจะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นจีนในปีนี้ โดยความคืบหน้าของการปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การเปิดเสรีทางการเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรเงินทุนผ่านกลไกตลาด และกระตุ้นการบริโภคของภาคครัวเรือนเพื่อชดเชยการชะลอตัวของภาคการลงทุน จะเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้เศรษฐกิจจีน
โดยตลาดหุ้นจีนปัจจุบันเทรดอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในอดีต โดยมี P/E เพียง 8 เท่า และมีโอกาสถูก Re-rate ไปซื้อขายในระดับ P/E ที่สูงขึ้นหลังเศรษฐกิจมีพัฒนาการที่ดีขึ้น นอกจากนี้ ความสำเร็จของโครงการ Shanghai - Hong Kong Stock Connect จะช่วยเพิ่มสภาพคล่อง (Liquidity) ของตลาดหุ้นจีนในอีกทางหนึ่งด้วย
จัดพอร์ตครึ่งปีหลัง
นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า สำหรับกลยุทธ์การลงทุน ทิสโก้แนะนำให้ Overweight ตลาดหุ้นญี่ปุ่น เยอรมนี และจีน โดยมองว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น และเยอรมนีจะได้ผลบวกจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์เมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจนขึ้น โดยตลาดหุ้นญี่ปุ่นมีกำไรเติบโตสูงตามเศรษฐกิจ และการเพิ่มการจ่ายปันผลและซื้อหุ้นคืนตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงแรงซื้อจากธนาคารกลางญี่ปุ่น (BoJ) และกองทุนบำเหน็จบำนาญของญี่ปุ่น (GPIF)
ขณะที่ตลาดหุ้นเยอรมนี กำไรเติบโตสูงตามเศรษฐกิจเช่นกัน โดยเศรษฐกิจเยอรมนีมีเสถียรภาพสูง อัตราการว่างงานต่ำ ขณะที่ราคาหุ้นยังถูก มี Valuation ถูกที่สุดในยุโรป (P/E อยู่ที่ 15 เท่า เทียบกับ 16 เท่า สำหรับ STOXX600) ส่วนตลาดหุ้นจีนมีความน่าสนใจเนื่องจาก Valuation ถูก มี P/E เพียง 8 เท่า และความคืบหน้าของนโยบายปฏิรูปช่วยลดความเสี่ยงในเศรษฐกิจจีน รวมถึงแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีน (PBoC)
สำหรับตลาดหุ้นที่แนะนำให้ Underweight ได้แก่ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไทย และละตินอเมริกา โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ กำไรถูกกดดันจากค่าเงินดอลลาร์แข็ง และบริษัทน้ำมันซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในตลาด, Valuation แพง (P/E = 17เท่า) ส่วนตลาดหุ้นไทยมี Valuation แพงกว่าภูมิภาค ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับยังมีความเสี่ยงจากประเด็นการเมือง และเงินทุนไหลออกเมื่อ FED ขึ้นดอกเบี้ย และตลาดหุ้นละตินอเมริกาถูกกดดันเนื่องจากสินค้าโภคภัณฑ์ราคาตกต่ำ, ค่าเงินผันผวนจากการขึ้นดอกเบี้ยของ FED และความเสี่ยงทางการเมืองในบราซิล