คอลัมน์คลินิกกองทุนรวมในสัปดาห์นี้ขอหยิบบทความน่าสนใจจาก คุณมงคล ลุสัมฤทธิ์ กรรมการผู้จัดการ Wealth Design Consulting ที่ปรึกษาอาวุโสฝ่ายขาย AIA ประเทศไทย มาฝากกัน เริ่มกันเลย.........
เครื่องมือในการโอนย้ายความเสี่ยงที่ดีที่สุดคือ“ประกัน”แต่มีคนน้อยเหลือเกินที่รู้ว่าจะต้องทำเท่าไหร่ดีบางคนก็มีทุนประกันเพียงแค่ได้ชื่อว่ามี ได้ทำแล้วพอถึงเวลาที่ต้องใช้ประโยชน์จากประกันมักพบว่าที่ทำมาน้อยเกินไป ไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย
ตามหลักสากลมีวิธีคำนวณทุนประกันที่เหมาะสมอยู่ 2 วิธี
วิธีแรกเรียกว่า Eazy Method หลักคิดคือหากผู้ที่เป็นผู้นำหรือหารายได้เลี้ยงครอบครัวจากไปครอบครัวควรจะมีเงินประมาณ 70% ของรายได้ปัจจุบันของผู้นำครอบครัวไปอย่างน้อย 7 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ครอบครัวสามารถปรับตัวได้ทัน ตัวอย่าง ผู้นำครอบครัวคนหนึ่งมีรายได้ปีละ 1 ล้านบาท หากเขาจากไป ครอบครัวควรมีรายได้เสมือนว่าเขายังอยู่อย่างน้อย 700,000 บาท ไปอย่างน้อย 7 ปี คือ 700,000 x 7 = 4,900,000 บาท
วิธีที่ 2 เรียกว่า Non-Working Spouse หลักคิดก็คือ หากผู้นำที่เลี้ยงดูครอบครัวจากไปครอบครัวควรมีเงินสำหรับดูแลค่าใช้จ่ายของครอบครัวไปจนกว่าลูกคนเล็กเรียนจบมหาวิทยาลัย
ตัวอย่าง ผู้นำครอบครัวหนึ่งมีค่าใช้จ่ายดูแลครอบครัวปีละ 600,000 บาท มีลูก 1 คนอายุ 2 ขวบ กว่าลูกเรียนจบก็อายุ 22 ปี นั่นหมายความว่ากว่าลูกจะเรียนจบก็ใช้เวลา 20 ปี
หากผู้นำครอบครัวคนนี้จากไปจำนวนเงินที่ครอบครัวต้องมีคือ 600,000 x 20 = 12,000,000 บาท (ในกรณีที่ครอบครัวนำเงินไปลงทุนได้ผลตอบแทนเท่าเงินเฟ้อ)
ตัวเลขที่คำนวณได้นี้ควรรวมกับภาระหนี้สินที่มีด้วย เช่น หนี้บ้านคงค้าง หนี้สินเชื่อรถยนต์คงค้าง
เห็นตัวเลขขนาดนี้อย่าเพิ่งตกใจนะครับ เพราะจำนวนเงินที่ต้องเตรียมทั้งหมดนี้ต้องหักด้วยสินทรัพย์ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดที่เรามีไว้แล้ว เช่น เงินฝาก พันธบัตร กองทุน หุ้น ทองคำ ทุนประกันชีวิตที่มีอยู่ เราก็จะทราบว่าเราต้องเตรียมสินทรัพย์เพิ่มอีกหรือไม่ และวิธีที่ง่ายที่สุด ประหยัดที่สุดในการเตรียมเงินก้อนนี้คือ การเตรียมด้วยทุนประกันชีวิต
และวิธีที่คุณจะมีทุนประกันก้อนนี้ได้ นอกจากค่าเบี้ยประกันที่คุณจะใช้เงินแค่ 1-4% ต่อปีของทุนประกันที่ต้องมีแล้ว คุณต้องมีสุขภาพที่ดีของคุณในปัจจุบันด้วย คุณถึงจะมีทุนประกันก้อนนี้ได้
ดังนั้น หากคุณรู้แล้วว่าคุณยังเตรียมเงินก้อนนี้ไม่พอ แต่คุณพอที่จะจ่ายเบี้ยประกันไหวและคุณมีสุขภาพที่ยังดีตัดสินใจทำเพื่อคนที่คุณรักเถอะครับ
สำหรับผู้อ่านท่านใดมีคำถามก็สามารถส่งคำถามมาได้ที่ mgrfund@gmail.com ทางทีมงานจะทยอยตอบคำถามให้ โดยคำตอบนั้นอาจจะต้องใช้เวลาสักนิด เนื่องจากทีมงานได้ส่งคำถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น บลจ. หรือบริษัทประกัน รวมถึงผู้เชี่ยวชาญมาช่วยไขข้อข้องใจกันค่ะ