โดยดวงฤทัย ซื่อตรงประเสริฐ
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย
ปัจจุบัน การแปลงสินทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ (Securitization) กลายเป็นนวัตกรรมทางการเงินที่สำคัญและมีแนวโน้มว่าจะได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากสามารถเปลี่ยนให้ “สินทรัพย์” ที่เคยมีสภาพคล่องต่ำ กลายเป็น “หลักทรัพย์” ที่นักลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือกันได้ ซึ่งตัวอย่างของ Securitization ที่เราพบเห็นอยู่เป็นประจำได้แก่ ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยหนุนหลัง (Mortgage Backed Security) หรือเรียกกันโดยย่อว่า MBS เป็นต้น อย่างไรก็ตามยังมีตราสารหนี้อีกประเภทหนึ่งซึ่งเรียกกันว่า Covered Bond โดยมีลักษณะคล้ายคลึงกับ MBS และได้รับความนิยมอย่างมากในแถบประเทศยุโรปแต่ยังไม่เป็นที่รู้จักในบ้านเรามากนัก และในวันนี้เราจะมาทำความรู้จักกับลักษณะที่น่าสนใจของตราสารหนี้ประเภทนี้กันค่ะ
Covered Bond เป็นตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันการเงินหรือธนาคารพาณิชย์ผ่านกระบวนการ Securitization โดยนำสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่สถาบันการเงินมีอยู่มาผูกรวมกันเป็นกองสินเชื่อเพื่อใช้เป็นสินทรัพย์หนุนหลังในการออกตราสารประเภทนี้ ดังนั้นผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนใน Covered Bond จะได้รับจึงมาจากดอกเบี้ยและเงินต้นที่ลูกหนี้เงินกู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยผ่อนชำระในแต่ละงวดนั่นเอง
ทั้งนี้ กองสินเชื่อที่จะนำมาใช้หนุนหลังสำหรับการออก Covered Bond จะต้องเป็นลูกหนี้ชั้นดีหรือมีคุณภาพสูงเท่านั้น ดังนั้นจึงทำให้ Covered Bond ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่สูงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ Covered Bond จะคล้ายคลึงกับ MBS ที่มีสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์เป็นสินทรัพย์หนุนหลังเหมือนกัน แต่ข้อแตกต่างที่สำคัญระหว่าง MBS กับ Covered Bond คือกองสินเชื่อที่เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันของ Covered Bond จะยังปรากฏอยู่ในงบดุล (On-Balance-Sheet) ของสถาบันการเงินผู้ออกตราสาร
ขณะที่สถาบันการเงินที่ต้องการออก MBS จะต้องขายกองสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ให้กับสถาบันตัวกลางหรือนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เพื่อทำหน้าที่นำกองสินทรัพย์ดังกล่าวมาใช้เป็นหลักประกันในการออก MBS เพื่อขายให้ผู้ลงทุนต่อไป ดังนั้นกองสินเชื่อที่เป็นสินทรัพย์ค้ำประกันของ MBS จึงอยู่นอกงบดุล (Off-Balance-Sheet) ของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าของเดิม
ปัจจุบันตราสารหนี้ประเภท Covered Bond เติบโตอย่างมากในแถบยุโรป โดยเฉพาะประเทศเยอรมนีที่ถือเป็นแม่แบบของการออก Covered Bond และมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับตราสารประเภทนี้ว่า “pfandbrief” อีกด้วย และด้วยลักษณะเฉพาะตัวหลายด้านที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของกองสินทรัพย์ค้ำประกันที่อยู่ในระดับสูง หรือผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจมากกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล รวมถึงได้รับการกำกับดูแลอย่างดีและมีกลไกคุ้มครองผู้ลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐฯ ในกรณีที่ผู้ออกผิดนัดชำระหนี้หรือล้มละลาย ทั้งหมดนี้ทำให้ Covered Bond ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มผู้ลงทุน ขณะเดียวกันตราสารประเภทนี้ก็มีความน่าสนใจสำหรับสถาบันการเงินที่ออกตราสารเช่นกัน ในแง่ของการเป็นแหล่งจัดหาเงินทุนระยะยาวด้วยต้นทุนที่ต่ำ เนื่องจากมีอันดับความน่าเชื่อถือค่อนข้างสูง
สำหรับประเทศไทย ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการออก Covered Bond แต่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการอย่างจริงจังในการหารือร่วมกันเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างที่เหมาะสม ประเด็นและข้อจำกัดต่างๆ ทางด้านกฎหมาย และแนวทางในการแก้ไขอุปสรรคที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อผลักดันให้ Covered Bond เกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาถัดไป และกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการระดมทุนของสถาบันการเงินและการลงทุนของนักลงทุนได้ในที่สุด