xs
xsm
sm
md
lg

CGIF กับการพัฒนาตลาดตราสารหนื้ไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สินีรัตน์ สิริอิทธิวงศ์
ฝ่ายวิจัยและพัฒนาตลาด
สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย

โดยทั่วไปแล้ว การระดมทุนของภาคเอกชนสามารถทำได้ในหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ การเสนอขายหุ้นสามัญ รวมถึงการออกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคประการหนึ่งของการออกหุ้นกู้ในปัจจุบันคือข้อกำหนดเกี่ยวกับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของตัวบริษัทที่สนใจระดมทุน แม้ไม่มีข้อบังคับว่าต้องได้รับ Credit Rating ขั้นต่ำที่ระดับใดจึงจะสามารถออกหุ้นกู้ได้ แต่เอกชนที่มี Credit Rating ต่ำเกินไปมักไม่เป็นที่สนใจของผู้ลงทุนเนื่องจากสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูง ขณะที่นักลงทุนบางกลุ่มยังมีข้อกำหนดให้ลงทุนได้เฉพาะหุ้นกู้ที่มี Credit Rating ไม่ต่ำกว่าระดับ Investment Grade (ไม่ต่ำกว่า BBB) และเหนือสิ่งอื่นใด Credit Rating ที่ต่ำจะมีผลให้ผู้ออกหุ้นกู้มีภาระต้องจ่ายดอกเบี้ย (Coupon Rate) ในระดับที่สูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การช่วยให้เอกชนได้รับ Credit Rating ที่ดีขึ้นจึงเป็นแนวทางที่จะช่วยให้เอกชนสามารถเข้าถึงช่องทางระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ได้มากขึ้น และยังช่วยพัฒนาตลาดตราสารหนี้ได้ในอีกทางหนึ่งด้วย

ด้วยปัญหาที่คล้ายคลึงกับหลายประเทศในภูมิภาค จึงทำให้เกิดความร่วมมือในการจัดตั้ง Credit Guarantee and Investment Facility (CGIF) ขึ้นมาระหว่างประเทศสมาชิก ASEAN+3 (10 ประเทศอาเซียน บวกด้วย จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เอกชนของประเทศในกลุ่ม ASEAN+3 สามารถระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้ง่ายขึ้น โดย CGIF จะทำหน้าที่ค้ำประกันเพื่อช่วยให้หุ้นกู้มีความน่าเชื่อถือสูงขึ้น และช่วยให้ต้นทุนในส่วนของดอกเบี้ยจ่ายต่ำลง นอกจากนี้แล้วเอกชนที่สนใจออกหุ้นกู้ภายใต้การค้ำประกันของ CGIF ยังสามารถข้ามไปออกหุ้นกู้ในประเทศอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่ม ASEAN+3 ด้วยกัน โดยไม่จำกัดว่าจะต้องระดมทุนในประเทศของตนเท่านั้น

ทั้งนี้ Noble Group Ltd. (บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ฮ่องกง) ถือเป็นเอกชนรายแรกที่เข้ารับการค้ำประกันจาก CGIF สำหรับการออกหุ้นกู้อายุ 3 ปี ในวงเงิน 2,850 ล้านบาท (ประมาณ 100 ล้านเหรียญ USD) และที่สำคัญเป็นการออกหุ้นกู้ในตลาดตราสารหนี้ของประเทศไทยด้วยสกุลเงินบาท ซึ่งเดิมที Noble Group Ltd. มี Credit Rating อยู่ที่ BBB- จากการจัดอันดับของ S&P และ Fitch แต่เมื่อระดมทุนภายใต้การค้ำประกันของ CGIF ความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ที่ออกภายใต้การค้ำประกันดังกล่าวจึงอยู่ในระดับเดียวกับความน่าเชื่อถือของ CGIF ซึ่งอยู่ที่ AAA และถือเป็น Credit Rating ในระดับสูงสุด มีผลให้ Noble Group Ltd. เสียต้นทุนในส่วนของดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้เพียง 3.55% ต่อปี จึงเห็นได้ว่า CGIF ช่วยให้เอกชนสามารถระดมทุนได้ด้วยต้นทุนที่ถูกลงกว่าเดิม

นอกจากนี้แล้ว CGIF ยังมีประโยชน์ต่อฝั่งของผู้ลงทุนด้วยเช่นกัน เพราะการค้ำประกันจะช่วยลดความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้ได้ เมื่อเกิดเหตุผิดนัดฯ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของเงินต้นหรือดอกเบี้ย ผู้ถือหุ้นกู้สามารถเรียกร้องให้ CGIF เป็นผู้ชำระหนี้แทนได้ตามสัญญาการค้ำประกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีความเสี่ยงที่ CGIF อาจะชำระหนี้ด้วยสกุลเงินอื่นที่ต่างกับสกุลเงินของหุ้นกู้ที่ออกขายก็ได้ เนื่องจากโครงสร้างเงินกองทุนของ CGIF ปัจจุบันอยู่ในรูปของเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก ทั้งนี้ CGIF มีเงินกองทุนในปัจจุบันอยู่ที่ 700 ล้านเหรียญ USD และใช้ค้ำประกันหุ้นกู้ของ Noble Group Ltd. ไปแล้ว 100 ล้านเหรียญ USD จึงดูเหมือนว่าเหลือเงินกองทุนสำหรับค้ำประกันหุ้นกู้รายอื่นอีกไม่มากนัก แต่หากมีเอกชนสนใจออกหุ้นกู้ภายใต้การค้ำประกันของ CGIF มากขึ้นในอนาคต ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีการเพิ่มเงินกองทุนให้มากขึ้น

โดยสรุปแล้ว CGIF ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้ระดมทุนและสร้างความมั่นใจให้แก่นักลงทุน แต่สำหรับประเทศไทย CGIF ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญในการพัฒนาตลาด ทั้งในแง่ของการเพิ่มคุณภาพของตราสารหนี้ เพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงเพิ่มขนาดของตลาดให้เติบโตพร้อมก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะมาถึงนี้ด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น