บลจ.ซีไอเอ็มบีซี-พรินซิเพิล แนะนักลงทุนกระจายลงทุนไปยังหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ชูญี่ปุ่น-เกาหลีใต้-ยุโรป เติบโตโดดเด่น
นายเจษฎา สุขทิศ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซีไอเอ็มบีซี-พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวใน 1-2 ปีข้างหน้าจากการฟื้นตัวของสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น หากพิจรณาภาพรวมนับว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยคาดการณ์การขยายตัวในปีนี้จะเติบโตที่ 3.7% นำโดยกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตลาดหุ้นที่มีความโดดเด่นในปีนี้ ได้แก่ ญี่ปุ่น ยุโรป และเกาหลีใต้ ในส่วนของญี่ปุ่นเองนั้นได้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของชินโซ อาเบะ ซึ่งหลังจากดำเนินนโยบายดังกล่าวมา 1 ปีตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ส่งผลดีต่อภาพรวมความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นญี่ปุ่นสร้างผลตอบแทนสูงที่สุดคือ 56.72% โดยเราคาดว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นจะมีทิศทางที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องสำหรับปีนี้
ในส่วนของประเทศเกาหลีใต้นั้นถือว่าได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเกาหลีใต้มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 50% ของจีดีพี โดยมีสินค้าเทคโนโลยีเป็นสินค้าหลัก นอจากนี้เกาหลีใต้ยังเป็นประเทศที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดการเงินมีภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของกระแสเงินจากการถอน QE ของสหรัฐฯ โดยตลาดหุ้นของเกาหลีใต้ทำการซื้อขายในระดับที่น่าสนใจ ซึ่งมีค่า P/E ของตลาดเพียง 8-9 เท่า ขณะที่บริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรสูงถึงประมาณ 20%
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจในภูมิภาคยุโรปนั้น ปี 2557 ถือว่าเป็นปีหลุดพ้นจากเศรษฐกิจที่ถดถอย โดยเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวในภาคอุตสหกรรมการผลิต ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงใช้มาตรการผ่อนคลายการเงินและยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้สามารถเติบโตได้ ส่วนปัญหาของประเทศ PIGS ได้แก่ โปรตุเกส อิตาลี กรีซ สเปน ที่ประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจถอถอยอย่างมากในรอบ 1-2 ปีที่ผ่านมานั้นเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวจึงเป็นจังหวะที่น่าสนใจเข้าลงทุน
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า ในส่วนของสหรัฐฯ นั้นเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างชัดเจนใน 1-2 ปีข้างหน้า ส่งผลให้เฟดทำการลดมาตรการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงินต่อเนื่องในปีนี้ และอาจเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้าหากเริ่มเห็นสัญญาณเงินเฟ้อ อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาเกือบ 5 ปี จึงแนะนำให้นักลงทุนรอจังหวะที่ตลาดมีการปรับฐานในการตัดสินใจเข้าเพิ่มน้ำหนักการลงทุน
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในหุ้นไทยนั้น เรามองว่าเศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวอยู่ที่ 2-3% ซึ่งต่ำกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยการเมืองภายในประเทศยังคงไม่มีเสถียรภาพซึ่งกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศในการเข้ามาลงทุนในหุ้นไทย การใช้จ่ายภายในประเทศ การลงทุน รวมไปถึงโครงการภาครัฐมีแนวโน้มปรับตัวลดลง แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายคงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ด้วยภาวะปัจจัยลบที่มากกว่าย่อมส่งผลต่อความไม่แน่นอนในการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย
“ตลาดหุ้นได้รับรู้ปัญหาการเมืองไปมากพอสมควร ซึ่งหากปัญหาทุกอย่างคลี่คลายคาดว่าความเชื่อมั่นของนักลงทุนจะกลับมาอีกครั้ง โดยเราคาดการณ์การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะเบียนปีนี้ประมาณ 10% และไม่สูงมากเหมือนปีที่ผ่านมา โดยหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวในลักษณะ sideway ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นไทยจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% ถือว่าไม่มากนักหากเทียบกับความผันผวนที่มีค่อนข้างมาก โดยกลยุทธ์ที่เหมาะสมคือ ลงซื้อ ขึ้นขาย หาก P/E Ratio ของตลาดลงมาที่ 10-11 เท่าก็น่าจะเป็นจังหวะในการทยอยซื้อ แต่หากปรับเพิ่มขึ้นเกิน 12-13 เท่าก็ควรขายทำกำไรบางส่วน” นายเจษฎากล่าว
นายเจษฎา กล่าวต่อว่า กลยุทธ์การลงทุนในปีนี้นั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง-ปานกลาง ให้เน้นกระจายการลงทุนให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยกระจายการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงในประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ส่วนหุ้นไทยแนะนำทยอยลงทุนเมื่อมีการปรับฐานหรือปรับตัวลดลง โดยกองทุนที่แนะนำคือ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบี-พรินซิเพิล เจแปนนิส อิควิตี้ กองทุนเปิดซีไอเอ็มบีซี-พรินซิเพิล อิควิตี้ ดิวิเดนด์
ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง-ต่ำ แนะนำให้แบ่งเงินลงทุนบางส่วนในกองทุนประเภทบาลานซ์ฟันด์ ซึ่งมีกลยุทธ์ซื้อถูก-ขายแพง เหมาะสมกับตลาดหุ้นที่มีแนวโน้มผันผวน โดยกองบาลานซ์ฟันด์ยังมีสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้อายุปานกลางซึ่งจะได้รับประโยชน์จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่มีทิศทางทรงตัวหรือปรับตัวลดลง และควรเน้นลงทุนในกองทุนตลาดเงินด้วยเช่นกัน