xs
xsm
sm
md
lg

กูรูมอง ศก.โลกฟื้นตัวเปราะบาง ตลาดพัฒนาแล้วแก้ปัญหาไม่ชัดเจน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กูรูแวดวงการลงทุนประเมินเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวเปราะบาง เหตุประเทศพัฒนาแล้วยังแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ชัดเจน ขณะที่ปัญหาประเทศตลาดเกิดใหม่ยังมีปัจจัยลบรุมเร้า พร้อมมองการลด QE จะจบภายในเดือนตุลาคมนี้ แนะจับตาการดำเนิน “นโยบายการเงินแบบชี้นำ” ของประธานเฟดคนใหม่

มิสเตอร์ไบรอัน พี เบเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้อำนวยการ บริษัท พิมโก้ เอเชีย จำกัด กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกนั้นจะค่อยเป็นค่อยไป และเราประเมินว่ายังมี 2 แรงต้านการเติบโตอยู่ ได้แก่ การที่ประเทศกำลังพัฒนาเรื่องการเติบโต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ไม่สามารถที่จะดึงให้เงินลงทุนอยู่ต่อได้

ส่วนประเทศพัฒนาแล้วยังมีปัญหาอยู่ด้วยเช่นกัน เช่นสหรัฐฯ ที่ยังมีปัญหาด้านการใช้จ่ายของประชาชน การลงทุนของเอกชน เนื่องจากยังไม่มั่นใจการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ประกอบกับนโยบายการควบคุมที่เข้มข้นเกินไป ขณะเดียวกัน สิ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขการว่างงานในสหรัฐฯ ที่ยังมีช่องว่างที่กว้างขึ้นจะส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตช้าลง และสิ่งที่น่ากังวลคือ ตัวเลขแรงงานที่เพิ่มขึ้นนั่นคือแรงงานชั่วคราว ซึ่งแรงงานเหล่านี้มีการใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากไม่มีความมั่นคงและไม่มีสวัสดิการ ส่งผลให้ภาพรวมการบริโภคในสหรัฐฯ น้อยลง

“ผมประเมินว่าการลด QE จะจบลงในเดือนตุลาคมนี้ การเติบโตของสหรัฐฯ จะเป็นในลักษณะการกดดอกเบี้ยให้ต่ำลง ขณะเดียวกันก็ต้องจับตานโยบายของประธานเฟดคนใหม่ที่จะดำเนินนโยบายการเงินแบบชี้นำว่าจะออกมาในลักษณะไหน และมีความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน” มิสเตอร์ไบรอันกล่าว

สำหรับกลุ่มประเทศยุโรปมีการพัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่ไม่ใช่ประเทศผู้นำในยุโรปนั้นตลาดแรงงานมีการเติบโตค่อนข้างสูง เนื่องจากมีการปรับปรุงเชิงโครงสร้างส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ดี แต่สิ่งที่ต้องดำเนินการโดยเร็วคือการผ่อนคลายมาตรการรัดเข็มขัดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

มิสเตอร์ไบรอัน กล่าวต่อว่า สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากนี้คือการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่าจะเป็นอย่างไร ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ของกลุ่มประเทศ EU ยังไม่มีความมั่นใจในการฟื้นตัว ส่งผลให้ธนาคารมีความระมัดระวังในการให้สินเชื่อ ส่วนอัตราเงินเฟ้อของประเทศพัฒนาแล้วก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากธนาคารกลางของแต่ละประเทศยังไม่มีมาตรการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกันก็ต้องติดตามประเมินว่ามาตรการของอาเบะโนมิกส์ประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน ที่ผ่านมาดูเหมือนจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการบริโภาคภายในประเทศ ส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนนั้นมีกำไรและมีการเติบโต แต่ปัญหาคือ การประกาศตัวเลข GDP ของ ไตรมาส 4 มีการเติบโตภายในประเทศแต่การส่งออกยังไม่มีการเติบโตเท่าที่ควร ส่งผลให้เราประเมินได้ว่าการลดค่าเงินเยนไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้ภาคส่งออกเติบโตขึ้่น

ทางด้านนายบัณฑิต นิจถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสมาคมตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมาตลาดประเทศพัฒนาแล้วเจอวิกฤตเศรษฐกิจ ส่งผลให้เงินทุนจำนวนมากไหลเข้ามาลงทุนภูมิภาคเอเชีย รวมถึงตลาดเกิดใหม่ เมื่อเศรษฐกิจตลาดประเทศพัฒนาแล้วเริ่มฟื้นตัวก็แน่นอนว่าเงินทุนที่เคยมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ก็เริ่มไหลออก ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่เริ่มเติบโตช้าลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวแบบเปราะบาง แม้ว่าเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่เศรษฐกิจในประเทศเกิดใหม่ยังชะลอตัวและอยู่ในช่วงขาลง ถ้าหากไม่ไปในทิศทางเดียวกันก็จะส่งผลให้การฟื้นตัวครั้งนี้เปราะบาง ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้มาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่สิ่งที่นักลงทุนหลายคนกังวลนั่นก็คือการฟื้นตัวของสหรัฐฯ นั้นยังมีความน่ากังวลอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะ การขยายเพดานหนี้ว่าจะมีการแก้ปัญหาอย่างไร ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจในฝั่งยุโรป และญี่ปุ่นเองแม้ว่าภาพรวมจะมีการเติบโตแต่ปัญหาในระยะยาวยังไม่ได้รับการแก้ไข ก็คงต้องรอความชัดเจนในการแก้ปํญหา

มองสิ้นปีดัชนี SET ที่ 1,420

สำหรับปัจจัยบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ได้แก่ เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวโดยเฉพาะจีดีพีสหรัฐฯ ส่วนเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะยังเติบโตต่อได้แม้ว่าจะต่ำกว่า 3% และส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ ขณะที่ราคาหุ้นไทยซื้อขายที่ P/E ปี 2557 ที่ 12.8 เท่า ต่ำสุดในรอบ 5 ปี และต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 14 เท่า ส่วนความเสี่ยงที่จะต้องจับตามอง นั่นก็คือ สุญญากาศการเมือง การชุมนุมที่ยืดเยื้อ และการลงทุนภาครัฐไม่เกิด รวมถึงการที่เอกชนพึ่งพาตนเอง นอกจากนี้ยังมีโอกาสปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน ขณะเดียวกันยังต้องติดตามและประเมินผลของกระแสเงินทุนไหลออก แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงต้องจับตาฐานะการคลังอ่อนแอลงจากโครงการนโยบายประชานิยม หนี้ภาคครัวเรือนในประเทศสูงขึ้นและจะกระทบการใช้จ่ายบุคคล ซึ่งอาจจะนำไปสู่การปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือได้


กำลังโหลดความคิดเห็น