คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดย วรวรรณ ธาราภูมิ
CEO กองทุนบัวหลวง
นักเศรษฐศาสตร์ นักวิเคราะห์ และผู้จัดการกองทุนไทยส่วนใหญ่มองกันว่าปีนี้เศรษฐกิจโลกจะดีขึ้น โดยในฝั่งผู้จัดการกองทุนหลายค่ายในช่วงหลังนี้มักแนะนำให้ไปลงทุนในต่างประเทศมากกว่าจะเชียร์ให้ลงทุนในไทย
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นก็น่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออกของไทย แต่ที่เขาแนะนำให้ไปลงทุนต่างประทศนั้นน่าจะเป็นเพราะขณะนี้ยังไม่มีใครคาดเดาได้ว่าการเมืองในประเทศจะมีทางลงเป็นอย่างไร ซึ่งการมองไม่ออกก็เป็นความเสี่ยงที่สูงไม่น้อย
เรื่องนี้ ดร.บัณฑิต นิจถาวร ชี้ว่า ....
“เศรษฐกิจโลกก็อาจฟื้นตัวไม่ได้ในระดับที่คาดหวัง เว้นแต่ปัจจัยพื้นฐานและนโยบายเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะชัดเจนและมีน้ำหนักมากพอ แต่ที่น่ากังวลก็คือเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market กำลังพร้อมใจกันเติบโตในอัตราที่ชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชีย ทั้งนี้ การชะลอตัวเป็นผลจากเงินต่างชาติไหลออกจากตลาดเกิดใหม่เพราะนโยบายลดปริมาณ QE ของสหรัฐฯ และเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่เริ่มสูงขึ้นจนอาจทำให้การขยายเศรษฐกิจต้องมีต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทำให้มีข้อจำกัดเรื่องภาระหนี้และปัญหาการคลังในอนาคต โดยในอดีตนั้นวิกฤตเศรษฐกิจมักเกิดแก่ประเทศตลาดเกิดใหม่เมื่ออัตราดอกเบี้ยโลกเปลี่ยนเป็นขาขึ้น เพราะดอกเบี้ยแพงๆ ทำให้เศรษฐกิจชะลอลง ลดความสามารถในการชำระหนี้ และเมื่อเงินไหลออกไปมากๆ ค่าเงินก็อ่อนลงอย่างรวดเร็ว”
หากการเมืองยังไม่คลี่คลายในทางที่ดีขึ้นภายในกลางปีนี้ ความเชื่อมั่นก็จะยิ่งลดลง ส่งผลให้ผู้คนใช้จ่ายน้อยลง และภาคธุรกิจก็จะไม่กล้าลงทุน การส่งออกก็จะได้รับผลกระทบจากคำสั่งซื้อที่ลดลง เพราะผู้ซื้อกลัวว่าเราจะส่งสินค้าให้เขาช้ากว่ากำหนด ทำให้เขาต้องไปสั่งซื้อสินค้าจากประเทศอื่นเพื่อปิดความเสี่ยงจากการเมืองไทย นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยภาครัฐก็จะทำได้ยากหากยังปฏิรูปเพื่อกำจัดคอร์รัปชันไม่เสร็จ ซึ่งค่ายกองทุนบัวหลวงมีความเห็นว่า “การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ GDP น่าจะต่ำกว่า 3% โดยในครึ่งปีแรกจะหนักเอาการอยู่ แล้วไปขยับได้ดีขึ้นบ้างในครึ่งปีหลัง ภายใต้สมมติฐานว่าการเมืองจะคลี่คลายและดีขึ้นในครึ่งหลังของปี ซึ่ง ณ วันนี้ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มาก”
แล้วจะทำอย่างไรกับเงินของเรา ในท่ามกลางความเสี่ยงสูงของประเทศ?
เราไม่จำเป็นต้องขนเงินไปลงทุนต่างประเทศมากๆ หรอก ออกไปบ้าง แต่ไม่จำเป็นต้องทุ่มเท เพราะ Base หลักของเราอยู่เมืองไทย และอย่าลืมว่าเรากำลังจะเข้าไปซื้อหลักทรัพย์ในต่างประเทศตอนราคาสูงไปหรือไม่ แบบแมลงเม่าเข้า New High เรื่องอย่างนี้จึงจะต้องพิจารณาเป็นรายตัวหรือรายกองทุน
ส่วนเรื่องการลงทุนซื้อของถูกที่มีโอกาสในท่ามกลางวิกฤตนั้นได้เคยเขียนมามากแล้ว วันนี้จะขอนำคำพูดของกูรูมาเผยแพร่เพิ่มเติม
ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร Value Investor ที่ประสบความสำเร็จสูงในตลาดหุ้นไทย บอกว่า
“เรามีเหตุการณ์ทางการเมืองที่เลวร้ายบ่อยเหลือเกิน ซึ่งทำให้หุ้นมีความผันผวนเป็นระยะๆ ตลอดมา แต่โชคดีที่ว่าหลังเหตุการณ์รุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาทุกครั้ง การเมืองไทยก็กลับมาสู่ระบบที่มีเสถียรภาพทางสังคมและระบบเศรษฐกิจก็ค่อนข้างจะเอื้ออำนวยกับธุรกิจเอกชนและตลาดเสรี ซึ่งทำให้หุ้นไทยหรือดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวไปตามพื้นฐานของหุ้นตามปกติ ผลก็คือความผันผวนในระยะสั้นที่เกิดจากความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมาก็มักจะกลายเป็นโอกาสของคนที่กล้าและเข้าใจเรื่องของการเมืองในประเทศไทยและเป็นนักลงทุนระยะยาว”
และเพื่อให้ทันสมัยสมกับโลกาภิวัตน์ ก็ต้องมี Guru Quote จากต่างประเทศ อันจะเป็นใครไปเสียมิได้ นอกจาก คุณลุงบัฟเฟตต์ สุดยอดนักลงทุนระดับโลก ที่กล่าวว่า ...
“ผมไม่เคยพยายามทำเงินจากตลาดหุ้น ผมซื้อหุ้นโดยใช้สมมติฐานว่าตลาดหุ้นจะปิดในวันรุ่งขึ้นและไม่เปิดทำการเป็นเวลา 5 ปี”
ที่คุณลุงพูดอย่างนี้ก็เพราะคุณลุงไม่เคยคาดหวังที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้นโดยการซื้อขายหุ้นรายวันแบบนักเก็งกำไรระยะสั้น แต่มุ่งไปที่กำไรของกิจการที่คุณลุงลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในระยะยาว
คุณลุงมองว่าความผันผวนระยะสั้นของตลาดหุ้นไม่สำคัญเท่ากับพื้นฐานระยะยาวของกิจการที่จะเข้าไปลงทุน ตราบใดที่กิจการนั้นยังมีความมั่นคง แข็งแกร่ง และสามารถทำกำไรได้ดีอย่างต่อเนื่องยาวนาน
คุณลุงบัฟเฟตต์จะไม่กังวลกับสภาวะของตลาดหุ้นไม่ว่าจะเปิดหรือปิดทำการก็ตาม เพราะเป้าหมายของนักลงทุนก็คือ ควรจะจ่ายเงินในราคาที่สมเหตุสมผลเพื่อซื้อส่วนหนึ่งของธุรกิจที่เข้าใจง่าย และมีแนวโน้มที่จะทำกำไรสูงขึ้นอย่างมั่นคงใน 5 ปี 10 ปี หรือ 20 ปีต่อจากนี้ โดยเราอาจจะพบว่ามีเพียงไม่กี่บริษัทที่มีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์ดังกล่าว ดังนั้น เมื่อใดที่พบก็ควรเข้าซื้อหุ้นของบริษัทนั้นในจำนวนที่มีนัยสำคัญ นอกจากนี้ เราจะต้องอดทนต่อสิ่งยั่วยุต่างๆ ที่จะทำให้เราออกไปจากหลักการที่ใช้อยู่
“ถ้าคุณไม่เต็มใจที่จะถือหุ้นได้นานถึง 10 ปี ก็อย่าคิดที่จะถือไว้แม้เพียงแค่ 10 นาที”