คอลัมน์บัวหลวง Money Tips
โดยกองทุนบัวหลวง
ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยดัชนี ISM Manufacturing ของเดือน ธ.ค. 56 ยังยืนในระดับสูงที่ 57.0 จุด ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี แม้ว่าการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ธ.ค. 56 จะลดลงเหลือ 7.4 หมื่นราย แต่น่าจะเป็นการชะลอลงชั่วคราวจากปัจจัยทางฤดูกาล ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดี จึงมีโอกาสสูงขึ้นที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทยอยปรับลดวงเงิน QE ลงต่อเนื่องในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มยูโรโซนยังคงฟื้นตัวอย่างช้าๆ โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Managers Index) ของกลุ่มยูโรโซนในเดือน ธ.ค. 56 อยู่ที่ 52.7 จุด ส่งสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องตลอด 6 เดือนที่ผ่านมาทั้งในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่และเล็ก และอัตราว่างงานก็เริ่มลดลงเล็กน้อยไปอยู่ที่ 12.1% ด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน่าจะช่วยให้เศรษฐกิจกลุ่มยูโรโซนมีการขยายตัวที่ดีขึ้นในปี 2557
เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีสัญญาณที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งมีการลงทุนของภาครัฐเป็นแรงกระตุ้นหลักของเศรษฐกิจ สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Nomura/JMMA Manufacturing PMI) ของเดือน พ.ย. 56 ที่ยังเพิ่มขึ้น 5 เดือนติดต่อกัน บ่งชี้ถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านธนาคารกลางญี่ปุ่นก็ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นทยอยฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
อย่างไรก็ดี ภายใต้เศรษฐกิจโลกที่ดูจะดีขึ้นของประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้วดังกล่าว ก็ยังมีจุดอ่อนและความไม่แน่นอนอีกหลายจุดที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกไม่เข้มแข็งอย่างที่คาดจากปัญหาโครงสร้างที่ยังไม่ได้แก้ไข นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ก็กำลังชะลอพร้อมๆ กันด้วย ไม่ว่าจะเป็นประเทศหลักอย่างเช่น จีน อินเดีย บราซิล รัสเซีย หรืออย่างอินโดนีเซีย และไทย เป็นต้น
โดยที่การชะลอตัวนั้นเป็นผลจากการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศเนื่องจากสหรัฐฯ ลดปริมาณ QE ลง และจากอัตราดอกเบี้ยระยะยาวที่เริ่มสูงขึ้นจนอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เพราะดอกเบี้ยสูงๆ ทำให้เกิดความกังวลเรื่องภาระหนี้และปัญหาการคลังที่อาจเกิดขึ้นตามมา
สิ่งเหล่านี้อาจส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่ชะลอตัวได้ยาวนาน จนทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกมีข้อจำกัด เนื่องจากการค้าและการลงทุนในโลกล้วนเชื่อมต่อกันเกือบจะทั้งโลก
ภาวะเศรษฐกิจไทย
ตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ย. 56 อ่อนแอลงจากเดือนก่อนหน้าจากการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่ชะลอตัวลง โดยดัชนีการบริโภคภาคเอกชนหดลง 1.2% q-q และ 2.4% y-y และถึงจะไม่รวมผลกระทบของภาคยานยนต์ ส่วนอื่นของตัวชี้วัดการบริโภคก็มีการหดตัวลงด้วยเมื่อเทียบกับปีก่อน การลงทุนภาคเอกชนก็ยังชะลอลงต่อเนื่อง โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนในเดือน พ.ย.หดตัวในอัตราสูงขึ้นที่ 7.8% y-y เนื่องจากผลของภาวะเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ผู้ประกอบการชะลอการตัดสินใจลงทุนออกไป
ด้านการส่งออกหดตัวลง 4% y-y เนื่องจากผลของฐานเดิมที่สูง แต่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรากฏว่าฟื้นตัวเล็กน้อย ส่วนภาคการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่งมาตลอดปีก็กลับชะลอตัวลงจากผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีนตั้งแต่เดือน ต.ค. 56 และเรื่องปัญหาทางการเมืองในประเทศที่เกิดขึ้นมาเกือบ 3 เดือนแล้ว โดยล่าสุดรัฐบาลรักษาการได้ประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ทำให้กระทบต่อการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว
ตัวเลขเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มที่อ่อนแอทั้งด้านภาคบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้ สศค.ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2557 ลง โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ 4.0% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้เป็น 5.1% เนื่องจากการเบิกจ่ายเม็ดเงินลงทุนของภาครัฐจะล่าช้ากว่าที่คาด
และถ้าหากปัญหาทางการเมืองยังยืดเยื้อยาวนานออกไปอีกก็เป็นได้ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายได้ต่ำกว่า 3% ซึ่งการฟื้นตัวน่าจะชัดเจนขึ้นในครึ่งปีหลัง ขึ้นอยู่กับความคลี่คลายลงของสถานการณ์การเมือง
ทั้งนี้ สศค.คาดว่าภาคการส่งออกจะเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะฟื้นตัวและขยายได้ 6.5% แต่แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหลักอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น จะมีสัญญาณฟื้นตัว
แต่เศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่กลับมีอัตราการเติบโตที่ชะลอลง ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่ม BRIC (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน) รวมไปถึงประเทศอื่นๆ ในเอเชียและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย จึงต้องติดตามความเสี่ยงของเศรษฐกิจในประเทศเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด