หุ้นปิดครึ่งวันเช้าดิ่งลง 25 จุด หรือเกือบ 2% หนักกว่าตลาดในต่างประเทศ ชี้นักลงทุนกังวลผลกระทบทางการเมืองที่รุนแรงขึ้น ถึงขั้นเอาชีวิตแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้ไม้แข็งในการขอคืนพื้นที่ชุมนุมฯ ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงให้สถานการณ์ความขัดแย้ง พร้อมระบุ 3 ปมร้อน ที่อาจก่อให้เกิด “จุดเปลี่ยน” ทางการเมือง และเป็นจุดพลิกผันของตลาดหุ้น
ภาวะตลาดหุ้นไทยวันนี้ (27 ม.ค.) ดัชนีภาคเช้าปรับลงแรง และแกว่งผันผวนในแดนลบ โดยเมื่อเวลา 12.13 น. ดัชนีปรับลงไปที่ระดับ 1,288.91 จุด ลดลง 25.72 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.96% มูลค่าการซื้อขาย 13,252.94 ล้านบาท โดยภาพรวมเช้านี้ตลาดหุ้นไทยร่วงหนักกว่า 2% หนักกว่าตลาดในต่างประเทศ เนื่องจากนักลงทุนกังวลผลกระทบทางการเมืองที่รุนแรง ถึงขั้นเอาชีวิตแกนนำกลุ่มต่อต้านรัฐบาล ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลก็ใช้ไม้แข็งในการขอคืนพื้นที่ชุมนุมฯ ยิ่งเพิ่มความร้อนแรงให้สถานการณ์ความขัดแย้ง
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ธนชาต จำกัด (มหาชน) กล่าวยอมรับว่า ตัวแปรที่กำลังบ่งชี้ทิศหุ้นไทย คือ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองยังยืดเยื้อ และมีความไม่แน่นอนสูง หลังตลาดหุ้นปิดทำการในวันศุกร์ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า สามารถเลื่อนการเลือกตั้งได้ โดยเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีนัดหารือกันในวันที่ 28 ม.ค.นี้
อย่างไรก็ดี กกต. มองว่าหากจัดการเลือกตั้ง 2 ก.พ.ต่อไป เสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง และไม่สามารถเปิดสภาได้ตามรัฐธรรมนูญ แถมยังสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป สวนทางกับท่าทีของรัฐบาลที่ต้องการให้เลือกตั้งตามกำหนดเดิม หรือเลื่อนไม่เกินวันที่ 6 ก.พ.นี้
ขณะที่คำวินิจฉัยขององค์กรอิสระต่างๆ เช่น ประเด็นการแก้ไขที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) การทำสนธิสัญญาฯ มาตรา 190, จำนำข้าวฯ
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยอาจโดนแรงขายหากนักลงทุนลดความเสี่ยงด้วยการขายหุ้นในตลาดเกิดใหม่ โดยเฉพาะของกลุ่มละตินอเมริกา ตุรกี อินโดนีเซีย และอินเดีย 3 ประเทศหลังมีปัญหาขาดดุลแฝดอยู่แล้วคือ ขาดดุลงบประมาณ และขาดดุลบัญชีเดินสะพัด
นอกจากนี้ สัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีขึ้นต่อเนื่องในภาพรวม ตอกย้ำการคาดการณ์ว่าเฟดจะลดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดทอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ (คิวอี) ในการประชุมกลางสัปดาห์นี้ และจะทยอยลดต่อเนื่องในการประชุมทุกครั้ง ครั้งละ 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หมายความว่า เฟดจะหยุดมาตรการคิวอีก่อนสิ้นปีนี้
ด้านนักวิเคราะห์ บล.ไอร่า จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวลงตามตลาดในต่างประเทศ จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยุโรป และจีน หลัง PMI การผลิตล่าสุดออกมาชะลอตัว ประกอบกับความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จากค่าเงินที่อ่อนค่า
ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะการชุมนุมยังมีต่อเนื่อง และมีความรุนแรงมากขึ้นยังคงต้องติดตาม โดยเฉพาะประเด็นการเลื่อนการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผ่านมาไม่สามารถเปิดการเลือกตั้งได้ในหลายเขต ส่งผลให้ประเด็นการเมืองยังคงกดดันตลาดหุ้นต่อไป
นอกจากนี้ ยังมีแผนการยกระดับการชุมนุมต่อเนื่อง หลังดำเนินการปิดกรุงเทพฯ มา 2 สัปดาห์ และผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะใน 1H/57 ซึ่งล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการปรับลดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ในปี 2556 และปี 2557 ลงจากเดิมร้อยละ 3 และร้อยละ 4 เป็นต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ในปี 2556 และร้อยละ 3.0 ในปี 2557 ตามลำดับ
ด้านการไหลออกของเงินทุนต่างชาติ พบว่า นักลงทุนขายสุทธิเล็กน้อย 160 ล้านบาท โดยขณะนี้เข้าสู่ช่วงรายงานผลประกอบการ 4Q/2556 ที่คาดมีแรงเก็งกำไรตามการคาดการณ์ผลประกอบการ รวมถึงต้องติดตามทิศทางค่าเงินบาทที่มีต่อกลุ่มส่งออก
ล่าสุด ดัชนีปิดตลาดครึ่งวันเช้าที่ระดับ 1,288.83 จุด ลดลง 25.80 จุด หรือเปลี่ยนแปลง -1.96% มูลค่าการซื้อขาย 14,358.74 ล้านบาท โดยระหว่างชั่วโมงการซื้อขายดัชนีปรับลงไปลึกกว่า 27 จุด หรือกว่า 2% โดยภาพรวมดัชนีแกว่งผันผวนในแดนลบตลอดช่วงเช้า