บลจ.วรรณวางเป้าการเติบโต 10% ปีหน้า รุกกองทุนอสังหาฯ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงกองหุ้นต่างประเทศ แนะจัดพอร์ตลงทุน กระจายไปประเทศพัฒนาแล้ว ขณะที่หุ้นไทยยังรับปัจจัยลบ มองดัชนีปี 2557 ที่ 1,515-1,680 จุด
นายวิน อุดมรัชตวนิชย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) วรรณ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายมูลค่าสินทรัพย์รวม (AUM) ปี 2557 โตประมาณ 10% คิดเป็น 84,000 ล้านบาท โดยบริษัทวางแผนขยายกองทุนรวม กองทุนอสังหาริมทรัพย์ และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมขยายการลงทุนไปยังตลาดทุนต่างประเทศ ทั้งตลาดทุนสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน และยุโรปมากขึ้น เนื่องจากตลาดทุนดังกล่าวสร้างผลตอบแทนดีกว่าการลงทุนภายในประเทศ ดังนั้น AUM ปี 2557 เชื่อว่าเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ขณะที่อุตสาหกรรมปีหน้าโตเพียง 5%
โดย AUM บริษัทปัจจุบันอยู่ที่ 77,000 ล้านบาท โตประมาณ 7% แบ่งสัดส่วนเป็น กองทุนรวม 48,000 ล้านบาท กองทุนส่วนบุคคล 20,000 ล้านบาท กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 32,000 ล้านบาท กองทุนอสังหาริมทรัพย์ 18,000 ล้านบาท
“ผลงานช่วงปีที่ผ่านมากองทุนหุ้นเติบโตสูงสุดถึง 15-20% ขณะที่กองทุนตราสารหนี้มีการปรับลดลงค่อนข้างมากอยู่ที่ 10-12% ตามการแข่งขันแย่งฐานลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ กองทุนต่างประเทศอยู่ที่ 10-15% ส่วนกองทุนอสังหาริมทรัพย์โต 10%”
นายวินกล่าวว่า สำหรับภาวะการลงทุนหุ้นไทยช่วงเดือนที่เหลือของปีนี้ยังคงมีความผันผวนตามปัจจัยลบเข้ามากระทบ คาดดัชนีรอบนี้เคลื่อนที่ระดับ 1,350-1,450 จุด และมีโอกาสแตะที่ระดับ 1,500 จุดได้เช่นกัน พร้อมทั้งแนะนำนักลงทุนว่าควรหาจังหวะเข้าลงทุนในหลักทรัพย์เพิ่มหากดัชนีมีการปรับตัวลงมาต่ำกว่า 1,400 จุด
สำหรับภาวะการลงทุนช่วงปี 2557 เชื่อว่าดัชนีมีโอกาสแตะที่ระดับ 1,515-1,680 จุด ภายใต้กรอบ P/E ที่ 14.00-15.52 เท่า โดยมีค่ากลางที่ 1,595 จุด โดยภาวะการลงทุนยังคงเป็นในลักษณะผันผวนต่อเนื่องจากช่วงปี 2556 คาดว่าครึ่งปีแรกของปี 57 จะมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาตลาดหุ้นไทยประมาณ 20,000-30,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมของตลาดหุ้นไทยในปี 57 มีความน่าสนใจน้อยลง ทำให้เงินทุนนอกไหลเข้าตลาดหุ้นไทยปีหน้าน้อยมาก เนื่องจากอัตราการขยายตัวของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) มีโอกาสปรับลดลงจาก 17.4% ในปี 2556 มาที่ 16.0% ในปี 2557 คาดว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงมีความน่าสนใจ ได้แก่ กลุ่มที่อยู่อาศัย การบริโภคภายในประเทศ กลุ่มที่สอดคล้องกับการฟื้นตัวตามเศรษฐกิจประเทศพัฒนา และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จาก AEC เช่นหุ้นกลุ่มธนาคาร สื่อสาร และผลิตไฟฟ้า
“พอร์ตลงทุนปีหน้าควรกระจายการลงทุนออกไปยังสินทรัพย์ต่างประเทศเป็นหลักประมาณ 60% ของพอร์ตลงทุน โดยเน้นไปในประเทศหลักที่เศรษฐกิจมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งน้ำหนักการทุนไปยังสินทรัพย์เสี่ยงในสหรัฐฯ 10-15% ญี่ปุ่น 10-15% จีน 10% ยุโรป 5-15% และลงทุนในสินทรัพย์ประเภทกองทุนอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ในประเทศสิงคโปร์ 10% เนื่องจากการที่ซัปพลายของอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์นั้นมีปริมาณจำกัดจะทำให้ระดับราคาในอนาคตเพิ่มขึ้นมากตามดีมานด์ที่เกิดขึ้น”